PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์"เฉียบ!งัดมาตรา44ให้อำนาจทหารปราบมาเฟีย

"ประยุทธ์"เฉียบ!งัดมาตรา44ให้อำนาจทหารปราบมาเฟีย
Wednesday, March 30, 2016 - 12:21

"บิ๊กตู่"ใช้มาตรา44แต่งตั้งทหารปราบปรามผู้อิทธิพลที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัวจับบกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้และเข้าไปในเคหสถานโดยไม่ต้องรอหมายค้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๓/๒๕๕๙ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ด้วยปรากฏว่าได้มีบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดอาญาบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการข่มเหง ขู่เข็ญรังแก หรือแสดงตน อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืน หรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตน นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีบุคคลที่ดำรงชีพด้วยการกระทำผิดกฎหมายเช่น ค้ายาเสพติด เป็นเจ้ามือพนัน มีพฤติการณ์ซ่องสุมอาวุธ เพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์ต่าง ๆที่มิชอบด้วยกฎหมาย การที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีจึงมีความยุ่งยาก ซับซ้อน หรืออาจเกิดความเสี่ยงภัยต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องกำหนดกระบวนการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นพิเศษ เพื่อเป็นมาตรการเสริมกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา รวมทั้งคุ้มครองความสงบเรียบร้อย และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดจนเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้แก่สุจริตชน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในคำสั่งนี้

“เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้

“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา และให้หมายความรวมถึง ทหารประจำการ ทหารกองประจำการและอาสาสมัครทหารพราน ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ข้อ ๒ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำ
อันเป็นความผิดตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายคำสั่งนี้

บุคคลซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดตามวรรคหนึ่งซึ่งจะอยู่ในบังคับตามคำสั่งนี้ ต้องเป็นผู้มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้

(๑) กระทำความผิดโดยการข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น

(๒) แสดงตนให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืนหรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการเพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตน

(๓) ดำรงชีพด้วยการกระทำผิดกฎหมายการกระทำตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุนการกระทำใด ๆที่เป็นการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ ๓ ในการดำเนินการตามข้อ ๒ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามหรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อ ๒

(๒) จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป

(๓) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ ๒ โดยในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(๔) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิด ตามข้อ ๒ หลบซ่อนอยู่หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามข้อ ๒ หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(๕) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (๔)

(๖) กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมายข้อ ๔ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดตามข้อ ๒ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามมีอำนาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามข้อ ๒ และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่น
ที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้
เมื่อมีเหตุอันจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหาให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๕ ในกรณีที่บุคคลใดถูกควบคุมตัวตามข้อ ๔ วรรคหนึ่ง เนื่องจากการกระทำความผิดตามข้อ ๒ เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามอาจปล่อยตัวไปโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่ง หมายถึง การกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๓๙ (๒) ถึง (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงินผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๖ ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ตามที่เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามสั่งการหรือมอบหมาย

ข้อ ๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามและผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาข้อ ๘ การกระทำตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ข้อ ๙ เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามและผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. ๒๕๔๘ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ข้อ ๑๐ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

บัญชีความผิดท้ายคำสั่ง
๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้
(๑) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
(๒) ความผิดเกี่ยวกับเพศเฉพาะที่มีลักษณะเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไป
เพื่ออนาจาร หรือเพื่อการค้าประเวณี หรือการดำรงชีพจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี
(๓) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารราชการ
(๔) ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง
(๕) ความผิดเกี่ยวกับกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์
(๖) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน
๒. ความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๓
๓. ความผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. ๒๕๕๘
๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑
๕. ความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ เฉพาะที่มีลักษณะเป็นบ่อน
การพนัน โต๊ะพนันบอล หวยใต้ดิน จับยี่กี ตู้เกมส์ไฟฟ้า
๖. ความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒
๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖
๘. ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
๙. ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘
๑๐. ความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๔ และมาตรา ๖๑
๑๑. ความผิดตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑
๑๒. ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔
๑๓. ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
๑๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙
๑๕. ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑
๑๖. ความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗
๑๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ เฉพาะที่มีลักษณะเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
๑๘. ความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ เฉพาะที่มีลักษณะเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และมีไว้เพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษที่มีจำนวนปริมาณเกินที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
๑๙. ความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๓/๑
๒๐. ความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕
๒๑. ความผิดตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕
๒๒. ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. ๒๕๔๒
๒๓. ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙
๒๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙
๒๕. ความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕
๒๖. ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง
และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐
๒๗. ความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
ข้อ ๕ (๗) และข้อ ๖

ไม่มีความคิดเห็น: