PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เปิดประวัติ 11 องคมนตรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

เปิดแฟ้มประวัติ 11 องคมนตรีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ‘เปรม-สุรยุทธ์-เกษม-พลากร-อรรถนิติ-ศุภชัย-ชาญชัย-ชลิต-ดาว์พงษ์-ธีรชัย-ไพบูลย์’
PIC aongkamontree 6 12 59 1
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีจำนวน 10 ราย ดังต่อไปนี้
1.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น องคมนตรี
2.นายเกษม วัฒนชัย เป็น องคมนตรี
3.นายพลากร สุวรรณรัฐ เป็น องคมนตรี
4.นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ เป็น องคมนตรี 
5.นายศุภชัย ภู่งาม เป็น องคมนตรี
6.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ เป็น องคมนตรี
7.พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เป็น องคมนตรี
8.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็น องคมนตรี
9.พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็น องคมนตรี
10.พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็น องคมนตรี 
ทั้งนี้ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี มาก่อนหน้านี้แล้ว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมประวัติขององคมนตรีทั้งหมดซึ่งเป็นคนเก่าที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง 8 คน และเป็นองคมนตรีใหม่ 3 คนมาให้ทราบ ดังนี้ 
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี (96 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 รัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมาหลายตำแหน่ง บุคลิกส่วนตัวเป็นคนพูดน้อย จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า “เตมีย์ใบ้”
ในช่วงเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย “พล.อ.เปรม” ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ จนรอดพ้นการก่อกบฏของทหาร “กลุ่มยังเติร์ก”
ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีผลงานสำคัญคือการผลักดันนโยบายการเมืองนำการทหาร ที่รู้จักกันในนามคำสั่ง 66/23 เพื่อยุติการทำสงครามสู้รบ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับฝ่ายรัฐบาล
“พล.อ.เปรม” ยังอยู่เป็นหลักให้กับนายทหารรุ่นหลัง ๆ ในกองทัพมาอย่างยาวนาน คอยให้กำลังใจแม่ทัพนายกองเมื่อต้องทำงานใหญ่ อย่างเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ “พล.อ.เปรม” เคยขอให้เข้มแข็งเมื่อต้องทำงานใหญ่
ที่สำคัญ "พล.อ.เปรม"รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาตลอด จนได้รับความไว้พระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นองคมนตรี หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี ตามลำดับ
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (73 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2486 ได้ชื่อเป็นลูกรักของ “ป๋าเปรม” ขณะดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพมาโดยตลอด ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ก็อด อาร์มี่ บุกยึดสถานทูตพม่า เมื่อปี 2542 และโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อปี 2543 และสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้โดยไม่มีคนไทยเสียชีวิต 
ขณะที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี 2546 เกิดกรณีมีข่าว “สุวนันท์ คงยิ่ง” ดารานักแสดง พูดกล่าวหาว่ากัมพูชาขโมยนครวัดไปจากไทย จนทำให้เกิดเหตุจลาจลที่สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ โดย “พล.อ.สุรยุทธ์” เป็นผู้เสนอให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำเครื่องบินซี 130 ไปรับคนไทยในกรุงพนมเปญกลับมายังประเทศไทยทั้งหมด จนทุกคนได้รับความปลอดภัย
“พล.อ.สุรยุทธ์” ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2546 และลาออกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2549 เพื่อไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
นพ.เกษม วัฒนชัย (75 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2484 เคยดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี มีบทบาทดูแลงานด้านการศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหลัก 
พลากร สุวรรณรัฐ (68 ปี)
เกิดเมื่อปี 2491 อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ภายหลังโดนปลดออกจากตำแหน่ง ฝ่ายกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และบทบาทในฐานะองคมนตรีช่วยงานด้านโครงการพระราชดำริ ทั้งการพัฒนาโครงการและการเผยแพร่
อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (72 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2487 อดีตประธานศาลฎีกา ประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน มีบทบาทช่วยงานกลั่นกรองด้านกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้เป็นผู้พิพากษามาอย่างยาวนาน กระทั่งเกษียณอายุราชการ ได้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ นายอรรถนิติ ได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์หลายลำดับชั้น รวม 10 ลำดับ โดยก่อนเกษียณราชการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2547 นอกจากนั้น ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 นายอรรถนิติได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550
ศุภชัย ภู่งาม (71 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2488 อดีตประธานศาลฎีกา และเป็นผู้นำคณะผู้พิพากษาเข้ารับพระราชกระแสรับสั่งให้ตุลาการศาล ยุติธรรมช่วยแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองในช่วงกลางปี เมื่อปี 2548 ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี
ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (70 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2489 อดีตประธานศาลฎีกา มีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตการเมืองช่วงต้นปี 2549 หลังจากที่เกษียณอายุราชแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลแพ่งธนบุรี แต่ทำงานได้เพียง 2 วันจึงได้ลาออกจากตำแหน่ง
ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย เมื่อปี 2549 เคยถูกทาบทามจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 
หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ชาญชัยยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อขอกลับรับราชการเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีจนถึงปัจจุบัน บทบาทในฐานะองคมนตรีคอยกลั่นกรองงานด้านกฎหมาย โดยเฉพาะการพระราชทานอภัยโทษ
พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก (68 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2491 จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 มีบทบาทสำคัญการรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อปี 2549 เป็นรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ต่อมา ในปี 2550 เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ลาออกจาก คมช. ไปดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี “พล.อ.อ.ชลิต” จึงได้รับตำแหน่งรักษาการประธาน คมช. 
และภายหลังหลังเกษียณแล้ว พล.อ.อ.ชลิต ได้เข้าไปทำงานในมูลนิธิรักษ์เมืองไทย และมูลนิธิรัฐบุรุษ จนกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2554 
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (63 ปี) 
เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2496 “พล.อ.ดาว์พงษ์” เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นทหารสาย ‘วงศ์เทวัญ’ ขนานแท้ เริ่มต้นชีวิตราชการทหารครั้งแรกกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร. 11 รอ.) จนกระทั่งได้เป็นถึงผู้บังคับการกรม ในปี 2530 ได้เป็นราชองครักษ์เวร ได้เป็นฐานะผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมกำลังรบหลักของกรุงเทพมหานคร 
ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาค 1 ต่อมาเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และได้เลื่อนขึ้นมาเป็นรองเสนาธิการทหารบก หลังจากนั้นในช่วงการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 “พล.อ.ดาว์พงษ์” ในฐานะเสนาธิการทหารบก ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่บัญชาเหตุการณ์ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อด้วย รมว.ศึกษาธิการตามลำดับ กระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (61 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2498 เป็นทหารสายวงศ์เทวัญเลือดแท้อีกคน ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ อาทิ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1 อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และอดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
“พล.อ.ไพบูลย์” ถือเป็นลูกรัก “ป๋าเปรม” อีกคนหนึ่งจนมีกระแสข่าวว่าขณะที่ขับเคี่ยวขึ้นเป็น “ผบ.ทบ.” แข่งกับ “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” ทหารเสือราชินี “บิ๊กต๊อก” ถึงขั้นต้องเข้าพบ “ป๋าเปรม” เพื่อขอนั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. มาแล้ว แต่ก็ต้องยอมถอยให้ พล.อ.อุดมเดช นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. ไป
และถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการถอดยศ “พ.ต.ท.” ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยจัดการประชุมตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนมีความเห็นว่า สตช. สามารถที่จะถอดยศได้ ก่อนส่งเรื่องให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ใช้อำนาจม. 44 ดำเนินการ
ทั้งนี้ “พล.อ.ดาว์พงษ์” และ “พล.อ.ไพบูลย์” ถือว่ามีความสนิทสนมกันมาก เพราะโตมาจากทหารสายวงศ์เทวัญเหมือนกัน และไม่ว่าจะประชุมนัดสำคัญระดับชาติครั้งไหน ทั้งสองคนต้องนั่งใกล้กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อที่ประชุมเกือบทุกครั้ง
พล.อ.ไพบูลย์ ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559
พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (61 ปี)
เกิดเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2498 เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ถือเป็นน้องรักของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค กระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: