PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เปิดประวัติ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรีใน พระเจ้าอยู่หัว ร.๑๐ มือปราบพวกหมิ่นสถาบันฯและผู้ชงเรื่องถอดยศ ทักษิณ ชินวัตร

วันที่ 6 ธ.ค.59  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์  บดินทรเทพยวรางกูร   มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า  โดยที่คณะองคมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีและมีพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรี จำนวน 10 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในครั้งนี้ด้วย

สำหรับพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เกิดเมื่อวันที่  21 มิถุนายน พ.ศ. 2498  ปัจจุบันอายุ  ปี เป็นชาวอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายลออ คุ้มฉายา กับนางจันทร์ คุ้มฉายา สมรสกับนางพจนี คุ้มฉายา จบการศึกษาระดับมัธยมจาก โรงเรียนอู่ทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ และจบจาก โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 15 (ตท.15) และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 26 (จปร.26) รุ่นเดียวกับพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
สำหรับประวัติ พล.อ.ไพบูลย์ นั้นเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ,ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ , แม่ทัพภาคที่ 1 , ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด , หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2558
และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์พิเศษวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบันอีกด้วย

เมื่อครั้งพล.อ.ไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับภารกิจสำคัญในการติดตามบุคคลที่กระทำความผิดฐานจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ พบเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการทำงานทั้งการติดต่อประสานผ่านช่องทางระหว่างประเทศ ,ผ่านตำรวจนานาชาติ เพื่อทำความเข้าใจกฎหมายของไทยในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และการดำเนินการประสานงานผู้ให้บริการโซเชียลออนไลน์ ในการขอความร่วมมือปิดกั้นและยับยั้งการกระทำความผิด
ส่วนคดีสำคัญอย่างการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายของคดี พระธัมมชโย ที่เป็นผู้ต้องหาในความผิดร่วมฟอกเงินและรับของโจรซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการกดดันบังคับใช้กฎหมาย
การเป็นประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามดำเนินการเอาผิดกับข้าราชการ ที่กระทำทุจริตคอรั่ปชั่น จนส่งรายชื่อข้าราชการ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการเอาผิดกับบุคคลที่กระทำทุจริตคอรัปชั่นนั้นแล้ว
นอกจากพล.อ.ไพบูลย์ ยังดำเนินการในการถอดยศ พ.ต.ท. ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย โดยจัดการประชุมตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายมีความเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถที่จะถอดยศ พ.ต.ท. ของนายทักษิณ ชินวัตร ได้จึงมีมติส่งเรื่องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการถอดยศของนายทักษิณอีกด้วย
เรียบเรียง  อุดร แสงอรุณ สำนักข่าวทีนิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: