PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

องคมนตรีปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๑๐ ดาวพงษ์ -ธีรชัย-ไพบูลย์

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งองคมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ ประกอบกับมาตรา๑๒ มาตรา๑๓  และมาตรา๑๖ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งดังต่อไปนี้
๑. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นองคมนตรี
๒.นายเกษม วัฒนชัย เป็นองคมนตรี
๓.นายพลาพร สุวรรณรัฐ เป็นองคมนตรี
๔.นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ เป็นองคมนตรี
๕.นายศุภชัย ภู่งาม เป็นองคมนตรี
๖. นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ เป็นองคมนตรี
๗.พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข เป็นองคมนตรี
๘.พลเอกดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นองคมนตรี
๙.พลเอกธีรชัย นาควานิช เป็นองคมนตรี
๑๐.พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นองคมนตรี

ภายหลังการประกาศก็มีคำถามตามมาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะรายชื่อองคมนตรี 3 ท่านได้แก่ พลเอกดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ พลเอกธีรชัย นาควานิช และพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ว่าทั้ง3ท่านมีความเหมาสมอย่างไร ซึ่งวันนี้ได้รวบรวมประวัติทั้ง3 มาให้ได้อ่านกัน
 


เริ่มกันที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (บิ๊กต๊อก) เกิดวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2498 ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอู่ทอง พ.ศ.2515 จากนั้นเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 (ตท.15) ขณะศึกษาอยู่ มีผลการศึกษายอดเยี่ยม เมื่อจบนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2517 ซึ่งสามารถไปศึกษาแพทย์ได้ และเหตุการณ์บ้านเมืองปี 2516 จึงไม่เลือกไปศึกษา
จากนั้นได้เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ รุ่นที่ 26 (จปร.26) ขณะศึกษาอยู่ เป็นนักเรียนนายร้อยเรียนดีเหรียญทอง และเป็นนักเรียนผู้บังคับบัญชา จบ จปร. เมื่อ พ.ศ.2522 ด้วยผลการศึกษาเป็นที่ 1 ของรุ่น ศึกษาต่อปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับราชการตำแหน่งหลักของกองทัพบก ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม ทั้ง 3 กรม (คนเดียวของกองทัพบก) ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ แม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนขึ้นสู่ผู้ช่วย ผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผบ.หน่วย ฉก.เพชราวุธ เป็นทหารหน่วยแรกนอก ทภ.4 ที่ไปปฏิบัติงาน 3 จชต. ตั้งแต่ปี 47 เป็นนายทหารที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย เข้มงวด วินัยเคร่งครัด เป็นทหารอาชีพ ยังอยู่บ้านชั้นนายร้อย ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่
เป็นว่าที่ร้อยตรี ใช้นาฬิกาถูก ขับรถเอง สิ่งที่คนไทยจะเห็นและจดจำได้ตลอดไปก็คือ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ อย่างสง่างามที่ลานพระบรมรูปทรงม้านั้น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (บิ๊กต๊อก) ได้เป็นผู้บังคับกองผสมในการสวนสนามถึง 2 ครั้ง ในขณะดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งต่อจากนั้น รูปแบบการสวนสนามก็ได้เปลี่ยนไป นำทหารเข้าเฝ้าแทน จึงเป็นความภาคภูมิใจและเกียรติยศสูงยิ่งของท่าน .
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า จากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ.ถือเป็นความปลาบปลื้มใจ ตนขอตั้งสัจจะวาจา ว่าจะเทิดทูลและรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์เจ้าด้วยชีวิต และจะเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดไป ช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จนปฏิบัติงานลุล่วง อยากให้ทุกคนทุ่มเท เพื่อให้กองทัพบกบรรลุจุดมุ่งหมาย

ด้าน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช หรือ บิ๊กหมู เตรียมทหารรุ่น 14 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 39 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก น้องรัก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นนายทหารจากถิ่นบูรพาพยัคฆ์ ที่ขึ้นนั่งเก้าอี้แม่ทัพบกเป็นคนที่ 5
เคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 มีบทบาทสำคัญในช่วงรัฐประหาร ถือว่าได้ร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย รวมทั้งเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับ ผบ.หน่วยคุมกำลังหลักในกรุงเทพฯ นอกจากความอาวุโสแล้ว ผบ.ทบ.คนใหม่ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของบ้านเมืองที่ยังมีความขัดแย้ง จึงต้องทำงานเข้าขากับทุกฝ่าย และคำนึงถึงมิติความมั่นคงด้วย
ทั้งนี้  พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.เข้ารับตำแหน่ง ได้ระงับคำสั่งปรับย้ายนายทหารและสั่งรื้อปรับภูมิทัศน์ใน บก.ทบ. ของอดีต ผบ.ทบ.คนก่อนที่สั่งสร้าง ทำเอาลูกน้องในกองทัพ "อกสั่นขวัญแขวน" ไปตามๆ กัน
นอกจากนี้ จากปัญหารถติดทางออกประตูด้านหลัง บก.ทบ. เนื่องจากกำลังพลแห่ไปเติมน้ำมันเพราะ "นายๆ" ใจดีแจกโควต้า งานนี้ "บิ๊กหมู" เลยสั่งระงับ ไม่ต้องเติม แก้ปัญหารถติด พร้อมให้เอากุญแจไปล็อกหัวจ่ายน้ำมัน เรียกว่าเฉียบขาดเกินบรรยาย

ส่วน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ หรือ “บิ๊กหนุ่ย” อดีต รองผู้บัญชาการทหารบก และอดีตเสนาธิการทหารบก เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2496 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของ พันเอก (พิเศษ) ศิริ รัตนสุวรรณ และนางชม้อย รัตนสุวรรณ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12-รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป, พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 (จปร.23) และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
พล.อ.ดาว์พงษ์ เริ่มต้นชีวิตราชการทหารครั้งแรกกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร. 11 รอ.) จนกระทั่งได้เป็นถึงผู้บังคับการกรม ในปี พ.ศ. 2530 ได้เป็นราชองครักษ์เวร จากนั้นได้เป็นฐานะผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมกำลังรบหลักของกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาค 1 ก่อนที่ในปีถัดมาจะได้เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และได้เลื่อนขึ้นมาเป็นรองเสนาธิการทหารบก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการทหารบกในวันที่ 1 ต.ค. 2553 พร้อมกับเลื่อนยศเป็น พลเอก (พล.อ.) ด้วย
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 พล.อ.ดาว์พงษ์ ในขณะนั้นมียศเป็น พลตรี (พล.ต.) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
พล.อ.ดาว์พงษ์ เริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 ซึ่งขณะนั้นนั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ ในยศ พลโท (พล.ท.) ในตำแหน่งเป็นเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อีกทั้งกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์ ถึงเหตุการณ์การกระชับพื้นที่และการสลายการชุมนุม

ไม่มีความคิดเห็น: