PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข่าว16/2/60

ธรรมกาย

หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ให้วัดธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ เปิดทางเจ้าหน้าที่เข้าดูแล - ดำเนินการตามกฎหมาย

เว็บไซต์ราชกิจจาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อํานาจกําหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยกำหนดให้วัดพระธรรมกาย ตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ควบคุม ความว่า ตามที่ได้ปรากฏว่ามีบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มมีข้อกล่าวหาว่ากระทําความผิดอาญาอันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและบ้านเมือง ซึ่งการกระทําความผิดดังกล่าวนําไปสู่การออกหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว แต่มิได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามหมายของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจหรือของศาล แล้วแต่กรณี ทั้งยังมีการขัดขวาง ปิดบัง ซ่อนเร้น ตลอดจนปิดกั้นพื้นที่มิให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานได้และการขัดขวางดังกล่าวยังขยายอาณาบริเวณกว้างขวาง หรือมีกลุ่มคนจํานวนมากเข้ามาสมทบหรือชุมนุมกันจนน่าวิตกว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เป็นเหตุให้การบังคับใช้กฎหมายไม่บรรลุผล และทําลายความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม จึงจําเป็นต้องกําหนดมาตรการให้อํานาจในการควบคุมพื้นที่ขึ้นเป็นการชั่วคราวเท่าที่จําเป็นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง
รวมทั้งเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม

โดย กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตํารวจ ทหาร หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการร้องขอจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสนธิกําลังหรือสนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้สามารถดำเนินการ 8 ประการ ได้แก่ ควบคุมการเข้าหรือออกในพื้นที่, สั่งให้บุคคลใดออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กําหนด หรือสั่งให้บุคคลใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย หรือให้งดเว้นการกระทําใด ๆ อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่
--------------
ขณะเดียวกัน ยังมีอำนาจออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด, จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดอาญาซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจดําเนินการเพื่อควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ตลอดจนกําหนดมาตรการและดําเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย, เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นตัวบุคคลและยานพาหนะ, รื้อถอน ทําลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น และดําเนินการอื่นใดที่จําเป็นตามสมควรแก่กรณี ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ หากผู้ใดขัดขวางหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ให้ระวางโทษจําคุก
ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
---------
"พล.อ.ประวิตร" แจงใช้ ม.44 เปิดทางเข้าควบคุมวัดพระธรรมกาย ชี้ ไม่จำเป็นต้องจับพระธัมมชโยวันนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการใช้อำนาจตามาตรา 44 กำหนดพื้นที่วัดพระธรรมกายให้เป็นพื้นที่ควบคุม ว่า เรื่องการดำเนินคดีเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายได้มีการดำเนินการมานานมากแล้ว ซึ่งพบว่าที่ผ่านมา แม้ศาลจะอนุมัติหมายจับ หมายค้น ไปหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจค้นภายในวัดได้ จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวอีกว่า การตรวจค้นวันนี้หากไม่พบพระธัมมชโยก็ไม่เป็นไร แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นผู้ดำเนินการ โดยขอกำลังสนับสนุนจากตำรวจภูธรภาค 1 และยังยืนยันว่าทหารไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตรวจค้นภายในวัด เพียงแต่สนับสนุนอยู่พื้นที่ภายนอกวัดเท่านั้น
----------
"พล.อ.ประวิตร" ขอเชื่อมั่นเจ้าหน้าที่คุมวัดธรรมกาย ยันไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย - ไม่แน่ใจพระธัมมชโยอยู่ในวัดหรือไม่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการใช้อำนาจตามาตรา 44 กำหนดพื้นที่วัดพระธรรมกายให้เป็นพื้นที่ควบคุม โดยยืนยันว่าการเข้าดำเนินการทั้งหมดในพื้นที่ ต้องไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย จึงขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลพยายามทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ส่วนหนึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการอนุมัติจากศาล ต้องสามารถ
เข้าไปตรวจค้นได้ทุกพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเข้าควบคุมพื้นที่วันนี้ อาจยังไม่ทราบผลของการตรวจค้นในวันนี้ โดยหลักการเจ้าหน้าที่ต้องเข้าในพื้นที่ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่สามารถยืนยันว่า พระธัมมชโยยังอยู่ภายในวัดหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจค้นตามหมายจับและหมายค้น ดังนั้น ขอให้ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะกับประชาชน
------------
รัฐบาล ยัน เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมวัดธรรมกายตามขั้นตอนกฎหมาย - หลักสากล ขอประชาชนให้ความร่วมมือ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่หัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย บริเวณวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี และพื้นที่โดยรอบ ว่า เนื่องจากที่ผ่านมาผู้กระทำผิดไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ มีการขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานได้ จึงได้ออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อบูรณาการการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในการเข้าตรวจค้น จับกุมผู้กระทำผิด รวมทั้งป้องกันการสร้างสถานการในพื้นที่จากผู้ไม่หวังดี โดยในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและตำรวจ จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักและใช้กฎหมายปกติเข้าดำเนินการ ส่วนทหารจะประจำการอยู่รอบนอก โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานอย่างรอบคอบ รัดกุม ตามขั้นตอนของกฎหมายและหลักสากล รัฐบาลจึงขอให้พระภิกษุและประชาชน ทั้งที่อยู่ในบริเวณวัดและใกล้เคียงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
----------
ผบ.ทบ. เผย ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการดูแลสถานการณ์วัดธรรมกาย ยัน อำนาจบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามกฎหมายปกติ

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการใช้กำลังทหารสนับสนุนการตรวจค้นวัดธรรมกายว่า ทหารได้รับการร้องขอให้ดูแลสถานการณ์เพียงรอบนอกวัดเท่านั้น โดยใช้กองกำลังจากกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งแบ่งเป็นวงใน 2 กองร้อย ดูแลรอบรั้ววัด และวงนอก 4 กองร้อย บริเวณถนน ส่วนจะมีการร้องขอกำลังเสริมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการตรวจค้นเป็นเรื่องของดีเอสไอ และตำรวจ

ขณะเดียวกัน ทางกองทัพยังไม่มีการแต่งตั้งใครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อดูแลสถานการณ์นี้ ซึ่งอาจจะเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าอำนาจการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามกฎหมายปกติ
///////////
ปรองดอง
อนุฯ ปรองดอง คุยชาติไทยพัฒนา มี "ธีระ - สมศักดิ์ - นิกร" นำทีมเข้าหารือ คุมเข้ม งดสื่อเข้ารับฟัง

บรรยากาศที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม วันนี้ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้เชิญ

พรรคการเมืองเข้าพูดคุยและเสนอแนะแนวทางการสร้างความปรองดอง โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา (09.00 - 12.00 น.) ได้มีการพูดคุย 3 พรรด้วยกัน คือ พรรคไทยรวมพลัง พรรคไทยมหารัฐพัฒนา และ

พรรคประชากรไทย ส่วนในช่วงบ่าย ( 13.30 - 16.30 น.) มีการร่วมพูดคุยกับพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค, นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล, นายนิกร จำนง
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และ อดีต ส.ส. รวมถึงกรรมการบริหารพรรครุ่นใหม่ (Young Blood) เข้าร่วมจำนวน 10 คน โดยไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าติดจามรับฟังการหารือแต่อย่างใด
------
"สุวิทย์" เตรียมชง 39 รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. มี "บวรศักดิ์ - เทียนฉาย - ศุภชัย" ภายใน 1 - 2 วันนี้ ก่อนประชุมชุดใหญ่ครั้งแรกต้นเดือนมีนาคม

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการ หรือ ป.ย.ป. ว่าขณะนี้กำลังร่างคำสั่งแต่งตั้ง คาดว่าจะส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามได้ใน 1 -

2 วันนี้ โดยมีรายชื่อประมาณ 39 คน แบ่งออกเป็น 4 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก นายบัณฑูร ล่ำซำ
ประธานบริหารธนาคารกสิกรไทย, คณะกรรมการปฏิรูป อาทิ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง

รัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง อาทิ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการและบุคลากรของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และคณะกรรมการบริหาร
ราชการแผ่นดิน อาทิ นายชาติสิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

นอกจากนี้ นายสุวิทย์ ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเน้นการกระจายอำนาจ โอกาสไปยังภูมิภาค โดยให้มีตัวแทนอธิการบดีของมหาวิทยาลัยทุกภูมิภาคเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ส่วน

เรื่องการปฏิรูป เน้นมิติการศึกษา การบริหารราชการแผ่นดินและด้านกฎหมาย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะหาโอกาสพบปะผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อขอบคุณและหารือกันถึงเจตนารมณ์ของ ป.ย.ป. ว่า มีความคาดหวังและจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอย่างไร โดยคาดว่าช่วงต้นเดือน

มีนาคมจะถือโอกาสประชุม ป.ย.ป. ชุดใหญ่ครั้งแรกด้วย
--------
"สุวัจน์" ประกาศชัด หนุนรัฐบาลลุยปรองดองก่อนเลือกตั้ง ยึดโรดแมป พร้อมขอทุกพรรคร่วม

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา แถลงหลังเข้าร่วมพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

ของรัฐบาลว่า บรรยากาศในการแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นไปด้วยดีและสร้างสรรค์ พร้อมเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดจากปัญหาทางการเมือง และความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดย

พรรคได้เสนอแนวคิด อาทิ ต้องสร้างความปรองดอง ก่อนการเลือกตั้ง ภายใต้หลักการของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เมื่อสร้างความปรองดองแล้ว ควรจัดให้

มีการเลือกตั้งตามโรดแมป ทั้งนี้ เห็นว่า รัฐบาลได้เริ่มต้นในสิ่งที่ถูกต้องในการระดมความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อได้แนวคิด และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ขณะเดียวกัน ขอเชิญทุกพรรคการเมืองร่วมกันนำประสบการณ์ที่ผ่านมาร่วมให้ความเห็น เพื่อนำไปสู่การปรองดองที่ทุกฝ่ายยอมรับ และเป็นการปูทางนำไปสู่การเลือกตั้ง
----------
ิิ
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา แถลงภายหลังเข้าพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองร่วมกับคณะ ป.ย.ป. โดยมั่นใจว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการใน

ขณะนี้ จะเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งพรรคได้แสดงจุดยืน เห็นด้วยกับแนวทางสร้างความปรองดอง ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือ และทุกพรรคการเมืองต้องเข้ามามีส่วนร่วม มีความจริงใจในการ

ร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ควรวางหลักเกณฑ์ 7 ข้อ เพื่อไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นอีก คือ
1. ทุกพรรคต้องลงเลือกตั้ง
2. เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง
3. ขอให้ทุกพรรคเลือกคนดีมาทำงาน
4. ต้องเคารพเสียงประชาชน และยอมรับผลการเลือกตั้ง
5. อยากเห็นการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
6. ขอให้ลืมอดีต ลืมความขัดแย้ง คำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก
7. หากเกิดขัดแย้งในอนาคต วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ใช้รัฐสภาแก้ปัญหาตามระบอบประชาธิปไตย
----------
"อภิสิทธิ์" นัดคณะทำงานประชุมบ่ายนี้ ก่อนเข้าหารือ ป.ย.ป. 17 กุมภาพันธ์ - ย้ำพรรคยินดีให้ความร่วมมือ

ความเคลื่อนไหวที่พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ ในช่วงบ่าย เวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ ได้นัดคณะทำงานที่จะไปร่วม
ประชุมกับคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) มาประชุม ก่อนไปร่วมประชุม ป.ย.ป. ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีรายชื่อ ดังนี้

1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ รับผิดชอบด้านการเมือง
2. นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบด้านความเหลื่อมล้ำ
3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคฯ รับผิดชอบเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
4. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคฯ รับผิดชอบหัวข้อแนวทางเสริมสร้างความปรองดอง ความแตกต่างทางสังคม ความเชื่อ ศาสนา
วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข
5. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ตรัง รับผิดชอบเรื่องแนวทางการไม่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งในสังคม
6. นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบเรื่องแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7. นายวีระชัย วีระเมธีกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดูแลเรื่องปัญหากิจการภายในประเทศที่จะถูกยกระดับให้ขึ้นเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
8. นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ดูแลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น
9. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฏ รับผิดชอบเรื่องปฏิรูปที่จำเป็นเร่งด่วน
10. นายสรรเสริญ สมะลาภา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การประชุมวันนี้ เพื่อหาข้อสรุปและประเด็นข้อเสนอให้ตกผลึก สามารถบรรลุเป้าหมายได้ พรรคฯ ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะเราอยากเห็นบ้านเมืองสงบและมีสันติสุข
-----------
เพื่อไทย ยัน ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญหารือเรื่องปรองดองจากรัฐบาล จี้ ทำเอกสารมาให้ชัดเจน

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยได้รับหนังสือเชิญจากทางฝ่ายรัฐบาลให้เข้าร่วมการหารือเรื่องการปรองดองที่กระทรวงกลาโหมนั้น ทาง

สำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ขอชี้แจงว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีใครได้รับการติดต่อเชิญจากทางรัฐบาลแต่อย่างใด และได้ตรวจสอบไปทางฝ่ายธุรการของพรรคแล้ว ยืนยันว่ายังไม่ได้รับ

หนังสือเชิญ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ที่ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลหรือผู้จัดได้มีการแถลงว่า ได้จัดส่งหนังสือเชิญและได้รับการตอบรับจากพรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ หากเป็นเรื่องความคลาดเคลื่อนในการทำงานของผู้จัด ขอให้มีการทำหนังสือเชิญให้ชัดเจน เพื่อจะได้ดำเนินการหารือผู้ใหญ่ของพรรคที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วนทันที

/////////
รัฐธรรมนูญ

กรธ. เร่งจัดทำ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินให้แล้วเสร็จใน ก.พ. นี้ ยันไม่แทรกแซง - ทำงานร่วมหน่วยงานอื่นได้

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงความคืบหน้า
การจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากการ
รับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขให้เหมาะสม โดย กรธ. ได้กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมดไม่เกิน 3 คน
และจะให้อำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอย่าง
เป็นธรรม ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอต่อการรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนแน่นอน

ทั้งนี้ ศ.ดร.อุดม กล่าวว่า กรธ. จะเขียนร่างกฎหมายลูกให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ใน
การแก้ปัญหาการใช้อำนาจของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายและไม่เกิดการแทรกแซงและทับซ้อนการทำงานของ
หน่วยงานอื่น ๆ โดยคาดว่าจะสามารถจัดทำให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือน ก.พ. นี้
----------------
สปท. เตรียมพิจารณารายงานปฏิรูป 3 เรื่อง 20 กุมภาพันธ์นี้ ขณะงดการประชุม 21 กุมภาพันธ์

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ วิป สปท. กล่าวว่า การประชุม
สปท. ในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการพิจารณารายงานการปฏิรูปประเทศ 3 เรื่อง คือ รายงานของคณะกรรมาธิการ
ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่อง การปฏิรูประบบที่พักแรมและข้อมูลคนเข้าเมือง รายงานการปฏิรูประบบ
นิเวศและการลงทุนในเศรษฐกิจกระแสใหม่ และพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้าน
พลังงาน เรื่อง การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ ส่วนในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ได้งดการประชุม สปท. เพื่อ
ให้สมาชิกได้ปฏิรูปหน้าที่กรรมาธิการได้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน โฆษกวิป สปท. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปท. ยังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำ
สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ
และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. เพื่อพิจารณาจัดลำดับวาระปฏิรูปเร่งด่วน 27 วาระ ที่จะปฏิรูปให้เป็น
รูปธรรมภายในปี 2560 เพื่อนำเข้าสู่การประชุมของ ป.ย.ป. ต้นเดือนมีนาคมนี้
///////
"สุรพงษ์" จี้ รัฐบาลคืนประชาธิปไตยให้ประเทศ หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ - ต่างประเทศยอมรับ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าหลังจาก พล.ร.อ. แฮรี่ แฮริส แม่ทัพของ
กองทัพอเมริกันในภาคพื้นแปซิฟิก ได้กล่าวในพิธีเปิดการฝึกร่วมคอบบรา โกลด์ และ นายกลิน เดวิส เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา
ร่วมพิธีด้วยนั้น จากที่ได้ติดตามการเสนอข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งเสตรทไทมส์ หรือ เอพี ก็มีคำพูดของ พล.ร.อ.แฮริส
ที่ได้พูดว่า สหรัฐฯ อยากเห็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทย และสหรัฐฯ ยังคงอยากเห็นประเทศไทยเป็นมิตรประเทศที่มีเสถียรภาพ
และความมั่นคง ซึ่งคำกล่าวเช่นนี้ก็หวังที่จะเห็นรัฐบาล คสช. นำไปคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะประเทศไทยจะละทิ้งระบอบ
ประชาธิปไตยที่สากลให้การยอมรับก็คงจะทำไม่ได้และเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับ
ในเวทีโลก และคาดหวังว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น ถ้าหากกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบโดยเร็ว ขอให้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับไว้พิจารณาด้วยเพื่ออนาคตของประเทศจะได้ดีขึ้น

/////////
ทุจริต

"วิชา" ชี้ ไทยมองการให้สินบนไม่ถือเป็นความผิด แนะรัฐบาลแจงต่างประเทศปมโทษประหารสินบน

นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรอตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในการเสวนา อย่าให้คนโกง
มีที่ยืนในการบินไทย ปตท. และประเทศไทย กรณีสินบนโรลส์ - รอยซ์ ภาคบทลงโทษ ว่า ในประเทศไทยไม่ถือว่าการให้
สินบนเป็นความผิด เพราะผู้ให้ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน และเป็นการให้ด้วยความเต็มใจ แต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบ
แห่งชาติ หรือ คสช. ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ.2558 เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบคดีทุจริตได้ในกรณีให้และรับสินบน ซึ่งในกรณีของสินบน
โรลส์ - รอยซ์ เข้าข่ายอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะเข้าไปตรวจสอบได้ แต่เนื่องจากกฎหมายไทยมีโทษสูงสุดประหารชีวิต ทำ
ให้การขอข้อมูลที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศทำได้ยาก ดังนั้น ไทยจึงต้องทำให้ต่างชาติเข้ามจว่า แม้จะมีโทษประหารชีวิต แต่
ไม่เคยถูกนำมาใช้ โดยเฉพาะกรณีการให้ - รับ สินบน
--------
"รพี" มองกฎหมายไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาทุจริตที่ดีที่สุด ชี้อยู่ที่มีจิตสำนึก - ความพร้อมของบุคคล

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การจะแก้ไข
ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศทำได้ยาก เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการจะให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้ามา
แก้ไขคงเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกัน คนในบริษัทไม่ร่วมกันป้องกัน คนรู้มักจะไม่พูด ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่า ทำผิดก็ไม่
ถูกลงโทษ ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยความเปราะบางของบริษัทเอกชน ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง การมีเงินลงทุน
จำนวน ทำให้เป็นเป้าหมายของผู้ที่ต้องการจะเข้ามาหาผลประโยชน์ ทั้งนี้ แนวคิดที่จะลงโทษบรัษัทหรือหน่วยงานใดที่พบว่า
มีการทุจริต ให้ทอดออกจากตลาดหลักทรัพย์นั้น สามารถทำได้ แต่จะกระทบกับผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ทางที่ดีจึงควรลงโทษเฉพาะ
บุคคลที่ทำการทุจริตจะดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ ก.ล.ต. มองว่า กฎหมายไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด แต่อยู่ที่จิตสำนึกและความพร้อมที่
จะทำให้คนรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องที่จะทำให้เสื่อมเสีย
-----------
"วิชา" เชื่อ หากทุกฝ่ายจริงจังสามารถป้องกันการทุจริตได้แน่ ด้านอุปทูต UK ยันให้ความร่วมมือเต็มที่

นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรอตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในการเสวนา อย่าให้คนโกง
มีที่ยืนในการบินไทย ปตท. และประเทศไทย กรณีสินบนโรลส์ - รอยซ์ ภาคบทลงโทษ ว่า ทุกฝ่ายจะต้องมีความจริงจัง
ในการป้องกัน ไม่ลูบหน้าปะจมูก และการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบให้เท่าเทียมกับรัฐบาลทราบนั้น ก็ยังช่วยการ
ป้องกันการคอร์รัปชั่นได้

นางมากาแร็ต ทังค์ อุปทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ยืนยันให้ความร่วมมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกับทุก
ประเทศเต็มที่ แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงบทสรุปที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะโดยหลักการแล้ว ตามนโยบายรัฐบาลอังกฤษไม่
สนับสนุนโทษประหารในทุกประเทศ ดังนั้น กระบวนการแก้ไขปัญหา จึงไม่จำเป็นจะต้องมีการประหารเสมอไป
----------------
"เรืองไกร" จ่อร้องสรรพากรตรวจสอบภาษีขายที่ดินบิดานายกฯ ในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. นี้

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากติดตามศึกษาการขายที่ดินของ พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา บิดาของนายกรัฐมนตรี จนได้ข้อมูลที่เพียงพอ ทำให้

พบว่า การขายที่ดินดังกล่าวเป็นการขายที่สูงกว่าราคาประเมินประมาณ 402 ล้านบาทเศษ และ นายกฯ ได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายที่ดินว่ามีราคาขายที่ 600 ล้านบาท ไว้ในการยื่น

แบบแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. ด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทผู้ซื้อพบว่า มีการบันทึกบัญชีต้นทุนที่ดินรวมค่าใช้จ่ายไว้ที่ 623 ล้านบาทเศษ ซึ่งเมื่อคำนวนหักค่าธรรมเนียมและค่าอากรแล้วยังมีตัว

เลขปริศนาเกินมาอีก 16 ล้านบาทเศษ และเมื่อนำที่ดินแต่ละแปลงมาคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็จะได้ตัวเลข 16 ล้านบาทเศษ ที่ใกล้เคียงกัน จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่า บริษัทผู้ซื้อบันทึกต้นทุนที่ดินโดย

รวมค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายของผู้ขาย คือ บิดาของนายกฯ ไปด้วย ดังนั้น จึงน่าเชื่อว่าในการขายที่ดินได้มีการออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ขายด้วย ซึ่งผู้ขายจะต้องนำไปเสียภาษีอีกทอดหนึ่งแต่การ
ตรวจสอบตัวเลขของผู้ขายที่นายกฯ แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. 600 ล้านบาท จึงเป็นเหตุต้องร้องขอให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีที่ดินดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่ โดยจะยื่นเรื่องในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.

เวลา 11.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น: