PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

รู้จักแวตที่นายกฯพูดถึงอีก1%

รู้จัก VAT ภาษีที่คนจนอาจเสียมากกว่าคนรวย ก่อนที่อาจจะขึ้นเป็น 8% เมื่อนายกฯโยนหินถามทางขอปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม กลายเป็นประเด็นร้อนในทุกวงสนทนา
เมื่อการบริหารประเทศเป็นเรื่องง่ายนิดเดียวแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เสนอไอเดียเข้าใจง่ายแต่กระเทือนไปทุกวงการ เมื่อรัฐบาลมีรายจ่ายที่สูง รายรับที่ไม่เพียงพอ ก็ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มกันไปเลยและย้ำว่ารัฐบาล "ไม่ได้ตูดขาด" ถ้าอย่างนั้นเราไปรู้จัก "ภาษีมูลค่าเพิ่ม"หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า VAT กันดีกว่า
VAT ภาษีทางตรงที่คนจนอาจเสียแพงกว่าคนรวย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ หากจะทำความเข้าใจรายได้ของรัฐบาลมาจาก การจัดเก็บภาษีทั้งสรรพสามิต ศุลกากร และสรรพากร ค่าธรรมเนียมและค่าปรับ การให้สัมปทานต่างๆ กำไรและรายได้จากการบริหารรัฐวิสาหกิจ ทั้งหมดนี้เรียกว่า รายได้ของรัฐบาล (Public Revenue) ซึ่งในตัวภาษีเองก็ยังแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และอีกประเภทคือภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
ในครั้งนี้เราจะขอพูดถึงภาษีทางอ้อมที่เรียกว่า "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" หรือ Value Added Tax นั่นคือภาษีที่จะถูกรวมไปในเมื่อเราซื้อสินค้าและบริการบางประเทศเรียกว่า "ภาษีการบริโภค" (Consumption Tax) ซึ่งไม่ว่าใครจะจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีจะถูกรวมไปด้วยแล้ว พอฟังเผินๆดูเหมือนว่าภาษีดังกล่าวมีความเท่าเทียมถ้วนหน้าระหว่างคนรวยและคนจน
แต่มีรายงานจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่น่าสนใจ ข้อค้นพบคือ "คนจนอาจซื้อของได้แพงกว่าคนรวย"โดยมีการยกตัวอย่างเช่น การซื้อกระดาษทิชชู่คนรวยสามารถซื้อแบบเหมาแพ็คในราคาลดได้ แต่คนจนไม่มีเงินเพียงพอจึงซื้อกระดาษทิชชู่ปลีกแบบทีละม้วนทำให้ได้ราคาที่แพงกว่า หากเทียบกับการซื้อกระดาษทิชชู่แบบแพ็ค เราจะเห็นว่าเงินในมือของคนรวยและค่าคนจนมีค่ามากไม่เท่ากัน
ภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย แพงไปจริงหรือ?
แท้จริงแล้วในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่  2540 เป็นต้นมา แต่ไม่มีรัฐบาลใดที่กล้าเก็บตามจำนวนเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมกลัวการกระทบกับฐานเสียงประชาชน คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี ซึ่งจะมีการแบ่งสรรปันส่วนว่า1ส่วนจาก10 ส่วนจะตกเป็นขององค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนที่เหลือก็จะไปเข้ารัฐบาลกลาง
หากเปรียบเทียบประเทศในอาเซียน ที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสิงคโปร์เก็บที่ 7% มาเลเซีย 5% ส่วนชาติที่เก็บมากกว่าไทยคือกัมพูชา 10% อินโดนีเซีย 10% ลาว 10% ฟิลิปปินส์ 12% และเวียดนาม 10% น่าสนใจว่าค่าเฉลี่ยถือว่าไม่สูงนักหากเทียบกับ ประเทศพัฒนาแล้วเช่น ในแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง นอร์เวย์ 25%และ เดนมาร์ก 25%หรือประเทศในกลุ่มยุโรป เช่นเยอรมนี 19% และฝรั่งเศส 20% ส่วนชาติมหาอำนาจอื่นๆ  เช่น จีนเก็บเฉลี่ยที่ 17% ญี่ปุ่น 8% และสหราชอาณาจักร 20%
ตัวเลขระดับของภาษีมูลค่าเพิ่มอาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เงินภาษีมูลค่าเพิ่มถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง เพราะถึงแม้สมมุติไทยจะปรับเป็น 8% เท่ากับญี่ปุ่น แต่หากการบริหารงานภาครัฐของไทยมีประสิทธิภาพด้อยกว่าญี่ปุ่น 8%ที่เท่ากันอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน และสำคัญที่สุดก็คือเงินที่ถูกจัดเก็บไปในสามารถโปร่งใสและตรวจสอบได้หรือไม่ในการใช้งาน? ซึ่งจะโปร่งใสที่สุดก็ต่อเมื่อมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง และ มีตัวแทนประชาชนเช่นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน และร่วมวางแผนพัฒนาประเทศ
ดังนั้นคำถามที่สำคัญที่สุดอาจไม่ใช่ว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะปรับขึ้น VAT เป็น 8%แล้วหรือยัง? แต่คือแผนการบริหารประเทศของรัฐบาลที่จะนำภาษีของประชาชนไปใช้อย่างคุ้มค่ามีอะไรบ้าง? และเราสามารถตรวจสอบถ่วงดุลการนำภาษีของเราไปใช้ได้อย่างไร ในยุคที่การตรวจสอบถ่วงดุลในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ และประชาชนไม่มีตัวแทนที่เป็นปากเป็นเสียงในการนำเสนอแนวทางการบริหารประเทศเช่นนี้ เพราะเท่าที่เห็นในยุคปัจจุบันมีการปรับลดสวัสดิการประชาชนไปพอสมควร

ไม่มีความคิดเห็น: