PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เจาะกระแส “เรือดำน้ำ” จับกระแสรัฐบาล : ยุทธศาสตร์ความมั่นคง

โดย ทีมข่าวการเมือง

"ดุลอำนาจโลก”
ในยุคศตวรรษที่ 21 การเมือง 2 ขั้วระดับโลก ระหว่าง “จีน-รัสเซียกับสหรัฐฯ” มี “อียู” ยืนอยู่เคียงข้าง
กำลังขับเคี่ยวอย่างถึงพริกถึงขิง สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งโลก
ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนที่เปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน กำลังตกอยู่ในสภาวะถูกแย่งชิงจากน้ำมือ 2 ขั้วการเมืองระดับโลก เพราะภูมิภาคนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร จำนวนประชากร กำลังการผลิต กำลังการบริโภค และภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม
“รัฐไทย&rrdquo; จะวางตัวอย่างไรในสมรภูมิการปรับ “ดุลอำนาจโลก”
ยิ่งตามรายงานของหน่วยงานความมั่นคง บอกเอาไว้ชัดเจนว่า ในท่ามกลางความขัดแย้งด้านอาณาเขตแบบ “รัฐต่อรัฐ” ทั้งด้านอาณาเขตทางบก การอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลและภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อผลประโยชน์และการแย่งชิงทรัพยากร ทำให้มีแนวโน้มการเพิ่มกำลังอำนาจของกองทัพของประเทศอื่น
เช่น การพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศในทะเลจีนตะวันออก เหนือทะเลจีนตะวันออกของประเทศจีน ครอบคลุมพื้นที่พิพาท ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น กรณีหมู่เกาะเซนกากุและพื้นที่สถานีวิจัยของเกาหลีใต้ ความขัดแย้งกรณีอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ของหลายประเทศ
เป็นปัญหาสำคัญต่อประเทศไทย หากเกิดการใช้กำลังทางทหารเพื่อการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบทั้งในด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจและการเมือง อาจส่งผลกระทบและนำไปสู่ความขัดแย้ง
ฉะนั้น การสร้างอำนาจต่อรองทางการทหารและความมั่นคง
ที่เป็นเงื่อนไขต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน ตอบโจทย์ของความมั่นคงดังกล่าวหรือไม่ ถ้าไปพลิกเปิดแฟ้มเอกสารลับ “มุมแดง” ที่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บ่งบอกให้เห็นว่า ต้องทำเป็นความลับ เพราะเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีความมั่นคงของชาติ
ตามสเปกของเรือดำน้ำ อ้างว่าเป็นเรือดำน้ำยุคใหม่และทันสมัย ด้วยระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ปฏิบัติการใต้น้ำนาน 21 วันโดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมารับออกซิเจนธรรมชาติเหนือน่านน้ำ ติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำและบนดินแบบ YJ-8X
คำถามทางลบจากสังคมดังกระหึ่มถึงกองทัพไทย-รัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ซื้อในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไม่ดีเหมาะสมหรือไม่ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำโปร่งใสหรือไม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำหรือไม่
แต่ “รัฐไทย” กล้าซื้อในช่วงนี้เพื่อ “ถ่วงดุลอำนาจโลก” หรือไม่
ตามข้อมูลวิกิพีเดีย บอกเอาไว้ชัดเจนว่า “กองทัพเรือไทย” ต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติ การทางทหารในทะเล ลำน้ำและพื้นที่บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย ทั้งในอ่าวไทยและทะเล อันดามัน ตามตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศในทะเล ความยาวกว่า 1,680 ไมล์ทะเล และตามแนวชายฝั่ง ความยาวกว่า 1,500 ไมล์ทะเล
ตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางท้องทะเลของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ชี้ ให้เห็นถึงจุดแข็งที่ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณเส้นทางคมนาคมบนท้องทะเลที่สำคัญของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก
มีเรือประจำการ อาทิ เรือลาดตระเวนประจัญบาน เรือประจัญบาน เรือลาดปืนยามฝั่ง เรือฟริเกต เรือยกพลขึ้นบก เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือบรรทุกอากาศยาน
บรรดาอาวุธ อาทิ เอ็กโซเซต์จรวดต่อต้านเรือรบ ตอร์ปิโดสติงเรย์ปราบเรือดำน้ำ จรวดต่อต้านอากาศยาน
เหล่าฝูงอากาศยาน อาทิ อากาศยานปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวน ลำเลียงทางยุทธวิธี ค้นหาและช่วยเหลือ ต่อต้านเรือรบ อากาศยานไร้คนขับ
เขี้ยวเล็บของกองทัพเรือซื้อมาจากสหรัฐฯ จีน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี ส่วนใหญ่จะซื้อมาจากประเทศสหรัฐฯ และในยุคที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเรืองอำนาจ กองทัพเรือไทยเคยซื้อเรือลาด ตระเวน และเรือดำน้ำจากประเทศญี่ปุ่นด้วย ก่อนปลดประจำ– การ เนื่องจากขาด– แคลนอะไหล่หลัง จากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลก พร้อมถูก ห้ามผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์
ยุคนั้นไทยเป็นชาติที่ 2 ของเอเชียที่มีเรือดำน้ำ ชาติแรกคือญี่ปุ่น
กองทัพเรือซื้อยุทโธปกรณ์จากหลายประเทศ มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ที่ต้องการถ่วงดุลอำนาจโลก
อีกเหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ ทาง พล.ร.อ.สุริยะ พรสุริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ในฐานะอดีตผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำคนแรกของสยามประเทศ บอกผ่านทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์เมื่อ 7 ก.ค.2559 ว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่รุนแรงและสำคัญ ใช้ในการป้องปราม
โดยเฉพาะอ่าวไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี
อ่าวไทยมีลักษณะล่อแหลมต่อการถูกปิดอ่าวที่กว้างเพียง 200 ไมล์ทะเล
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พันธมิตรเคยเอาเรือดำน้ำมาปิดปากอ่าว
ทำให้เราเข้าออกไม่ได้ เรือขนน้ำมันของเราถูกเรือดำน้ำยิงจม
ถ้าอ่าวไทยถูกปิด จะด้วยการถูกเรือมาปิดหรือประกาศปิดอ่าวห้ามการเดินเรือ โดยบอกว่าเป็นเขตปฏิบัติการทางทหาร เพียงเขามีเรือดำน้ำ เศรษฐกิจของเราถึงกับเป็นอัมพาตเลย เราจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถขึ้นมาเพื่อถ่วงดุล ป้องกันการปิดอ่าวได้ เพื่อปกป้อง ผลประโยชน์ของชาติที่จะล้มเหลวไม่ได้
ยิ่งตอนนี้ทุกประเทศในอาเซียนมีเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ อย่างที่นายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) บอกว่า “เรา ไม่ได้ไปรบกับใคร แต่เรามีไว้ให้คนเกรงใจ” มีประโยชน์ทั้งยามสงครามและยามสงบ
ฉะนั้น การใช้งานในเชิงยุทธศาสตร์จำเป็นต้องมี 3 ลำ เป็น อย่างน้อย
พอ ครม.ผ่านโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ทางกองทัพเรือโดย พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. ก็มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะ เป็นผู้ชี้แจงโครงการนี้อย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 1 พ.ค.2560 เวลา 15.00 น. ที่โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเทียบเรือท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
แต่ถึงอย่างไร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ จึงให้สัมภาษณ์ว่า โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษา 9 ปี เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนากองทัพเรือ
ทั้งหมดขอยืนยัน ว่ากองทัพเรือดำเนินการตามขั้นตอน จัดซื้อโปร่งใส
เรือดำน้ำที่ซื้อจากจีนเหมาะสมกับราคา เทคโนโลยีก็มีการพัฒนาขึ้นมาก รับประกันระยะเวลาการใช้งานและอุปกรณ์ ถ้าไปซื้อที่อื่นไม่ได้แบบนี้ เพราะ 1 ลำมีราคาสูงกว่าของจีนถึง 3 เท่าตัว
ถ้าซื้อเรือดำน้ำของประเทศอื่นจะได้แค่ 1 ลำ
แต่ของจีนได้ถึง 3 ลำและใช้งานได้นาน
ราคาถูกเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำอีก 9 ประเทศ และยังมีออปชั่นติดอาวุธยุทโธปกรณ์ ขีปนาวุธยิงจากใต้น้ำต่อสู้อากาศยาน ใช้เวลา 11 ปี ถึงส่งมอบเรือครบ 3 ลำ
เรือดำน้ำมีประโยชน์อย่างไร ครม.ถึงอนุมัติโครงการนี้ พล.อ.ประวิตร บอกว่า โครงการนี้มีความจำเป็นแน่นอน ได้ย้ำพูดหลายครั้ง ว่าในประเทศอาเซียนมีเรือดำน้ำกันหมด โดยเฉพาะประเทศเวียดนามมีถึง 12 ลำ
ประเทศที่อยู่ใกล้ทะเลทั้งหมดมีการเตรียมจัดหาซื้อเรือดำน้ำ
เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลระยะ 200 ไมล์ทะเล
ฉะนั้น ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีเรือดำน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์รักษาทรัพยากรทางทะเล
สิ่งที่ทำไปไม่ได้ทำเพื่อใคร ทำเพื่อประชาชนทุกคน
เพื่อความเข้มแข็งและศักยภาพของประเทศไทย.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: