PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

‘พันธุ์เก่า’ ไม่ได้ไปต่อ

‘พันธุ์เก่า’ ไม่ได้ไปต่อ

ปี่กลองเชิดฉิ่งโหมโรงตามเงื่อนเวลาที่กระชั้นเข้ามา
เดดไลน์ก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม ไฟต์บังคับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องร่อนใบลาออก เพื่อเลี่ยงเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ
นัก “ลากตั้ง” เตรียมแต่งตัวรอลงสนามเลือกตั้ง
ในจังหวะที่เซียนจอมเก๋าก็ขยับแข้งขยับขา เดินหน้ากระตุกเรตติ้งกันคึกคัก
อาศัยเหลี่ยมกระแทกทหาร เทกแอ็กชั่นปฏิเสธอำนาจพิเศษ แบบที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แท็กทีมพรรคเพื่อไทย แตะมือลูกข่าย “ทักษิณ” ประสานเสียงคัดค้านระบบไพรมารีโหวต ต่อต้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นักเลือกตั้งอาชีพหันมาปรองดอง ต้องช่วยกันรักษาผลประโยชน์ในเส้นทางอำนาจตัวเองไว้
ดิ้นสู้ ไม่ยอมให้ทหารตีกินง่ายๆ
แต่นั่นก็ไม่แน่ว่าจะสายเกินไปหรือไม่ กับการยื้ออ้อยออกจากปากช้าง
เพราะโดยรูปการณ์ที่มันสวนทางกับกระแสข่าววงใน หลายสายยืนยันตรงกัน สถานการณ์ไหลมาถึงตรงนี้ ยุทธศาสตร์ของฝ่ายคุมเกมอำนาจ
ล็อกคำตอบไว้ 2 ทางเลือก
ทางแรกเลย ยังไม่ปล่อยเลือกตั้ง ลากยาวต่อไป เพราะตามรูปการณ์ที่หัวเชื้อความขัดแย้งยังแฝงอยู่ทุกอณู เลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ เสี่ยงปฏิวัติเสียของซ้ำซาก
หรืออีกทางหนึ่งคือมีการเลือกตั้ง แต่มีเงื่อนไขต้องเซ็ตซีโร่ โดยให้เป็นพื้นที่ของนักการเมืองรุ่นใหม่ นักการเมืองพันธุ์เก่าโดนล้างบางหมด
ว่ากันตามโจทย์บังคับออกมาแบบนี้ นั่นหมายถึงนักการเมืองที่ส่งเสียงเย้วๆกันอยู่ ส่วนหนึ่งคงต้องล้มหายตายจากไปเกินกว่าครึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขทางคดี คุณสมบัติติดล็อกในรัฐธรรมนูญ หรือด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตามแต่
ที่แน่ๆพวกที่มีส่วนร่วมในการก่อวิกฤติ ไม่มีสิทธิ์ไปต่อ
โดนตัดตอนไม่ให้กลับมาก่อปัญหาซ้ำอีก
เรื่องของเรื่อง ด้วยเงื่อนไขกระแส “ปฏิรูป” มันเอื้อกับฝั่ง คสช.มากกว่า
ดูจากสถิติที่สะท้อนจาก “นิด้าโพล” ประชาชนหนุนพรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล แต่เชื่อว่ายากจะเป็นไปได้เพราะแตกต่างกันคนละขั้ว
แต่ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับการผุดพรรคการเมืองเพื่อหนุน คสช.เป็นรัฐบาล
นั่นหมายถึงตามสภาพความเป็นจริง ประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจเงื่อนไขสถานการณ์บังคับทางการเมือง พร้อมรับได้กับสภาพรัฐบาลที่ผิดรูปผิดร่างในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ
ในเมื่อนักการเมืองเองยังแก่งแย่งผลประโยชน์ไม่เลิก ก็เป็นประโยชน์กับรัฐบาลทหาร ตัวแทนชนชั้นนำที่ยังอยู่ในชัยภูมิได้เปรียบ ส่อเค้าคุมเกมอำนาจยาว
เข้ากับบทวิเคราะห์ของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการ อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่ฟันธงเลยว่า รัฐบาล คสช.จะใช้ยุทธศาสตร์ผ่านไทยแลนด์ 4.0 และโครงการประชารัฐ
ในการดีลอำนาจแลกประโยชน์กับประชาชน
ไม่ใช่ฟอร์มทหารเดิมๆที่ใช้ปลายกระบอกปืนบีบบังคับ ยั่วกระแสตีกลับ
และก็อย่างที่เห็นๆ กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ยึดโยงกับยุทธศาสตร์ทางการเมือง ตามแผนที่วางโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ
ค่อยๆรุกคืบ วาง “มัดจำ” กับประชาชนคนไทย
ด้านหนึ่งก็เร่งเครื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ใช้เม็ดเงินมหาศาลจากเมกะโปรเจกต์ กระตุ้นเศรษฐกิจในภาพกว้าง
แต่นั่นก็ยังถือเป็นเรื่องไกลตัวชาวบ้าน แว่วๆโจทย์ใหญ่รัฐบาลต้องเร่งอุดรอยโหว่เรื่องปัญหาปากท้อง ต้องรีบอัดฉีดช่วยเหลือ
ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาพืชผล
ตามรูปการณ์คงหนีไม่พ้นการจ่ายเงินสดช่วยเหลือเพื่อลดขั้นตอน บรรเทาภาวะปากท้องเฉพาะหน้า พร้อมๆกับกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วยการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังไม่ให้ซ้ำรอยอดีตรัฐบาล เผลอแจกดะไม่ได้
ต้องลดโทนประชานิยม เป็นแค่ “สวัสดิการประชารัฐ”.

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: