PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ปฏิรูปกฎหมายปฏิวัติระบบราชการ : ปลดล็อกการเมือง

ปฏิรูปกฎหมายปฏิวัติระบบราชการ : ปลดล็อกการเมือง



รัฐบาลและ คสช.จะปฏิรูปอะไรในช่วงเวลาที่เหลือก่อนจะมีการเลือกตั้ง”
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) บอก ทีมข่าวการเมือง ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์ชนิดเปิดใจว่า เป็นสิ่งที่สังคมตั้งคำถามต่อรัฐบาลและ คสช.
ก่อนเฉลยว่า เมื่อ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ย่อมมีผลกระทบต่อ ป.ย.ป. เพราะตามกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นตัวจริงเสียงจริงตามรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้น ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ป.ย.ป.จะประชุมในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อสรุปส่งมอบงานให้ ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งเป็นงานจาก 4 แท่ง ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามยุทธศาสตร์ (มินิคาบิเนต) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
แท่งมินิคาบิเนตน่าจะอยู่ต่อ เพราะเป็นเครื่องมือของนายกรัฐมนตรีใช้ตามงาน แท่งยุทธศาสตร์ชาติ กำลังต่อจิ๊กซอว์ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงและยุทธศาสตร์ภาคเคลื่อนไปพร้อมกัน นี่คือสิ่งที่จะส่งมอบให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเอาไปต่อยอดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
แท่งการปฏิรูป ความชอบธรรมของรัฐบาลและ คสช.ที่เข้ามาเพราะต้องการปฏิรูปก่อนหน้านั้นมีประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต ทั้งด้านเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งมีม็อบตลอด การทุจริตคอร์รัปชัน และประสิทธิภาพของภาครัฐ
ปรากฏว่า วันนี้เราลงมือทำ ปฏิรูปนำร่องในหลากหลายมิติในรอบ 3 ปี รวมถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และกำหนดวาระการปฏิรูปก่อนส่งมอบให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
แท่งการปฏิรูป แม้ส่งมอบงานให้กับตัวจริงเสียงจริงแล้ว แต่รัฐบาลยังมีหน้าที่จะต้องปฏิรูปในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยไม่ก้าวก่ายส่วนที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ การปฏิรูปย่อมต้องใช้ระยะเวลายาวถึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม อย่างประเทศจีนใช้เวลา 30 ปี ปฏิรูป 6 พันเรื่อง แต่ยังเหลืออีก 3 พันเรื่องจะต้องสานต่อ
รัฐบาลจะส่งมอบงาน 10 ด้านบวกหนึ่ง ประกอบด้วย การเมือง ความเหลื่อมล้ำ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจสังคม การศึกษาและสาธารณสุข สื่อสารมวลชนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การต่างประเทศ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูปด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และด้านอื่นๆ
การปฏิรูปแต่ละด้านเกี่ยวโยงกับยุทธศาสตร์ชาติที่บอกเป้าหมายและทิศทางของประเทศ 20 ปี

แท่งปรองดองมีโรดแม็ปชัดเจน รัฐบาลและ คสช.มีความตั้งใจจริง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดอง
คาดรายละเอียดสัญญาประชาคมคงออกมา 10 ด้าน เป็นเรื่องพื้นฐานที่คาดเดากันออกอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง เช่น ปมความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะยึดโยงกับการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง
มาถึงวันนี้ ป.ย.ป.ยังมีงานอีกหลายอย่างที่จะต้องทำ รวมถึงด้านการยกเครื่องกฎหมายให้ทันสมัยต่อการปฏิรูปและเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย
ซึ่งชุดนี้มีคณะกิโยติน จะเข้าไปปรับรื้อกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและปฏิรูปประเทศ การปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ และการพัฒนากฎหมายใหม่
เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ
ถ้าส่งมอบงานให้ตัวจริงเสียงจริงไปแล้วคณะไทยแลนด์ 4.0 จะอยู่ไหน นายกรัฐมนตรีบอกว่ารัฐบาลจะต้องช่วยเรื่องการปฏิรูป เดินไปข้างหน้าด้วยกัน ฉะนั้น อาจจะตั้งคณะกรรมการคล้ายๆชุดนายบวรศักดิ์ขึ้นมาขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ร่วมกับภาคเอกชน
ยุค 4.0 ไม่ใช่นวัตกรรมอย่างเดียว จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดของทรัพยากรมนุษย์ โดยเริ่มจาก “ปฏิวัติความคิดปฏิรูปตัวเอง” นายกรัฐมนตรีถึงเน้นว่า ยุค 4.0 จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคนไทยไม่ใช่ 4.0 ไม่ว่าจะอยู่ระดับไหนขอให้มีความรู้สึกว่าพรุ่งนี้ชีวิตของเราต้องดีขึ้น ถึงสอดรับกับการปฏิรูป เราถึงมีโครงการประชารัฐให้เอกชนเข้ามาช่วย เร่งเทงบประมาณลงไปชุมชน เพราะต้องการให้มีการปฏิรูปในพื้นที่
การปฏิรูปต้องมีคานงัดสองคาน คือ “การปฏิรูปกฎหมาย-ปฏิรูประบบราชการ”
เพื่อนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ
คานงัดสองตัวนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ถ้าแก้ไม่ได้ต่อให้มีความคิดดีแค่ไหนก็ทำไม่ได้ หากยังไม่ปฏิรูประบบราชการ ฉะนั้นเวลาที่เหลือก่อนจะมีการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีพยายามปลดล็อกคานงัดสองคานนี้ หลายเรื่องจำเป็นต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 เพื่อผ่าทางตัน
และต่อให้กฎหมายเขียนดีอย่างไร ถ้าระบบราชการไม่ปฏิรูป รับรองไม่มีทางปฏิรูปประเทศสำเร็จ ระบบราชการในอนาคตต้องตอบโจทย์การสร้างภาครัฐที่น่าเชื่อถือ เป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงกัน มีสมรรถนะสูงและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ต่อไประบบราชการจะให้บริการตามความต้องการเฉพาะปัจเจกบุคคล โดยแต่ละบุคคลสามารถออกแบบ เลือกรูปแบบ วิธีการในการรับบริการได้ บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมโยงทุกส่วนราชการในการให้บริการประชาชน ให้บริการเชิงรุก นำเสนอบริการที่เหมาะสมแก่ผู้รับบริการแต่ละบุคคล ขอรับบริการได้หลากหลายช่องทาง ขอรับบริการได้หลากหลายบริการ ณ ช่องทางเดียว
การเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบค่าตั้งต้น สามารถนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนร้องขอ การใช้ แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆในการให้คำปรึกษา ร่วมตัดสินใจ ร่วมตรวจสอบ เพื่อสร้างความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภาครัฐ
การดำเนินงานที่ตอบสนองทันที ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีการคาดการณ์ วางแผนดำเนินงานล่วงหน้า มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญในหลากหลายสาขาวิชาและข้ามสาขาวิชา การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีประสิทธิภาพ การกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนและใช้ข้อมูลเชิงลึกเป็นหลัก การบูรณาการทำงานร่วมกันเชิงยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ระดับการวางนโยบายไปจนถึงการนำไปปฏิบัติ
การทำงานมีการเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทำงานสถานที่ใดก็ได้ทั่วทุกมุมโลก การใช้ประโยชน์หน่วยงานสนับสนุนร่วมกัน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ๆ
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติราชการ ต่อไปจะตั้งง่ายยุบง่าย มีการจ้างงานตามเงื่อนไขสัญญา ให้ความสำคัญกับประเด็นภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีโมเดลร่วมบริการจัดการในยุค 4.0 เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาคของประชาชน และความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน พร้อมวางรูปแบบการโอนอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นแบบมีเงื่อนไข
ภายใต้การบริการจัดการงบประมาณตามวาระการขับเคลื่อนและระดับการบริหารจัดการ จะทำให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาความซ้ำซ้อนของภารกิจและงบประมาณ สะท้อนภาพบูรณาการของภารกิจและงบประมาณ
เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
นับจากนี้ไปเราจะเดินหน้า “ปฏิรูปกฎหมาย-ปฏิรูประบบราชการ”
มันเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่ยากจะทำไปทำไม ถ้าคิดจะทำแต่เรื่องง่ายๆ ก็ลูบหน้าปะจมูกกันไป
ขอถามว่า ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำและไม่ทำวันนี้ เมื่อไหร่จะได้ทำ
อย่าถามว่า ทำได้หรือไม่ แต่ควรถามว่าจะมาช่วยให้มันเกิดขึ้น ได้อย่างไรจะดีกว่า
เพราะสิ่งที่ ป.ย.ป.ทำล้วนเป็นงานที่ยาก แถมถูกท้าทายพอสมควร
สำเร็จเมื่อไหร่ ประชาธิปไตยจะไม่หวนกลับไปสู่วงจรเดิมอีกต่อไป.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: