PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เพิ่มภูมิคุ้มกันประชาธิปไตยเพื่อประชาชน : "ปิด" ช่องทางปฏิวัติ

เพิ่มภูมิคุ้มกันประชาธิปไตยเพื่อประชาชน : "ปิด" ช่องทางปฏิวัติ

ผ่านฉลุยไปแล้วกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับแรก
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
มีผลสะเทือนตามมาแน่ คือ “กกต.ชุดนี้ถูกเซ็ตซีโร่”
และตามขั้นตอนเมื่อกฎหมายลูกผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องหรือ กรธ.พิจารณา
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องหรือกรธ. เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งประธาน สนช.ทราบภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง
และให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 11 คน ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ สนช. และ กรธ.ที่คณะ กรธ.มอบหมาย ฝ่ายละ 5 คน พิจารณาแล้วเสนอต่อ สนช.ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง เพื่อให้ความเห็นชอบ
ถ้า สนช.มีมติไม่ถึง 2 ใน 3 ให้ถือว่าเห็นชอบตามร่างที่ กรธ.เสนอ กรณี สนช.มี “มติไม่เห็นชอบ” ด้วยเสียงเกิน 2 ใน 3 ให้ร่างเป็นอันตกไป ตามขั้นตอนหากที่ประชุม สนช.ไม่เห็นชอบร่างกฎหมายลูกตามที่ กรธ.เสนอไป และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วมกันแล้ว ที่ประชุม สนช.ยังไม่เห็นชอบอีก
กรธ.ก็ต้องยกร่างใหม่ คราวนี้จะไม่มีระยะเวลากำหนด
ขณะที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เหลือ ทั้งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็จ่อเข้าที่ประชุม สนช.
ในสัปดาห์นี้ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองจะเข้าพิจารณาในวาระ 2-3 โดยหัวใจของกฎหมายต้องการให้เกิดการปฏิรูปการเมือง จะปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จได้อย่างไร พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า เราต้องการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง
เพราะที่ผ่านมาเผด็จการมีจุดเริ่มต้นจากพรรคการเมือง นำไปสู่เผด็จการรัฐสภา เกิดวิกฤติการเมือง
ถ้าต้องการหลุดพ้นจากวังวนเดิม จะต้องทำให้พรรคการเมืองเชื่อมโยงกับประชาชน โดยส่งเสริมให้สมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรค โครงสร้างหลักของพรรคการเมือง กรธ.กำหนดให้พรรคการเมืองมีคณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการสรรหาของพรรค สาขาพรรคและสาขาตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
โดยมีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขาประจำภาคต่างๆ ถ้าพรรคไหนมีสาขาเพิ่มขึ้น จะได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาการเมืองเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ขณะที่สาขาตัวแทนพรรคประจำจังหวัด กำหนดเอาไว้ชัดเจนเมื่อมีสมาชิกเกิน 100 คนอยู่ในเขตเลือกตั้งไหน จะต้องตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
พรรคการเมืองไหนจะส่งผู้สมัคร ส.ส. 350 เขต จะต้องมีสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดรวม 350 เขต เพื่อแต่ละเขตจะพิจารณาส่งผู้สมัคร ส.ส.
จะเห็นภาพชัดเจนว่าผู้สมัคร ส.ส.เขต จะต้องให้สมาชิกพรรคแต่ละเขตมีส่วนร่วมโหวตคัดเลือก ต่อไปผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนจะเดินเข้าหาประชาชน แทนที่จะไปง้อนายทุน กมธ.ทำการปลดแอกให้นักการเมืองแล้ว นี่แหละแนวคิดของประชาธิปไตย ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับฐานราก
ส่วน 150 ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปกติในอดีตนายทุนใหญ่ หัวหน้าพรรค ถูกผู้มีอำนาจภายในพรรควางตัวให้อยู่อันดับต้นๆ ผู้สมัครบางคนประชาชนอาจจะไม่ชอบ แต่ตามกติกาใหม่การวางตัวผู้สมัครจะได้ผู้ที่เหมาะและถูกวางอันดับตามที่คณะกรรมการสรรหาหรือตัวแทนพรรคการเมืองจังหวัดเลือก
ฉะนั้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองในปัจจุบันจะต้องไปจัดตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองจังหวัด สมาชิกพรรคเสียค่าบำรุงพรรค ส่วนพรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่ มีเวลา 1 ปี 4 เดือนในการเตรียมพร้อม ทันการเลือกตั้งครั้งใหม่แน่นอน
ตรงนี้ฝ่ายการเมืองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้สมาชิกพรรคจ่ายค่าบำรุงสมาชิก พล.อ.สมเจตน์ บอกว่า เมื่อสมาชิกมีความสำคัญ เป็นเจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริง มีอำนาจคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. คราวนี้ใครๆก็อยากเข้ามาเป็นสมาชิก จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งทุนประเดิมของพรรคการเมือง ค่าบำรุงพรรค
แม้ทุนประเดิมถูกโต้แย้งมาตลอด เพราะไปขวางกั้นประชาชนที่มีทุนน้อย แต่ต้องการเล่นการเมือง ตามร่างกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท สำหรับคนรวยมองเป็นเงินจำนวนน้อยนิด แต่สำหรับคนที่มีทุนทรัพย์น้อยก็มองว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาล กมธ.จึงแก้ไขให้พรรคการเมืองไม่ต้องมีทุนประเดิม เพราะต้องการเปิดให้ประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมืองได้
แต่ถ้าจะขอเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการเมือง พรรคการเมืองนั้นต้องลงทุนประเดิมก่อน นำเงินกองทุนพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาใช้ เป็นการป้องกันพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อขอทุนพัฒนาการเมือง และถ้าพรรคนั้นจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ก็ต้องมีทุนประเดิม เพราะผู้สมัคร ส.ส.มีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยที่สุดเป็นหลักประกันว่ามีเงินที่จะสนับสนุนใครลง ส.ส. จะได้ไม่ไปขอจากนายทุนจนตกเป็นขี้ข้าตั้งแต่เริ่มต้น
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองในปัจจุบันเกือบ 70 พรรค ต้องมีทุนประเดิม โดยตัดเงินก้อนหนึ่งไปเป็นทุนประเดิม ถ้าพรรคไหนไม่มีเงินก็จัดการให้มีทุนประเดิม เพื่อให้เข้าเงื่อนไขส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้
ส่วนจะเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่ที่ กกต. เมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง กกต.จะกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัคร ส.ส.ว่าอยู่ในวงเงินไม่เกินเท่าไหร่ เป็นตามสภาพเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ วงเงินนั่นแหละเป็นทุนประเดิม
ขณะที่ค่าบำรุงพรรค สภาพการเป็นสมาชิกเริ่มต้นตั้งแต่จ่ายค่าบำรุงตามบทเฉพาะกาลในปีแรกไม่น้อยกว่า 50 บาทต่อคน ต่อไปปีละไม่น้อยกว่า 100 บาท และจะสิ้นสภาพถ้าไม่จ่ายค่าบำรุงภายใน 2 ปี
กมธ.ไม่ได้มองที่จำนวนเงินค่าสมาชิก แต่ต้องการให้ได้ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกเข้ามา โดย กกต.จะอำนวยความสะดวก ไปประสานกับธนาคารของรัฐ ให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินผ่านธนาคารได้ เงินเข้าบัญชีของพรรคนั้นๆ กกต.จะรู้ด้วย เพราะระบบเทคโนโลยีสมัยนี้ทำได้แล้ว
นับจากนี้ไปจะรู้ว่าใครเป็นสมาชิกพรรคตัวจริงหรือสมาชิกพรรคตัวปลอม
พรรคการเมืองไหนมีสมาชิกจ่ายค่าบำรุงเยอะ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนตามสัดส่วนที่กำหนดไว้จากกองทุนพัฒนาการเมือง ถ้ามีสมาชิกพรรคจ่ายค่าบำรุงน้อยก็จะได้รับเงินสนับสนุนน้อยตามสัดส่วนเช่นเดียวกัน
ทีมการเมือง ถามว่า กติกาพรรคการเมืองฉบับใหม่ เอื้อต่อพรรคการเมืองของทหารที่จะตั้งขึ้นมาอย่างไร พล.อ.สมเจตน์ บอกว่าไม่เอื้อ พรรคทหารตั้งใหม่ก็ต้องทำอย่างพรรคการเมืองทั่วๆที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ ถ้าจะมาพูดถึงทหารเล่นการเมืองต้องแยกออกจากประเด็นนี้ เดี๋ยวจะเข้าใจผิด
กระบวนการทั้งหมดที่น่าสนใจ คือ พรรคใหญ่ พรรคเก่า ไม่ได้เปรียบพรรคเล็ก พรรคใหม่ แม้คนใหญ่ที่มีทุนหนาได้เปรียบคนเล็กอยู่เสมอ ไม่ว่ากติกาจะเป็นอย่างไร แต่อย่าไปดูถูกพรรคเล็ก เพราะเคยเกิดขึ้นในสมัยพรรคไทยรักไทย ตั้งพรรคแค่ปีกว่าได้เป็นรัฐบาล แล้วตรงไหนละที่มันได้เปรียบ ทั้งหมดอยู่ที่การเตรียมการและอยู่ที่วิธีคิด
ทั้งหมดจะแก้ไขปัญหาวิกฤติการเมืองก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 เพราะเมื่อพรรคการเมืองขับเคลื่อน จะไปกระตุ้นประชาธิปไตยฐานราก ยิ่งประชาชนเข้าไปเป็นเจ้าของพรรค ยิ่งทำให้นักการเมืองทำดีเพื่อประชาชน
เมื่อนักการเมืองดี สุดท้ายทหารก็ไม่ปฏิวัติ นี่แหละเป็นยาสูตรเด็ดป้องกันการปฏิวัติ
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ทำไมทหารไม่เหมาะที่จะเล่นการเมือง พล.อ.สมเจตน์ บอกว่า ทหารเป็นคนพูดจริง ทำจริง พูดน้อย ก้มหน้าก้มตาทำงาน ประชาชนจึงไม่ค่อยรู้ จึงตกเป็นช่องให้อีกฝ่ายหนึ่งนำจุดเล็กๆมาโจมตีได้
ตามประวัติศาสตร์ทหารไม่เหมาะกับการเมือง ซึ่งเห็นมาหลายครั้งแล้ว และที่ผ่านมาวงจรอำนาจของไทยมีสามวงที่สำคัญ คือ ทหารกลัวประชาชน ประชาชนกลัวนักการเมือง นักการเมืองกลัวทหาร สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจนประชาชนใช้คนมากมายเท่าไร ล้มนักการเมืองไม่ได้ แต่ทหารใช้กำลังคนไม่เท่าไรก็ยึดนักการเมืองได้
ฉะนั้นวันนี้ฐานของประเทศคือประชาชน นักการเมืองเมื่อได้รับอำนาจแล้วจะต้องบริหารประเทศด้วยความชอบธรรม ครั้งต่อไปประชาชนจะเลือกเข้ามาเอง รับรองไม่มีการเรียกร้องทหารให้ออกมาปฏิวัติ
เมื่อนักการเมืองมีพฤติกรรมดี
จะป้องกันการปฏิวัติได้ดีที่สุด.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: