PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

มุ่งมั่นเต็มร้อย ปฏิบัติป้อแป้

มุ่งมั่นเต็มร้อย ปฏิบัติป้อแป้

จับอาการผู้นำอำนาจ “ปีที่ 4” ไม่มีอะไรง่าย

ฝนตกชุกมาตั้งแต่ต้นฤดู กรมอุตุนิยมวิทยาคาดฝนตกหนักทั่วทุกภูมิภาคช่วงวันที่ 14-18 กรกฎาคม

เช่นเดียวกับฤดูแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่มาเร็วกว่าทุกปี

ตามรูปการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.สั่งการให้ทุกหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ เร่งทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม

โดยมีการมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย รวบรวมรายชื่อข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารหน่วยงานรัฐทั้ง 14 หน่วยงาน ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์

นั่นหมายถึงไม่เกินสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ทุกอย่างต้องเรียบร้อย

ทั้งในหมวดของข้าราชการพลเรือน กระทรวงต่างๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีในส่วนของกองทัพ

ตามเงื่อนสถานการณ์ที่ประเมินได้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเร่งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพราะมันโยงกับเงื่อนเวลาการบริหารราชการแผ่นดินที่กำลังเข้าสู่ห้วงปีที่ 4 เทอมสุดท้ายของ คสช.

รัฐบาลทหารต้องเร่งเครื่องปั่นเนื้องานให้เห็นเนื้อเห็นหนัง

แต่นั่นไม่เท่ากับการเน้นความเรียบร้อยก่อนพระราชพิธีสำคัญในเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ตาม ถ้าจับอารมณ์ พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวกรณีที่สื่อมวลชนเสนอข่าวโผการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพที่มีการเปิดชื่อขุนทหารในตำแหน่งต่างๆ

พูดกันแรงๆแบบว่า สื่ออยู่ในคณะกรรมการแต่งตั้งหรือไม่ ถ้าไม่อยู่ก็ไม่ต้องมายุ่ง

เขียนกันทุกวัน ถ้าไม่ได้ขึ้นมาก็ให้ไปฟ้องสื่อเลยแล้วกัน

มันก็เป็นอะไรที่สะท้อนปมคุกรุ่นในจิตใจ ล้อไปสถานการณ์ปัญหายากๆตรงหน้า

ในมุมของข้าราชการพลเรือน โฟกัสไปที่กระทรวงมหาดไทยที่มีกระแสการวางตัวปลัดกระทรวงคนใหม่ไว้ค่อนข้างชัวร์ แต่ก็ยังมีแคนดิเดตอีก 2–3 คนที่อาวุโสและระดับเทียบเท่ากันไม่มีตำแหน่งลง

ทำให้มีข่าวหลุดออกมาในทำนองโยกย้าย
“ข้ามห้วย” คนของมหาดไทยจะกระโดดไปนั่งกิน ตำแหน่งปลัดกระทรวงที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

แต่ก็ถูกขวางลำจากเจ้าถิ่นเต็มที่ ไม่ลงล็อกลงตัวง่ายๆ

นั่นก็ทำให้อาการหงุดหงิดลามไปถึง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่เสียงแข็งใส่นักข่าวเมื่อโดนจี้ถามปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวง

โยงถึงยุทธการ “ล้วงลูก” ข้ามห้วย

ขณะที่ในส่วนของกองทัพที่ดูจะสงบเงียบกว่า
ทุกปี ว่ากันตามโพยที่รั่วออกมา

ตามเงื่อนไขที่ลงล็อกในส่วนของกองทัพบก “บิ๊ก เจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. นิ่งอยู่ต่อในตำแหน่งอีก 1 ปี เพราะเกษียณปีหน้า ขณะที่แม่ทัพภาค
ที่ 1 อย่าง พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กับ พล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.
เลื่อนตำแหน่งเข้าไลน์ “5 เสือ ทบ.” จ่อเก้าอี้จ่าฝูงกองทัพบก

ขณะที่ทีมขุนศึกบูรพาพยัคฆ์ อย่าง “บิ๊กเข้” พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ โยกข้ามห้วยไปนั่งตำแหน่งปลัดกลาโหม

เช่นเดียวกับบรรดาน้องรักของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็ต้องเปลี่ยนไลน์ออกนอกหน่วยกองทัพบก

ตามเส้นทางอำนาจที่ขาดตอนไปตั้งแต่ “นักรบหมวกแดง” มายึดจ่าฝูง

แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ความชัวร์ของการคุมเกมอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ทีมงาน คสช.ก็ต้องหวังจัดกำลัง
คุ้มกันหลังที่ไว้วางใจให้ได้มากสุด

ปัญหาอยู่ที่ตัวแปรอีกหลายชั้น พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย
โอกาสที่จะวางคนตามยุทธศาสตร์ จึงทำไม่ได้ง่ายๆ

เจอโจทย์ยากอยู่แล้ว ยังมาเจอคิวโผรั่วออกมาตัดหน้า เท่ากับยิ่งกดดัน

นั่นก็เลยเป็นที่มาของอาการนอตหลุดเป็นธรรมดา

โดยปรากฏการณ์ที่เห็นได้เลยว่า แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การวางอำนาจในกองทัพ การจัดวางยุทธศาสตร์ในการรองรับอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ได้ทำกันง่ายๆ

แต่ที่ยากกว่าสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือการบริหารท่ามกลางปัญหารุมเร้ารายวัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ ตามรูปการณ์แบบที่ชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้
ส่งเสียงคำรามฮึ่มๆจะไม่ทนกับรัฐบาล คสช.อีกต่อไป ส่งเสียงโห่ ตะโกนไล่ให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่มีฝีมือ แก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรไม่ได้
ฉุดเครดิตฟอร์มบริหาร กดทับซ้ำสภาวะเศรษฐกิจ

โดยสถานการณ์ย้อนแย้งกับการเดินหน้าจัดซื้ออาวุธของกองทัพที่ผ่านมติ ครม.แทบจะรายสัปดาห์ ล่าสุดเป็นคิวของการจัดซื้อเครื่องบินฝึกขับไล่ T–50 TH จากประเทศเกาหลีใต้ มูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท

เกษตรกรเดือดร้อน แต่รัฐบาลมือเติบ ช็อปอาวุธมันมือ

นี่คือปมอันตรายที่ “บิ๊กตู่” ต้องออกแรงเคลียร์กระแส

ตามรูปการณ์ ไม่เว้นแม้แต่คดีฆาตกรรม 8 ศพที่อ่าวลึกจังหวัดกระบี่ ที่มีประเด็นของ “คนมีสี” เข้าไปเกี่ยวข้องก็มีการตั้งคำถามกับผู้นำรัฐบาลทหาร คสช.

ทุกอย่างล้วนพุ่งตรงมาถึงตัวของ พล.อ.ประยุทธ์

โดยสถานะของจุด “ศูนย์รวมอำนาจ” ที่หนีไม่ออก

เรื่องของเรื่อง โดยห้วงสถานการณ์ผ่านปี 3 ของคสช. เข้าสู่ปี 4 ท้ายเทอมรัฐบาล ตามเงื่อนเวลาโดยธรรมชาติทางการเมืองทั่วไป ที่สังคมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

ไม่อินกับ “มุกเก่า” คืนความสุข ที่เฝือมา 3 ปีแล้ว

ขณะที่ผลงานรัฐบาล คสช.ก็ยังไม่เห็นเนื้อเห็นหนังอย่างที่ประชาชนคาดหวังไว้

อีกทั้งตามรูปการณ์ที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่

ก็รู้คำตอบสุดท้ายกันแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสสูงที่จะคัมแบ็กเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบหลังเลือกตั้ง

คุมเกมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านไปอีกอย่างน้อย 4–5 ปี

นี่ก็เป็นจุดล่อเป้าให้นักการเมืองส่วนใหญ่ดาหน้าถล่มดิสเครดิต

เตะตัดขาผู้นำท็อปบูตกันทุกวิถีทาง

เรื่องของเรื่อง ลำพังแรงเสียดทานจากภายนอก ตามเหลี่ยมเกมอำนาจที่ พล.อ.ประยุทธ์หนีไม่พ้นโดนจองกฐินถล่มทั้งจากนักการเมืองและฝ่าย

ต้านอำนาจพิเศษ นั่นก็เหนื่อยพอดูแล้ว

แต่การทำตัวเองให้เข้าใกล้ “จุดเสื่อม” ก็ยิ่งเหนื่อยเข้าไปใหญ่

กับภาพของผู้นำอำนาจพิเศษ “หลักลอย” สะท้อนจากมาตรา 44 ที่ชักเข้าชักออก

ไม่ว่าจะเรื่องของ พ.ร.ก.ต่างด้าวสดๆร้อนๆ หรือย้อนกลับไปประเด็นการห้ามนั่งกระบะท้าย ที่ประกาศแล้วต้องชะลอการบังคับใช้

เสียฟอร์มรัฐบาลอำนาจพิเศษ

หรือกรณีของโครงการรถไฟความเร็วสูง

ที่ทอดเวลาในการตัดสินใจ ไม่ยอมเคาะโต๊ะจะเอาหรือไม่เอา ยื้อมาจนทางรัฐบาลจีนอึดอัด เริ่มไม่พอใจ กระตุกด้วยมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ

ถึงจะตาลีตาเหลือกตัดสินใจใช้ ม.44 เปิดหวูดเดินหน้า

ไหนจะเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่ยื้อมานาน ไม่มีการฟันธง ตามอาการงงๆให้นโยบายกับฝ่ายปฏิบัติอย่างหนึ่ง แต่พอถึงจังหวะที่เอ็นจีโอกลุ่มต้านออกมาขวางลำ ก็ชะลอเกียร์ว่าง ไร้ทิศทาง ขาดความชัดเจนจะไปทางไหน

ทั้งๆที่ความมั่นคงทางพลังงานเป็นปมสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

นี่ยังไม่นับข้อจำกัดเรื่องของการใช้คนไม่ถูกกับสถานการณ์ติดล็อกเพื่อน พ้อง น้อง พี่ ลูกเกรงใจไม่กล้าขยับปรับเปลี่ยนจุดที่เป็นปัญหาในเชิงบริหาร

อีกด้านหนึ่งก็เจอกับอิทธิฤทธิ์ของทีมงาน “แม่น้ำ 5 สาย” สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีแต่พวกร้อนวิชา เล่นบทหนุมานเหาะเกินกรุงลงกา ในอารมณ์ของพวก “ลากตั้ง” ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

จุดชนวน สร้างปมยากๆให้เคลียร์กันไม่หยุดหย่อน

ว่ากันตามปรากฏการณ์ ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้คะแนนความมุ่งมั่นเต็มร้อย

แต่ปัญหาในภาคปฏิบัติที่ป้อแป้ ก็ทำแต้มหายไปเยอะ

ที่แน่ๆสถานการณ์ผ่านปี 3 เข้าปี 4 การบริหารประเทศไทย ไม่ใช่คุมค่ายทหาร

รู้แล้วสินะว่า มันไม่ง่าย.

“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: