PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

แกะรอยทางลึกหมากการเมือง “ประยุทธ์” ตีตั๋วต่อ : เกมต่อรองอำนาจสมประโยชน์

แกะรอยทางลึกหมากการเมือง “ประยุทธ์” ตีตั๋วต่อ : เกมต่อรองอำนาจสมประโยชน์

ห้วงฤดูมรสุมกระหน่ำทั่วโลก

สหรัฐอเมริกา คิวบา โดนเฮอริเคน “เออร์มา” พัดถล่มเสียหายอย่างหนัก เมืองใหญ่จมบาดาล สร้างความเสียหายมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนอเมริกัน

ส่วนที่เมืองไทย กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนพายุโซนร้อน “ทกซูรี” ที่เข้าถล่มประเทศเวียดนามช่วงวันที่ 15-16 กันยายน โดยให้ประชาชนทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก
จากสถานการณ์ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกภูมิภาค

โดยสภาวการณ์ของภัยธรรมชาติที่ต้องคอยจับตาอยู่เป็นระยะ เช่นเดียวกับภัยทางด้านความมั่นคงที่เผลอไม่ได้ ล่าสุดเกิดเหตุลอบวางระเบิดที่จังหวัดยะลา ทำให้หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอีก 20 กว่าคน

โจรใต้เหิมเกริม กลับมาปฏิบัติการท้าทายอำนาจรัฐ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบสัปดาห์ โฟกัสอยู่ที่ฉากสำคัญที่นายฮิโรชิกเงะ เซโกะ รมว.เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) นำคณะภาครัฐและเอกชนเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

ในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ 130 ปี ทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งหารือลู่ทางการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย

โดยมีการนำคณะนักลงทุนทั้งหมดลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจ และการพบปะกันระหว่างคณะใหญ่ของญี่ปุ่นกับฝ่ายไทยที่มีการระดมเจ้าสัวตระกูลใหญ่ที่คุมเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งกลุ่มซีพี เจ้าสัวเบียร์ช้าง ค่ายเบียร์สิงห์ สหพัฒนฯ กลุ่มเซ็นทรัล ฯลฯ

แน่นอน มันคือยุทธศาสตร์สำคัญในการกระตุกโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ

แบบที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ แสดงความมั่นใจว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย เหนือคู่แข่งในภูมิภาคทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย

เป็นสัญญาณเชิงบวกในมิติที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ

ตามรูปการณ์ที่สะท้อนว่า เศรษฐกิจเริ่มเห็นผลในเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล คสช.ที่เดินมาถูกทาง

ในขณะที่โรดแม็ปทางการเมืองก็คืบหน้าไปอีกขั้นตอนสำคัญ ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560

โดยบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ พ้นตำแหน่ง แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่า กกต.ใหม่ ที่เพิ่มเป็น 7 คนเข้ารับหน้าที่ และภายใน 20 วันนับแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ ให้ตั้งคณะกรรมการสรรหาฯเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาฯ และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็น กกต.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้

ว่ากันตามเงื่อนเวลาน่าจะเห็นโฉม 7 เสือ กกต.ใหม่ในเดือนธันวาคม 2560 และจะสิ้นสุดกระบวนการชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า 2561

และแน่นอน การกำเนิด กกต.ชุดใหม่ต้องผูกโยงกับกระแสการเลือกตั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ยังต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับที่สำคัญ นั่นคือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง

ตามสถานการณ์ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรีเพิ่งนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ขณะที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ประมาณเดือนธันวาคม 2560

ยังต้องรอลุ้นกฎหมายลูก องค์ประกอบเลือกตั้งกันอีกพักใหญ่

และในระหว่างนั้นก็ยังมีกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรอิสระที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเซ็ตซีโร่ เทียบมาตรฐานกับการล้างไพ่ กกต.

ซึ่งก็เป็นอะไรที่ชัดเจน การล้างไพ่องค์กรอิสระไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามรูปการณ์ที่หลายองค์กรก็ยังมีแนวโน้มได้รับการคงสภาพตามเดิมไว้ ไม่มีการล้างกระดาน

ตามสถานการณ์ที่อิงอยู่กับยุทธศาสตร์ของฝ่ายออกแบบกติกา

ต้องอาศัยเหลี่ยมอำนาจแฝงองค์กรอิสระในการคุมเกมทางการเมือง

เรื่องของเรื่อง คสช.ก็ต้องเลือกแนวทางเพื่อกุมสภาพความได้เปรียบไว้ให้ได้มากสุด

คุ้มกันเส้นทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จนสุดโรดแม็ป

ในจังหวะที่นักการเมืองอาชีพเริ่มขยับตัวแรงขึ้นตามเงื่อนไขสถานการณ์ห้วงท้ายเทอมรัฐบาล

ทุกป้อมค่ายช่วยกันตีปี๊บ กระตุกกระแสเร้าการเลือกตั้ง

อย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตีกัน ดักทาง “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส.จะแหกค่ายออกไปตั้งพรรคใหม่

สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ คัมแบ็กนายกฯอีกรอบ

ประกอบกับความเคลื่อนไหวที่เซียนการเมืองตามแกะรอยจากกรณีแปร่งๆที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จัดฉากการแถลงขอโทษ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯกทม.ว่าด้วยความเข้าใจผิดในประเด็นการทุจริตโครงการตกแต่งไฟของ กทม.

ส่อแนวล้างคราบไคลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมแต่งตัวลงสนามเลือกตั้ง เป็นอีกหนึ่งความหวังสำคัญตามสถานะ “ท่อน้ำเลี้ยง” ของทีมงาน“ลุงกำนัน”

อีกด้านหนึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ประกาศกลางงานวันเกิดครบรอบ 51 ปี พร้อมนำค่ายภูมิใจไทยลงสนามเลือกตั้งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยมีนายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำพรรค หนุนสุดตัว ให้หัวหน้าพรรคประกาศเป็นนายกรัฐมนตรี

ปั่นดีกรีขึ้นชั้นเทียบแคนดิเดตกับ “นายกฯลุงตู่”

ในจังหวะที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาจุดพลุ “รัฐบาลแห่งชาติ” เสนอสูตรอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน เปิดฟลอร์

ให้นักการเมืองอาชีพทุกป้อมค่ายตามแห่

โหนกระแส บอกปัด “องุ่นเปรี้ยว” กันคึกคัก

โดยสถานการณ์หักมุมกับเกมตีตั๋วลากยาว เพราะเอาเข้าจริงนักการเมืองก็ยังทางใครทางมัน

พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่มีฐานการเมืองสนับสนุนชัดเจน

อีกทั้งในห้วงจังหวะฐานกำลังคุ้มกันก็สั่นคลอน

ตามเงื่อนไขสถานการณ์แบบที่ “พี่รอง” อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กลายเป็นเป้าตำบลกระสุนตก โดนทั้งเรื่องยกป่าชุมชนให้กลุ่มทุน ซ้ำด้วยเรื่องเรือเหาะเรือเหี่ยว

ถึงขั้นเครียดหน้าดำหน้าเขียว

ขณะที่ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ก็หนีไม่พ้นภาวะหวาดระแวงเกมฮั้ว ยุทธการเกี้ยเซียะกับ “ทักษิณ”

และที่ได้ยินกันตลอดกับปมคนแวดล้อมใกล้ชิด “พี่ใหญ่” ไปขบเหลี่ยมกับสายตรง “น้องเล็ก”
มีปมกระตุกอาการ “ทางใจ” กันเป็นระยะ

แน่นอน โดยสถานการณ์ที่ดูเสมือนหนึ่งว่า ขุมอำนาจ คสช.กำลังแกว่งจากภาวะตำบลกระสุนตกที่เบี่ยงจาก “พี่ใหญ่” ไปหา “พี่รอง” ตอกย้ำด้วยการขบเหลี่ยมระหว่างคนในแวดวงใกล้ชิดศูนย์อำนาจ
สั่นสะเทือนฐานที่มั่นของ “นายกฯลุงตู่”

ขณะที่นักการเมืองอาชีพก็ฉวยสถานการณ์ห้วงท้ายเทอมรัฐบาลกระแทกรัฐบาล ตีปี๊บโหมเลือกตั้ง
จังหวะขุมอำนาจพิเศษสั่นคลอนจากแรงกระแทกภายนอกและภายใน

แต่ทั้งหมดทั้งปวง ประเมินจากยุทธศาสตร์ที่วางหมากลากยาวกันมาในห้วง 3 ปี จุดแข็งฝ่ายคุมกติกาอยู่ที่การสร้างระบบคุมผลการเลือกตั้ง ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และองค์อิสระ

ไม่ว่าจะออกสูตรไหน คสช.ก็กินรวบ

ทุกฝ่ายก็รู้คำตอบสุดท้าย โดยทางยาวๆเกมนี้ก็ยังเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์

แรงกระเพื่อมจากภายนอกและอาการกระเพื่อมภายใน มันก็แค่การ “เขย่า” เกมอำนาจ

เพื่อให้เกิดการสมประโยชน์ทุกฝ่ายก็เท่านั้น.


“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: