PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560

ดักยังไง 'ลุงกำนัน' ก็ชิ่ง

ดักยังไง 'ลุงกำนัน' ก็ชิ่ง

“ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดกันช่วงนี้”

จับทาง “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. บอกปัดคำถามกรณีนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ไม่ตอบรับ แต่ก็ไม่ปฏิเสธซะทีเดียว

ในเหลี่ยมเชิงที่อ่านกันได้ว่า “อุบไต๋” ไม่รีบหงายไพ่เล่น

และก็เป็นอะไรที่ยังเลือกเล่นแต้มได้ ในมุมของการตั้งรัฐบาลแห่งชาติอาจไม่ได้ไปว่ากันหลังเลือกตั้งอย่างที่นักการเมืองอาชีพทุกป้อมค่ายออกมาตีขลุม ชิงจังหวะตีกิน

บอกปัด “องุ่นเปรี้ยว” กันตามฟอร์ม

ทั้งๆที่โดยจังหวะใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ในมุมถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจปรับยุทธศาสตร์การบริหารในช่วงท้ายเทอมรัฐบาล ด้วยการปรับ ครม. ลดโควตาทหาร ดึงมือบริหารอาชีพเข้ามาช่วยงาน

ลดแรงเสียดทานรัฐบาลท็อปบูต

แบบที่สัมผัสได้ถึงแรงปะทะที่พุ่งเข้าใส่ ทั้ง “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม “พี่รอง” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ “เพื่อนรัก” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ล้วนแต่คนรอบตัว ตีวงแคบเข้าไปทุกขณะ

หนีไม่พ้นแรงกระแทกชิ่งถึง “นายกฯลุงตู่” เต็มๆ

ตามรูปการณ์ที่ชักจะแยกโจทก์ไม่ออก โดนทั้งฝั่งตรงข้ามลูกข่าย “ทักษิณ” และแนวร่วมฝั่งเดียวกันอย่างพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายม็อบพันธมิตรฯ ที่หันมาล่อกันเอง

อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่การเมืองยังไม่ชัวร์ ปฏิทินเลือกตั้งยังไม่ชัด

แต่ถ้าโฟกัสจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ที่พูดโน้มน้าวให้คณะใหญ่ของรัฐมนตรีและนักลงทุนญี่ปุ่นเร่งตัดสินใจลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) พรุ่งนี้ มะรืนนี้

อยากให้เกิดขึ้นในปี 2560 หรือ 2561 เป็นอย่างช้า

โดยเฉพาะการเน้นย้ำเรื่องของความยั่งยืนของนโยบายรัฐบาล คสช. มีความต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพราะประเทศไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ไว้ 20 ปีข้างหน้าแล้ว

ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ต้องทำโครงการอีอีซี ตอนนี้ถือว่าเรามีเสถียรภาพมากที่สุด

นี่คือจุดที่สะท้อนให้เห็นยุทธศาสตร์ของทีม “นายกฯลุงตู่”

มั่นใจเกมยาว “เอาอยู่” ทุกช็อต ล็อกหมากได้ทุกสูตรการเมือง

และตามสถานการณ์ที่โยงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กับปรากฏการณ์ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาดักทางดักคอ เป็นนัยตีปี๊บให้จับตา “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. จะออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่

ฮั้ว คสช. รองรับ “นายกฯลุงตู่” เบิ้ลเก้าอี้นายกฯรอบสอง

เรื่องของเรื่อง มันมีที่มาที่ไปกับกระแสข่าววงในก่อนหน้านั้น “ลุงกำนัน” เป็นผู้รับอาสาในการ “ส่งสาร” หยั่งเชิง “อภิสิทธิ์” ให้นำพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับ “นายกฯลุงตู่” หลังการเลือกตั้ง

แต่ก็ต้องถอยกรูด กลับมาดีดลูกคิดกันใหม่

เพราะเจอ “อภิสิทธิ์” ยื่นเงื่อนไขยากๆเลยว่า ถ้าจะให้นำทีมประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องล้มเมกะโปรเจกต์ ที่วางไว้หลายโครงการ

สรุปคือไม่เอา “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ กัปตันเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นตัวชูโรงของรัฐบาล คสช.
นั่นก็หมายถึงการปิดประตู “ลงกลอน” โอกาสที่จะร่วมงานกับทีม “ลุงตู่” เพราะอย่างที่รู้กันอยู่ว่าจุดขายสำคัญที่เป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลทหาร คสช.มาถึงจุดนี้ได้

มันอยู่ที่การวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจโดย “จอมยุทธ์กวง”

อย่างไรเสีย คสช.ก็ไม่เลือกเดินตามแนวทาง “กลวงๆ” ของ “อภิสิทธิ์”

นั่นก็เป็นเหตุที่มา ทำให้ “ลุงกำนัน” เลือกที่จะแหกค่ายออกไปตั้งพรรคใหม่ หวังเจาะฐานคนรุ่นใหม่ในปักษ์ใต้ แบ่งส่วนตลาดของยี่ห้อประชาธิปัตย์ที่ผูกปีตีกินเฉพาะคนรุ่นเก่า

บวก ลบ คูณ หาร กันแล้ว ก็คุ้มกับการเสี่ยงไปตายดาบหน้า

เพราะยังไงก็การันตีพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน.

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: