PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560

ฐานเสียง คะแนน เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ปัจจัย ‘เลือกตั้ง’

ฐานเสียง คะแนน เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ปัจจัย ‘เลือกตั้ง’



ความเชื่อที่ว่าหลังการหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทย

เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ “ถดถอย”

ความเชื่อนี้ไม่เพียงแต่ในหมู่ปัญญาชน นักวิชาการส่วนหนึ่งที่เอนเอียงไปทางพรรคเพื่อไทย เอนเอียงไปทาง นปช.คนเสื้อแดงเท่านั้นที่เชื่อ

พรรคประชาธิปัตย์ก็เชื่อ

นั่นก็เห็นได้จากการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกโรงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อาจเพราะได้ “อภินิหาร” ในทาง “กฎหมาย”

ถึงกับแสดงออกในเชิงผ่อนปรนทางการเมืองไม่เพียงแต่ต่อ คสช. หากพร้อมที่จะยอมรับท่าทีใหม่อันมาจากพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

มีแต่คนที่เหนือกว่าเท่านั้นที่คิดแบบนี้

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างไปจากพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยนั้น คัดค้าน ต่อต้าน อย่างแข็งกร้าว

พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาท พรรคร่วม” ด้วยในระดับที่แน่นอน อาจคลุมเครือเมื่อปี 2549 แต่แจ่มชัดอย่างเห็นเป็นรูปธรรมในปี 2557

นั่นเพราะถือว่าฝ่ายของตนได้ประโยชน์

อย่างน้อยก็ประเมินว่ากระบวนการรัฐประหารส่งผลให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอและยากลำบากในการจะขยับขับเคลื่อน

ถึงอย่างไรพรรคพลังประชาชนก็ไม่น่าแข็งเท่าพรรคไทยรักไทย

ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ไม่น่าแข็งเท่าพรรคพลังประชาชน อย่าว่าแต่จะนำไปเทียบกับพรรคไทยรักไทยเลย

จุดนี้คือความได้เปรียบของพรรคประชาธิปัตย์

กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์อาจลืมคิดหรือมองข้ามสภาพความเป็นจริงในทางการเมืองอันเนื่องแต่รัฐประหารไป

นั่นก็คือ “ชาวบ้าน” คิดอย่างไรต่อ “รัฐประหาร”

เป็นไปได้ว่าน่าจะมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” มิฉะนั้น เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 ก็ยังมีรัฐประหารอีกในปี 2557

เพียงแต่เปลี่ยนจาก “พันธมิตร” มาเป็น “กปปส.”

กระนั้นก็ยังมี “ชาวบ้าน” อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเลยกับกระบวนการ “รัฐประหาร” ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ตาม

ถามว่าชาวบ้านส่วนนี้ขยาย “ปริมาณ” หรือไม่

ถามว่าชาวบ้านส่วนนี้หากขยายปริมาณมากขึ้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาจากส่วนที่เคยเห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” 2 ครั้งที่ผ่านมา

ตรงนี้คือ ความละเอียดอ่อนของ “สภาพการณ์”

ตรงนี้คือ ปัจจัยอันจะทำให้ผลการเลือกตั้งเมื่อปรากฏจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ หรือว่าเป็นของพรรคเพื่อไทย

การที่ คสช.ยังไม่มีความแจ่มชัดในเรื่องกำหนดวาระแห่ง “การเลือกตั้ง” เท่ากับเป็นเงาสะท้อนว่า คสช.เองก็อยู่ระหว่างการประมวลและวิเคราะห์

โดยมีจุดเริ่มต้นจาก “ผลงาน” และความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ก็มีรากฐานมาจากความไม่แน่ใจว่า “ฐานเสียง” ของพรรคประชาธิปัตย์เชิงเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยดำเนินไปอย่างไร

“ฐานเสียง” และความนิยมนั่นแหละคือปัจจัยชี้ขาด

ไม่มีความคิดเห็น: