PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เลือกตั้ง "อย่ามองข้าม" เรื่องสำคัญ

รู้จักกันแต่ "ฆ่าตัดตอน" โจรผู้ร้าย
เพราะอย่างนั้น.........
พอนายกฯ ประยุทธ์บอก "จะประกาศวันเลือกตั้งในปี ๒๕๖๑"
เลยทึกทักจับกระเดียดกันไปว่า ที่นายกฯ พูดหมายถึง
"ปีหน้า...คือปี ๒๕๖๑ มีเลือกตั้ง"
มัน "คนละเรื่องเดียวกัน" แท้ๆ เลย!
นั่นเพราะ รู้จักกันแต่ "ฆ่าตัดตอน" ทางอาชญากรรม ก็เลยนำความเข้าใจนั้นมา รวบรัด "ตัดตอน" ทางเลือกตั้ง!
เรื่อง "เลือกตั้ง" นั้น...........
ในหัวเลี้ยว-หัวต่อแผ่นดินของไทยตอนนี้ ถึงมีกรอบกำหนดว่าด้วยการเลือกตั้งไว้ก็จริง
แต่กว่าจะไปถึงขั้นตอน "กำหนดวันเลือกตั้ง" ได้
ยังต้องผ่านกรรมวิธีและกระบวนการ "ตามขั้นตอนกฎหมาย" อีกมากมายหลายอย่าง
ตรงนี้แหละ ต่อให้องค์รัฏฐาธิปัตย์ หรือประธาน สนช.ใครก็จะชี้เปรี้ยงลงไปว่า
วันนี้-ปีนี้-เดือนนี้ "เลือกตั้ง" นะ ในตอนนี้
ยัง "ทำไม่ได้"!
ทำได้เพียงอย่างที่นายกฯ "พูดกว้างๆ" ที่อเมริกา คือพูดตามขั้นตอน
เมื่อกฎหมายลูก อย่างน้อย ๔ ฉบับ ว่าด้วยการเลือกตั้งประกาศใช้ "วันไหน" แล้ว
นับจาก "วันนั้น" แหละ
กระบวนการเลือกตั้ง "เริ่มนับ ๑" ทันที ซึ่งจะบอกได้ว่า วันนั้น-วันนี้เลือกตั้ง!
แต่...เราทั้งหลายต้องไม่ลืม............
ประเทศไทยเรา อยู่ในช่วง "รอยต่อแผ่นดิน" ใช่ว่ามุ่งแต่จะเลือกตั้ง หวังอยากรู้-อยากเห็น-อยากได้ "รัฐบาลใหม่" กันอย่างเดียว ว่า
"ใครเป็นนายกฯ?"
ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนนั้น รวมถึงขั้นตอนมี "รัฐบาลใหม่" เข้าบริหารประเทศ มันต้องใช้เวลาอีกยาวไกล
มันเป็น "ความยาวไกล" สัมพันธ์กับ "เรื่องสำคัญ" เฉพาะหน้าของบ้านเมืองเรา ที่ความสำคัญอื่นจะมาเหนือกว่าไม่ได้
เพราะอย่างนั้น...........
นายกฯ ประยุทธ์จึงพูดได้เพียง "กรอบกว้าง" ซึ่งผมมองว่า ไม่ใช่การเล่นลิ้น-ปลิ้นประเด็น เพื่อความยาว-ความสั้น ในการอยู่ทำหน้าที่รัฐบาล
ลองอ่านดู ที่นายกฯ บอกกับคนไทย ที่อเมริกา..............
".........พอประกาศวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะวันอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องใช้เวลาอีก ๑๕๐ วัน
คืออีก ๓ เดือน ๕ เดือน เรื่องของพรรคการเมือง การลงบัญชี การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง การหาเสียง
พอเสร็จแล้ว ได้ ส.ส.ก็ต้องตรวจสอบใบเหลือง-ใบแดง พอเสร็จก็เป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล ตั้งสภาฯ ทั้ง ส.ว.และ ส.ส.
ส่วนการตั้งรัฐบาล ต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๕-๖ เดือน ก็จะไปต้นปี ๒๐๑๘ ตามโรดแมปคือ ๒๐๑๘ กว่ากระบวนการจะเสร็จ
ใช่ว่า "เลือกตั้งวันนี้" แล้วรัฐบาลจะมาเลย......
มันไม่ใช่
เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นกระบวนการเลือกตั้ง คือประกาศวันเลือกตั้ง มันมีกฎหมายอยู่ ทำเสร็จมา ๒๔๐ วัน
ต้องทูลเกล้าฯ ถวายอีก ๙๐ วัน...........
ลงมาแล้ว ประกาศใช้ มีผลเมื่อไหร่ ถึงจะมาทำต่อได้ทั้งหมด!
มีอีกตั้งหลายอย่าง รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก ที่กระทรวงมหาดไทยต้องดำเนินการ ฯลฯ"
นั่นคือ ต้นธันวา.นี้ จะครบ ๒๔๐ วัน "กฎหมายลูก" ต้องเสร็จ
ถึง สนช.แล้ว ในขั้นตอน สนช.ยังต้องใช้เวลาอีก ๖๐ วัน
เสร็จ ๖๐ วัน จาก สนช.........
ยังต้องนำกฎหมายแต่ละฉบับนั้น ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องหรือคณะกรรมาธิการดูอีก
ถ้ามีประเด็นเห็นแย้ง "ในแต่ละฉบับ" ยังต้องตั้งกรรมาธิการ ๓ ฝ่าย ถกกันให้ลงตัวอีก
ถ้าเห็นตรงไหนแก้ไขไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องแจ้งกลับไปให้ สนช.ตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาอีก
ถ้าที่ประชุม สนช.ด้วยเสียงเกิน ๒ ใน ๓ "ไม่เห็นชอบ" กับที่ กรธ.แก้ไขในกฎหมายลูกฉบับไหน
กฎหมายลูกฉบับนั้น ก็ต้อง "ตกไป"!
เนี่ย...มันมีทั้งความเป็นไปได้และไม่เป็นไปได้ ถ้ากฎหมายลูกฉบับไหนเกี่ยวกับการเลือกตั้งตกไป
ก็ต้องย้อนกลับไปนับ ๑ กันใหม่ในฉบับนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนร่างฯ ของอาจารย์มีชัยเลยทีเดียว
ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยตามเทอมเวลา นายกฯ นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีก ๙๐ วัน
เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว
จากวันนั้นแหละ นับไปเลย.......
วันใด-วันหนึ่ง ภายใน ๑๕๐ วัน ต้องเลือกตั้ง!
พิจารณากันดีๆ พิจารณาตามภาวะกาลประเทศเรา จะเห็นว่า............
เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ระหว่าง ๒๕-๒๙ ตุลา.๖๐ นี้แล้ว
ใน "รอยต่อแผ่นดิน"
นับจากที่ "นายพรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช. กราบบังคมทูลเชิญ
"สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร" องค์พระรัชทายาท
เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ตามกฎมณเฑียรบาล
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" นั้น
เมื่องานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" เสร็จสิ้นแล้ว
ก็ถึงวาระแห่งการ..........
"พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก" สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" ขึ้นเป็น
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" ในรัชกาลที่ ๑๐
นี่.....เป็นวาระสำคัญมาก
ที่ "รัฐบาลไทย" ต้องจัด "พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก"
จึงมองว่า รัฐบาล-ประชาชน ต้องจัด "พระราชพิธี" นี้ ให้เสร็จสิ้นไปก่อน
จากนั้น จะเลือกตั้งกันวันไหน-เมื่อไหร่ ค่อยว่ากัน!
เพราะถ้ายึดการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ ใน "ภาวะกาล" เช่นนี้ จะเป็นอย่างที่นายกฯ พูด
เมื่อประกาศวันเลือกตั้ง ประเทศจะมีเพียง "รัฐบาลรักษาการณ์" และเมื่อเลือกตั้งแล้ว...........
"ไม่แน่" จะตั้งรัฐบาลสมบูรณ์ได้เมื่อไหร่?
นั่นคือ จะนำเอา "พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก" ไปผูกติดไว้กับ "ความไม่แน่นอน" ในการมีรัฐบาล ซึ่งจะต้องจัดให้มี "พระราชพิธี" ที่แน่นอนอย่างนั้นได้อย่างไร?
จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ ผมเพียงตรองตรึกด้วยสำนึกไทยเท่านั้น ส่วนคนอื่น เช่น นายกฯ จะคิดเห็นอย่างนั้นด้วยหรือไม่ ผมไม่ทราบ
ทราบตามที่ท่าน "ตอบคนไทย" ในสหรัฐฯ เมื่อวาน ที่บอกให้นายกฯ อยู่นานๆ ซึ่งท่านตอบว่า
"หลายคนบอกว่า ผมร้องเพลง "คืนความสุข" เมื่อไหร่จะคืนความสุขเสียที
ขอบคุณและขอให้คอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นนะ แต่ตอนนี้ผมพูดไม่ได้"
เอาเหอะ..........
ยังไงๆ ก็ต้อง "เลือกตั้ง" เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เพียงแต่ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง ให้ต้องตามกฎมณเฑียรบาลและราชประเพณีเป็นหลักใหญ่เท่านั้น.
เปลว สีเงิน 6/10/60

ไม่มีความคิดเห็น: