PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กลยุทธ์ เบนเป้า ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี “เลือกตั้ง”

กลยุทธ์ เบนเป้า ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี “เลือกตั้ง”



พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และหัวหน้ารัฐบาล ยืนยันต่อ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2561

ก็เท่ากับเป็นการให้ “คำมั่น”

เหมือนกับที่เคยให้คำมั่นต่อนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ที่กรุงโตเกียว เหมือนกับที่เคยให้คำมั่นต่อผู้นำโลกในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก

จึงเรียกกันว่า “ปฏิญญา โตเกียว” จึงเรียกกันว่า “ปฏิญญา นิวยอร์ก”

และสภาพการณ์อันเกิดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม จึงน่าจะสรุปและเรียกได้ว่า นี่คือ
“ปฏิญญา ทำเนียบขาว”

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยกล่าวเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เหตุใดจึงให้น้ำหนักกับ
สถานการณ์อันเป็นที่มาแห่ง “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ค่อนข้างสูง

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจ

ความเข้าใจที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อหน้า ประธานาธิบดี

โดนัลด์ ทรัมป์ เกิดขึ้นอย่างสุกงอม

“ประธานาธิบดีสหรัฐไม่ได้ถาม แต่ผมได้แสดงความเชื่อมั่นออกไป”

เหตุผลพื้นฐาน 1 คือ “เพราะไม่ได้ปกปิดใคร” เหตุผลพื้นฐาน 1 คือ “เพราะไม่ได้บิดเบือนอย่างที่หลายคนกล่าวอ้าง”

ความหมายก็คือ เป็นการพูดตาม “รัฐธรรมนูญ”

ความจริง เนื้อหาการพูดในลักษณะเช่นนี้มิได้มีแต่เพียงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น หาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เคยพูด

นายวิษณุ เครืองาม ก็เคยพูด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เคยพูด

แต่ที่หนักแน่น จริงจัง ย่อมสัมผัสได้จากการพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ทำเนียบขาว โดยมีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประจักษ์พยาน

นี่คือ คำมั่นสัญญา เป็น “สัญญาประชาคม”

คําประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อหน้าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีผลในทางกดดันอย่างน้อยก็ 2 คณะโดยปริยาย

1 เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำ “กฎหมายลูก”

1 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งแบกรับหน้าที่ในการพิจารณาร่างกฎหมายลูกอย่างน้อย 4 ฉบับต่อจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

จะเสร็จหรือไม่เสร็จขึ้นอยู่กับ 2 คณะนี้

ที่บอกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยภายในเดือนธันวาคม 2560 ที่บอกว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในห้วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561

ก็มาจาก “ผลงาน” และความสำเร็จของ 2 คณะนี้

หากมองจากสภาพความเป็นจริงที่ไม่ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ล้วนเป็น 1 ใน “แม่น้ำ 5 สาย”

นั่นก็คือ ได้รับแต่งตั้งมาจากคสช. เป็นคณะที่ คสช.ต้องการให้ทำงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา

เพราะทุกคนล้วน “นั่งอยู่ในเรือแป๊ะ” ทั้งสิ้น

จากนี้แสงแห่งสปอตไลต์จึงย้ายออกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ายออกจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปยังอีก 2 คน

1 คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 1 คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย

เป็นแสงแห่งสปอตไลต์จากพรรคการเมืองที่ต้องการเลือกตั้ง เป็นแสงแห่งสปอตไลต์จากพลเมืองที่ต้องการเลือกตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: