PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ลุ้นหมากคว่ำกระดาน!

ลุ้นหมากคว่ำกระดาน!

ออกลูกพลิ้ว “โรดแม็ปเลือกตั้ง” อีกระลอก

ตามคิวที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พูดต่อหน้าคนไทยในสหรัฐอเมริกา แจกแจงขั้นตอนโรดแม็ปเลือกตั้ง

แย้มพรายร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะเสร็จประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 แล้วจึงประกาศวันเลือกตั้ง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนทูลเกล้าฯ 90 วัน และจัดเตรียมการเลือกตั้งอีก 150 วัน ก่อนจะมีการเลือกตั้งจริงเกิดขึ้น

แบไต๋วันเลือกตั้งจริงอาจไม่เกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้

แต่อาจทะลุไปถึงปี 2562 กว่าจะได้เข้าคูหาหย่อนบัตรลงคะแนนกัน

สอดประสานรับมุกพอดิบพอดีกับหัวขบวนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่ให้สัมภาษณ์หนุนรับไทม์ไลน์เลือกตั้งของหัวหน้า คสช. ประเมินกฎหมายลูกจะเสร็จสิ้นอย่างช้าที่สุดปลายปี 2561

เช่นเดียวกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เปรยยังไม่สามารถกำหนดวันเวลาเลือกตั้งชัดเจนได้ เพราะมีตัวแปรเยอะ แต่ถ้าใช้โรดแม็ปเต็มเวลา ก็มีสิทธิได้รัฐบาลใหม่ปลายปีหน้าหรือต้นปี 2562

แม้กระทั่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ก็ยังไม่กล้าการันตีจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด

ทิศทางแม่น้ำทุกสายทั้ง คสช. ครม. สนช. และ กรธ. ชักไหลไปในทางเดียวกัน ถนนมุ่งสู่สนามเลือกตั้ง อาจถูกทอดยาวออกไป

ทำไปทำมา อาจจะได้ฤกษ์กาบัตรเดือนเมษายน 2562

รัฐบาลและ คสช.ขอตีตั๋วอยู่ยาว ตั้งแต่การยึดอำนาจเดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงปี 2562 เบ็ดเสร็จร่วม 6 ปี ยาวนานกว่ารัฐบาลปกติที่มีอายุอยู่แค่ 4 ปี

ขั้วอำนาจพิเศษยังเด้งเชือก ไม่ปริปากระบุวันเวลาชัดเจนการเข้าคูหาคืนประชาธิปไตยให้มัดปากตัวเอง
กระแสไม่มีเลือกตั้งในปีหน้าชักมีน้ำหนักหนาหูขึ้นเรื่อยๆ

แรงเสียดทานในประเทศกลับมาเข้มข้นมากยิ่งขึ้น สวนทางกับแรงกดดันจากต่างประเทศที่มีทิศทางดีขึ้น หลังจากที่ผู้นำ คสช.ประสบความสำเร็จได้ยืดอกกระทบไหล่ผู้นำพญาอินทรีในการเยือนสหรัฐอเมริกา

แต่ “บิ๊กตู่” ก็ยังตกเป็นจำเลยเรื่องสืบทอดอำนาจ ถูกล่อเป้ารุมถล่มจากฝ่ายการเมือง ไม่ยอมปลดโซ่ตรวนให้ฝ่ายการเมืองคืนสนาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าจะถอดรหัสโรดแม็ปที่ “บิ๊กตู่” บอกใบ้มาในเที่ยวล่าสุด ตีความได้เป็น 2 ทาง

กรณีแรก เส้นทางสู่การเลือกตั้งปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ยังไม่ได้ถูกปิดประตูตาย เพราะถ้าขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายลูกเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้อย่างราบรื่น

สนช.ใช้เวลาพิจารณาผ่านร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เหลืออีก 2 ฉบับ เสร็จภายใน 60 วัน หรือประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยไม่มีการโต้แย้งหรือตั้งกรรมาธิการร่วม ไม่มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เข้าสู่ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯและโปรดเกล้าฯลงมาภายใน 90 วัน และจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน

ถ้าเป็นไปตามสูตรนี้ ยังไงก็เลือกตั้งทันตามโปรแกรมเดิมคือ ปลายเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่ในทางตรงกันข้ามกรณีเส้นทางโรดแม็ปเจอเจาะยาง โดนองค์กรอิสระโต้แย้งร่างกฎหมาย ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาทบทวนเนื้อหาใหม่ เจอการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

โรดแม็ปเจอปัญหาขลุกขลัก ทุกขั้นตอนใช้เวลาเต็มที่ทุกอย่าง เงื่อนเวลามีสิทธิถูกเขยิบออกไปได้
โดยเฉพาะกรณีที่ประชุม สนช.ลงมติคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. หรือ ร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ฉบับใดฉบับหนึ่ง กรธ.ต้องไปยกร่างกฎหมายลูกกันใหม่ ก็ยิ่งทอดเวลาออกไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ

โอกาสหมิ่นเหม่สูงที่จะอดกาบัตรเลือกตั้งในปลายปี 2561 ตามปฏิทินเดิม

เพราะดูตามเงื่อนเวลา หากติดปัญหาเล็กๆน้อยๆแค่การโต้แย้งของหน่วยงานและการตั้งกรรมาธิการร่วม ไม่น่าจะทำให้กฎหมายลูกยืดเยื้อแกว่งไปถึงปลายปีหน้าได้

ดูรูปการณ์ยื้อประกาศวันเลือกตั้งออกไปเที่ยวนี้ มันก็มีข้อชวนให้สงสัย จะมีตัวแปรพิเศษทำให้กฎหมายลูกสะดุดหรือไม่

ยิ่งขุมกำลัง สนช.มีทั้งขั้วที่อยากให้เลือกตั้งกับขั้วที่ไม่อยากให้เลือกตั้ง กำลังรอวัดพลังกันอยู่

จึงมีความเสี่ยงที่โปรแกรมหย่อนบัตรจะถูกเขยื้อนออกไปจากเดิม

ต้องจับตาหมากคว่ำกระดานกฎหมายลูกจะเกิดขึ้นหรือไม่.

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: