PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รากเน่าของการโยกย้าย อธิบดีกรมการจัดหางาน 24 ปี 20 คน

รากเน่าของการโยกย้าย
อธิบดีกรมการจัดหางาน
24 ปี 20 คน
-------------
กรมการจัดหางานเป็นข่าวดังอีกครั้งภายหลังจาก “บิ๊กตู่”พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งย้ายนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานไปเป็นรองปลัดกระทรวง จนเป็นเหตุให้ “บิ๊กบี้”พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยกทีมลาออกโดยสาเหตุคาดกันว่าน่าจะมาจากเรื่องการบริหารแรงงานต่างด้าว

จริงๆแล้วหากฝ่ายการเมืองไม่ได้ตบเท้าลาออก การโยกย้ายอธิบดีกรมการจัดหางานครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะนั่นคือวิถีแห่งชะตากรรมของผู้กุมอำนาจสูงสุดในหน่วยงานแห่งนี้ที่ดำเนินในลักษณะนี้เรื่อยมา

กรมการจัดหางานตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2536 ภายหลังจากที่กรมแรงงานยกระดับเป็นกระทรวงแรงงาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าหน่วยงานแห่งนี้ใช้อธิบดีเปลืองที่สุดในลำดับต้นๆของระบบราชการไทย

นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 24 ปี หน่วยงานแห่งนี้มีอธิบดีแล้วถึง 20 คน เฉลี่ยแล้วคนหนึ่งนั่งเก้าอี้นี้แค่ 1.2 ปี ซึ่งน้อยคนนักที่จะอยู่ครบวาระหรือได้เกษียณอายุในตำแหน่ง นับตั้งแต่อธิบดีคนแรกคือนายสินไชย เหรียญตระกูล ที่อยู่ได้เพียงไม่ถึง 2 ปีก็ถูกโยกย้าย และคนอื่นๆต่างก็ไม่รอดพ้นชะตากรรมนี้

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ถ้าแบ่งงานของกรมการจัดหางานแบบหยาบๆออกเป็นการจัดหางานภายในประเทศและการจัดหางานต่างประเทศ จะพบว่าอดีตอธิบดีหลายคนต้องมีอันเป็นไปเนื่องจากมีส่วนพัวพันกับการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ

ในยุคที่แรงงานไทยนิยมไปขุดทองต่างประเทศนับแสนคน ทั้งที่ตะวันออกกลาง อิสราเอล ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เม็ดเงินมหาศาลจากค่าหัวคิวแรงงานได้ถูกส่งผ่านบริษัทจัดหางานเข้าสู่มือผู้บริหารอย่างเป็นกอบเป็นกำ บางคนแม้นั่งอยู่ในตำแหน่งสูงแต่กลับตั้งบริษัทจัดหางานซะเองโดยใช้นอมินี 

ในปี 2545 หัวคิวแรงงานได้พ่นพิษถึงขนาดทำให้อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารระดับสูงอีกหลายคนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงและสรุปผลให้ออกจากราชการ

อธิบดีกรมการจัดหางานอีกหลายต่างก็เผลิญชะตากรรมต่างๆนาๆ บางยุคต้องสนองต่อนักการเมือง ถ้าไม่ทำก็ถูกย้าย บางยุคก็ดูจะตรงเกินไปทำให้กลไกบางอย่างทำงานยากก็ถูกย้าย เพราะฉะนั้นไม่ว่าเป็นรัฐมนตรีคนไหนก็ตามที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงกรรมกร ก็มักจะให้คนที่ตนไว้ใจมานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมนี้เพื่อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การจับจ้องและมุ่งแต่ผลประโยชน์เฉพาะตัวและเฉพาะกลุ่มทำให้การบริหารงานของกรมการจัดหางานไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

หลังจากพ้นยุคขุดทองของการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเพราะรายได้ไม่หอมหวนเหมือนในอดีต แถมยังมีการต้มตุ๋นหลอกลวงไม่สร้างซา ประกอบกับการจ้างงานภายในประเทศดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเริ่มขาดแคลนในอาชีพที่เหนื่อยและหนัก จึงมีการเปิดรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติคือพม่า กัมพูชาและลาว เข้ามาอย่างถูกต้อง และเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการค้ามนุษย์ยุคปัจจุบัน

การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในแต่ละครั้งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่บริษัทจัดหางานและผู้ที่เกี่ยวข้องว่าแต่ละกระบวนการทุกขั้นตอนต้อง “จ่ายเพิ่ม”ให้ใคร เท่าไร เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งแรงานข้ามชาติมีไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน เพราะฉะนั้นเม็ดเงินนอกระบบจึงมหาศาล

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการทำงานของกรมการจัดหางานกลับไปมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาในเรื่องผลประโยชน์ที่ถูกจับจ้อง ทั้งๆที่ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรในวัยแรงงานอยู่ 39 ล้านคน ขณะที่มีแรงงานที่เดินทางทำงานต่างประเทศอยู่เพียงหยิบมือเดียวคือราว 1 แสนคน และแรงงานข้ามชาติ 2-3 ล้านคน แต่นโยบายการจัดหางานให้แรงงานในประเทศกลับถูกกลบหาย

ทุกวันนี้กรมการจัดหางานทำได้อย่างมาก็คือการจัดตลาดนัดแรงงาน ขณะที่การส่งเสริมการมีงานทำในรูปแบบอื่นๆ ทั้งในอาชีพต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่ๆและการวิจัยเฝ้าระวังสถานการณ์ในอนาคตเพื่อรองรับตลาดแรงงานในวันข้างหน้ากลับไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

การโยกย้ายอธิบดีกรมการจัดหางานในครั้งนี้ก็คงไม่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ หากยังไม่มีการแหวกม่าน-ปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายส่งเสริมการมีงานทำ

เชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นาน วัฏจักรเดิมๆก็จะวนกลับมาอีก
----------------------
ที่มา : เพจ
Paskorn Jumlongrach

ไม่มีความคิดเห็น: