PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พลั้งปาก เสียศีล ฤๅจะเป็น”ขาลง” ผู้นำทหาร-การเมือง

พลั้งปาก เสียศีล ฤๅจะเป็น”ขาลง” ผู้นำทหาร-การเมือง


ถามว่า “ขาลง” เกิดขึ้นเพราะอะไร

เพราะมีคน “จ้องทำลาย-จ้องจับผิด”

หรือเพราะความผิด พลาด พลั้ง เผลอของตัวเอง

ไม่ว่าจะโดยความจงใจ

ไม่ว่าจะโดยการขาด “บรีฟวิ่ง” ที่ดี

ไม่ว่าจะโดยอารมณ์ที่พลุ่งพล่านในขณะนั้นก็ดี

สุดท้ายเมื่อผลลัพธ์ออกมาว่าเป็นลบมากกว่าบวก

ที่เคยแข็งกร้าว ที่เคยยืนกราน

ก็อ่อนยวบลง ก็ต้องเอ่ยปากขอโทษ-เสียใจ

ทั้งหมดเพื่อมิให้ “เสียการเมือง”

ทั้งหมดเพื่อมิให้ “อัตราเร่ง” ของภาวะขาลงเพิ่มขึ้น

เพิ่มขึ้นจนยากจะหยุดยั้ง

ลองพิจารณา

หลังครอบครัวของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1

ออกมาแถลงข่าวการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำ

และอวัยวะภายในของผู้ตายถูกควักล้วงออกไป

โดยมิได้มีการแจ้งให้ครอบครัวทราบ

ในชั้นต้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบข้อถามในเรื่องดังกล่าวว่า

“ผมยืนยันว่าเด็กเสียชีวิต เนื่องจากสุขภาพของเขาเอง ไม่มีการซ่อมอะไรทั้งสิ้น เขาป่วย

และเชื่อว่าทาง ร.ร.ไม่ได้ปิดบังข้อมูล”

เมื่อถามว่าหากเด็กสุขภาพไม่ดี ทำไมถึงเข้าเรียน ร.ร.เตรียมทหารได้

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนอยากทราบเช่นกัน ตอนรับสมัครก็มีแพทย์ตรวจคัดกรองแล้ว แต่อาจมาเป็นช่วงตอนเข้าเรียน

ซึ่งเด็กเป็นโรคฮีตสโตรก

“ส่วนที่เปิดบันทึกประจำวันของเด็กที่ระบุว่าเขาโดนซ่อมนั้น ผมคิดว่าก็โดนซ่อมกันทุกคน

ผมก็เคยโดนมาเหมือนกัน เช่น วิดพื้น วิ่ง สก๊อตจัมพ์ ไม่ต้องถูกตัวกัน

ที่เด็กเคยโดนซ่อมจนหยุดหายใจไปครั้งหนึ่งนั้น เพราะเขาเป็นโรคฮีตสโตรก

ใครจะไปรู้ว่าลูกเขามีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

การซ่อมไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

เมื่อถามต่อว่า หากการซ่อมเกินกำลังคนจะรับได้ จะทำอย่างไร

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า

“ผมก็เคยโดนซ่อมจนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย”

เมื่อถามอีกว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ไม่ต้องเข้ามาเรียน ไม่ต้องมาเป็นทหาร


เราเอาคนที่เต็มใจ

คําสัมภาษณ์ “เรียกแขก” ชิ้นนี้

มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงส่งยิ่ง

เพราะคำวิจารณ์ทางลบ

ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายใด

จนทำให้ พล.อ.ประวิตรต้องออกมาเอ่ยปาก “ขอโทษ” ต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา
คล้ายคลึงกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเดินทางลงไปประชุม ครม.สัญจร ที่ภาคใต้

และเกิด “ปะทุอารมณ์” ขึ้นเสียงใส่ นายภรัณยู เจริญ

ชาวประมงจากจังหวัดปัตตานี ที่มาร้องเรียนปัญหาการทำกิน

ว่า “อย่ามาส่งเสียงกับผม เข้าใจหรือเปล่า ผมฟังคุณอยู่ พูดดีๆ ก็ได้”

เป็นปะทุอารมณ์ที่สำนักข่าว-หนังสือพิมพ์พร้อมเพรียงกันใช้คำว่า

ตะคอก-ตวาด

เช่นเดียวกับปฏิกิริยาจากโลกเสมือน

ที่พร้อมใจกันวิจารณ์การแสดงออกของนายกรัฐมนตรี

ชนิดเป็นลบมากกว่าเป็นบวก

จนกระทั่งทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องโพสต์เฟซบุ๊กในวันถัดมา

ว่านายกรัฐมนตรี “เสียใจ” ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

เพื่อทุเลากระแสลง

แต่กระแสจะทุเลาได้หรือไม่ยังสงสัย

เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีการจับกุมแกนนำชุมนุมประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จำนวน 16 คน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ก็สาดน้ำมันเข้ากองเพลิง

ด้วยการระบุว่า

หนึ่งในแกนนำที่ตกเป็นข่าวว่าถูกจับกุมนั้น

ไม่ได้ถูกฝ่ายทหารควบคุมตัวไว้

แต่อาจจะ “หนีไปเที่ยวกับผู้หญิง”

เป็นคำสัมภาษณ์ที่ “เรียกแขก” ได้ไม่แพ้รุ่นพี่ที่เป็นผู้บังคับบัญชา

เพราะปฏิกิริยาที่สะท้อนกลับ เป็นไปในทางลบต่อผู้พูดทั้งสิ้น

คำถามก็คือ

ในสถานการณ์ที่งานก็ “งอม” ถึงขั้นต้องมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่

การขยันปั่นเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่

ด้วยทัศนคติ ท่าที และวาจา อันไม่เป็นคุณต่อรัฐบาลเอง

จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นต่อไป

และจะสั่งสมไปจนถึงจุดอิ่มตัวเมื่อไหร่

ไม่มีความคิดเห็น: