PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สองพรรคใหญ่จับมือฟื้นฟูประชาธิปไตย : เซ็ตซีโร่ "ขัดแย้ง"

สองพรรคใหญ่จับมือฟื้นฟูประชาธิปไตย : เซ็ตซีโร่ "ขัดแย้ง"


เซ็ตซีโร่ระบบ คสช.สกัดนายกฯคนนอก โอกาสเป็นไปได้ “ริบหรี่”
แต่ประตูบานนี้ยังแง้มเอาไว้ เพราะเสน่ห์ของการเมืองไทย “ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร”
และนักการเมืองสองพรรคใหญ่ย่อมรู้ทันกลไกกติกาใหม่ เปิดทางสืบทอดอำนาจอย่างน้อย 8 ปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คสช.มีอำนาจตั้ง 250 ส.ว. ในจำนวนนี้มีปลัดกระทรวงกลาโหม-ผบ.ทหารสูงสุด-ผบ.ทบ.-ผบ.ทร.- ผบ.ทอ.-ผบ.ตร. เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง มีอำนาจเลือก “นายกฯคนนอก” ร่วมกับ ส.ส.ได้ 5 ปีนับจากมีรัฐสภาชุดแรก
เพียงได้ ส.ส.อีก 126 เสียง รวมเป็น 376 เสียง ก็เกินครึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา นายกฯคนนอกอยู่ในกำมือ
กระบวนการปลุกพลังประชาชนให้ต่อต้านการสืบทอดอำนาจจึงค่อยๆอุบัติขึ้น
“ถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์ได้ ย่อมเป็นผลดีในระยะยาวต่อระบอบประชาธิปไตย”
นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี หลังคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ศาลฎีกาพิพากษา 4 ธ.ค.57 จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา ปรับ 2,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจนถึงวันที่ 4 ธ.ค.62 แย้มมุมคิดผ่านการให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง
พร้อมชี้ให้เห็นถึงข้อดีของสองพรรคใหญ่จับมือกันตั้งรัฐบาล จะได้นายกรัฐมนตรีที่นักการเมืองเสนอชื่อไม่เกิน 3 รายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งแต่แรก เปิดหน้าให้ประชาชนได้รับทราบก่อนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
หลังการเลือกตั้งจะได้นายกฯจากคนที่สองพรรคใหญ่เสนอชื่อต่อ กกต.เอาไว้ มีข้อดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือรักษาการเมืองระบอบรัฐสภาไว้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
แต่ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้แค่ไหน ถ้าคิดแค่ความรู้สึกเฉพาะหน้า ไม่เอานายกฯคนในบัญชีรายชื่อหรือไม่เคลียร์ให้สองพรรคใหญ่จับมือกันได้ มันอาจจะได้ความรู้สึกถูกใจในช่วงนั้น ได้นายกฯคนนอก ซึ่งจะอยู่ 4 ปีหรือ 5 ปี หลังจากนั้นเราก็มานั่งคิดไปสู่นายกฯคนในอยู่ดี
ฉะนั้นมีนายกฯคนในหลังการเลือกตั้งเลยไม่ดีกว่าหรือ เพื่อป้องกันสังคมเคยชินกับนายกฯคนนอก
เพราะทุกวันนี้เราเคยชินกับอำนาจสั่งการเด็ดขาด มันก็จะไม่ได้ปรับตัวเข้ากับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากประชาชนจริงๆ
ก่อนเดินไปถึงจุดปลายทางสองพรรคใหญ่จับมือกัน จะต้องมีการปรับตัวและปฏิรูปพรรค จากเดิมเป็นพรรคคู่แข่งชนิดเอาเป็นเอาตายมานานกว่า 20 ปี ก็ลดทิฐิลงบ้าง พรรคเพื่อไทยอย่างน้อยจะต้องบริหารพรรคโดยอิสระ ปราศจากใต้ร่มเงาคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เชื่อว่าประชาชนยอมรับได้ เพราะเท่าที่สำรวจข้อมูลพี่น้องเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แน่นอนเมื่อพ้นเงาของคุณทักษิณอาจจะต้องเสียฐานเสียงจำนวนหนึ่งไปได้อย่างเสียอย่าง
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องปรับตัว เป็นไปได้หรือไม่ว่านับจากวันนี้ไปจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้งจะมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค แม้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ คงยากที่จะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค
ยกเว้น คสช.ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมือง เปิดทางให้ประชุมพรรค เพื่อถกเถียงประเด็นการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค ถ้าที่ประชุมพรรคยังยืนยันไม่เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค ถามว่าพรรคเพื่อไทยจะยอมรับจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกันได้หรือไม่ คุณอภิสิทธิ์เคยพูดชัดเจนว่าถ้าอุดมการณ์ตรงกันก็จับมือกันได้
ในแง่อุดมคติถ้าพรรคเพื่อไทยสลัดหลุดจากคุณทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค น่าจะทำให้ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยยอมรับได้ ต่างฝ่ายต่างสูญเสียและปรับตัวเพื่อรักษาเกียรติคุณของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ต้องพึ่งพานายกฯคนนอก
ขอย้ำว่าการลดทิฐิและการลดประเด็นที่แต่ละฝ่ายตั้งแง่เกี่ยงงอนกันก็สามารถจับมือกันได้
ตัวเลขจำนวน ส.ส.หลังการเลือกตั้งก็เป็นอีกปัจจัยที่ทั้งสองฝ่ายรอดู แต่ตัวเลขหลังการเลือกตั้งจะมีผลออกมาอย่างไร ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละพรรคในช่วงนี้
แค่พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค และพรรคเพื่อไทยไม่อยู่ภายใต้ร่มเงาของคุณทักษิณ ก็สามารถจับมือกันได้แล้ว นายไชยันต์ บอกว่า...
...ถ้าหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่เป็น นอมินี มีความเป็นอิสระ จะได้เจรจาต่อรองใน ทางการเมืองได้
และพรรคเพื่อไทยไม่อยู่ใต้ร่มเงาตระกูล “ชินวัตร-ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์”
จำนวน ส.ส. อาจจะเสียไปบ้าง แต่อาจจะได้ใจคนที่พอใจต่อนโยบาย คะแนนถัวเฉลี่ยบวกลบ
เงื่อนไขของ กปปส.ก็คลี่คลายตัว อาจจะผนึกกำลังกับพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน มากกว่าที่จะตั้งแง่ไปเคลียร์กับกองทัพอะไรหรือไม่
ในส่วนของคุณอภิสิทธิ์จะต้องยอมลงจากหัวหน้าพรรค เพื่อให้การเมืองเดินหน้าได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่าคุณอภิสิทธิ์จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ วัฒนธรรมการเมืองของอังกฤษเวลาหัวหน้าพรรคแพ้การเลือกตั้งจะต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ที่ผ่านมาคุณอภิสิทธิ์ก็นำทัพแพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด
พรรคประชาธิปัตย์จะบอกว่าไม่มีตัว ตอนนี้อาจจะมองไม่เห็นใครโดดเด่น
แต่เมื่อถึงเวลาก็ปล่อยให้กลไกของพรรคเดินไป จะได้บุคคลที่เหมาะสมขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค
จริงๆแล้วหลายกรณีเมื่อมีปัญหาทางการเมือง เขาจะเปลี่ยนจากการยุบสภาเป็นการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สถิติการเมืองไทยนายกรัฐมนตรีลาออกน้อยมาก ที่ลาออกกลับกลายเป็นนายทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
เมื่อเจอปัญหาการเมืองแล้วลาออก มันก็ทำให้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยถามว่าเราต้องการนักการเมืองหน้าใหม่ เลือดใหม่ บางทีมันก็จะเกิดปรากฏการณ์นี้เร็วขึ้น แต่ถ้าแช่ตำแหน่งอยู่ทั้งการเมืองระดับประเทศ การเมืองระดับท้องถิ่น สิ่งที่เราคาดหวังมีนักการเมืองหน้าใหม่ก็ยากที่จะเกิดขึ้น
ขอให้คุณอภิสิทธิ์เข้าใจตรงนี้ ถอยสักก้าวและในอนาคตก็ยังกลับมาได้อีก
แต่ปกติหัวหน้าพรรคที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วลาออกจากหัวหน้าพรรคจะไม่กลับมาอีก
ส่วนนโยบายของทั้งสองพรรคใหญ่ต่างโดดเด่นด้วยกัน ถ้าเป็นรัฐบาลผสมก็ควรเอาจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ จะสร้างความงดงาม สร้างความหวังให้กับคนไทย มากกว่าที่จะไปพึ่งนายกฯคนนอกที่มาคนเดียว แล้วมาเชื่อมต่อกับพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มันไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันตลอด
ยกเว้น พล.อ.ประยุทธ์ยอมให้พรรคใดพรรคหนึ่งเอาชื่อไปเสนอตอนรับสมัครรับเลือกตั้งที่ กกต. รูปแบบนี้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่ง
ทีมข่าวการเมือง ถาม ว่า จะปฏิรูปประเทศด้านต่างๆได้รวดเร็วกว่าหากสองพรรคใหญ่จับมือตั้งรัฐบาล นายไชยันต์ บอกว่า แทนที่จะรอให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือคนของ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯคนนอก ซึ่งจะทำให้การเมืองกลับเข้าสู่ระบบปกติช้า
เราจะต้องพยายามข้ามขั้นตอนให้ได้นายกฯคนในตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก เพื่อกลับมาโดดเด่นในด้านเสรีภาพความเป็นประชาธิปไตย ปกติการเมืองไทยโดดเด่นในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว แม้มีรัฐประหารบ่อย ถ้าเราไม่มีการรัฐประหารบ่อยก็ต้องลงเอยเป็นประเทศที่มีผู้นำอำนาจนิยมยาวนาน เผด็จการยาวนาน หรือเผด็จการรัฐสภายาวนาน
ผลการรัฐประหารปี 57 ไม่เสียของ เพราะทำให้บ้านเมืองสงบก็พอแล้ว อย่าทะเยอทะยานสร้างอย่างอื่น และรัฐบาลเริ่มทำให้เห็นภาพนักการเมืองสองพรรคใหญ่จูบปากกัน เป็นไปตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกออกแบบให้สองพรรคใหญ่รักกัน
ถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไม่รักกันก็เจ๊งทั้งคู่
แม้ปัจจุบันจะมีการตั้งพรรคทหาร มันก็มีความเสี่ยงสูง 50-50 ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยอมให้เป็น 1 ใน 3 ชื่อให้พรรคทหารเสนอชื่อเป็นนายกฯ กล้าได้กล้าเสีย
ถ้าไม่ได้รับเลือกก็เจ๊ง แต่ถ้ามีประชาชนเทคะแนนให้ก็น่าสนใจ
สุดท้ายขอแนะนำว่าอย่าตั้งพรรคทหาร จะอยู่ไม่ยาวนาน
ปล่อยให้สองพรรคใหญ่จูบปากกัน เพื่อสร้างความปรองดองและขับเคลื่อนประเทศ
แต่ถ้าจูบปากกันไม่ได้ ก็เปิดช่องให้นายกฯคนนอกเข้ามา.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: