PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561

เหลียวหลังการเมือง 2560 : ปีอำนาจพิเศษกร่อน

เหลียวหลังการเมือง 2560 : ปีอำนาจพิเศษกร่อน


สิ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งและทำให้มนุษย์ต้องวิ่งตามคือเวลาที่ไม่คอยใคร

เมื่อเข็มนาฬิกาเดินหน้า โลกหมุนมาครบ 365วัน “ทีมการเมืองไทยรัฐ” จึงขอใช้โอกาสวันสุดท้ายของปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มองย้อนหลังสำรวจสถานการณ์การเมืองในรอบปีที่ผ่านมา

ปีที่เราสรุปนิยามว่า “ปีอำนาจพิเศษกร่อน”

ตามเงื่อนไขสถานการณ์ภายใต้อำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์” ที่นำทีมบริหารราชการแผ่นดินโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.กำลังจะผ่านพ้นปีที่ 3 เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 4

ปีท้ายเทอมรัฐบาล ปลายโรดแม็ป คสช.

ย้อนกลับไปสำรวจปรากฏการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมา เหตุการณ์สำคัญสุดในทางการเมืองการบริหารหนีไม่พ้นพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในวันที่ 6 เมษายน
นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของราชอาณาจักรไทย

ถือเป็นความคืบหน้าก้าวสำคัญของกระบวนการตามโรดแม็ป คสช.

ตามสถานการณ์แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงผ่านทีวีพูล ภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ใจความว่า ปัจจุบันถือว่าอยู่ในช่วงปลายของโรดแม็ประยะที่สองแล้ว เพื่อนำไปสู่ระยะที่สาม คือการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นเมื่อใด

เพราะต้องทำตามขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะการออกกฎหมายลูกเสียก่อน ทั้งนี้ คสช.และรัฐบาลจะอยู่ทำหน้าที่ต่อไป โดยบรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. รวมถึงคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้วยังคงมีผลใช้บังคับ เช่นเดียวกับมาตรา 44 ที่ยังคงมีอยู่

แต่จะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือเท่าที่จำเป็นเร่งด่วนและที่ไม่อาจใช้กฎหมายปกติได้

มันเป็น “จุดเปลี่ยน” สถานการณ์อำนาจพิเศษก็ว่าได้

รัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดมีผลบังคับใช้ ขณะที่อำนาจภายใต้ “รัฏฐาธิปัตย์” ยังคาอยู่

ตามรูปการณ์ที่ “นายกฯลุงตู่” ต้องออกตัวไว้ด้วยว่า ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ครม. คสช. สนช. จะอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง โดยมีภารกิจสำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำ 2 เรื่องคือเสนอกฎหมายให้ สนช.พิจารณายุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศ

พร้อมย้ำด้วยว่า คสช.และรัฐบาลมิได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์ หรืออยู่ยาวนาน โดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆผ่านพ้นไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิมๆที่ค้างคาอยู่จนเป็นกับดักสกัดกั้นความเจริญของชาติ

นั่นหมายถึงว่า ฝ่ายคุมเกมอำนาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

หนีไม่พ้นเงื่อนไขประชาธิปไตยต้องตามมาโดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะสถานการณ์อึดอัดของนักการเมืองอาชีพที่ถูกล็อกแขนล็อกขามานานเกือบ 3 ปี ถึงจังหวะที่ต้องขยับแข้งขยับขา ตามกลิ่นอายการเลือกตั้งที่โชยมาพร้อมรัฐธรรมนูญใหม่

อาการเหมือนเขื่อนใกล้แตกทะลัก แทบจะอั้นไม่ไหว

แต่กระนั้นก็ดี มันก็มีเงื่อนไขสถานการณ์ของพระราชพิธีสำคัญ ตามกำหนด การถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ในเดือนตุลาคม

ในอารมณ์ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศพร้อมใจกันแสดงให้เห็นถึง “พลังแผ่นดิน”

ทุกส่วนผสมหลอมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อ “พ่อ” คนเดียวกัน

ก่อให้เกิดภาพที่โลกยังตะลึงกับความสวยงามแบบไทย พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามุ่งมั่นกับการถวายพระเกียรติ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นครั้งสุดท้าย

ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ก้าวข้ามความขัดแย้งชั่วขณะ

นั่นก็ทำให้การเมืองต้องสงบนิ่งตามกาลเทศะ

เงื่อนสถานการณ์หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังไม่ร้อนแรงตามสภาพการบังคับ

ประกอบกับแรงกดดันจากต่างชาติเบาบาง ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเชิญให้เข้าไปนั่งคุยกับประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐอเมริกา ในทำเนียบขาว วอชิงตัน ดี.ซี.

บ่งชี้สถานะผู้นำรัฐบาลทหารไม่โดนตั้งแง่รังเกียจอีกต่อไป ตามเหตุปัจจัยจากการที่ประเทศไทยเป็นจุด ยุทธศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจโลกต้องการใช้เป็นฐานในการประคองดุลอำนาจการเมืองโลก

กลายเป็นสถานการณ์ “โชคช่วย” พล.อ.ประยุทธ์ เก่งบวกเฮง

ได้เงื่อนไขบังเอิญช่วยให้การบริหารของผู้นำอำนาจพิเศษลดแรงเสียดทานลงไปเยอะ

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยภายนอกไม่หนักหนา แต่ปัญหามันอยู่ตรงอาการ “พลาด” ที่เกิดจากทำตัวเอง

ตามปรากฏการณ์แบบที่เห็น การใช้ดาบมาตรา 44 ทั้งในประเด็นของการห้ามนั่งท้ายรถกระบะที่โดนชาวบ้านร้านตลาดต่อต้านเพราะขัดกับวิถีชีวิตประจำวัน

จนรัฐบาลต้องสั่งไอ้เสือถอยแทบไม่ทัน

หรือการออกพระราชกำหนดยกเครื่องปัญหาแรงงานต่างด้าว ไล่แรงงานชาวพม่า ลาว กัมพูชากลับ ประเทศไปทำเอกสารเพื่อเคลียร์ปัญหาค้ามนุษย์ แต่ก็กลายเป็นทำให้เกิดผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ประมง ท่องเที่ยว ต้องขาดแคลนแรงงาน ลามเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม

ที่สุดผู้นำรัฐบาล คสช.ก็ต้องงัดมาตรา 44 มาผ่าทางตันปัญหา

ดาบอาญาสิทธิ์ชักเข้าชักออก เสียฟอร์มรัฏฐาธิปัตย์ หมดความขลังไปเลย

2-3 ช็อตติดๆที่ “นายกฯลุงตู่” สะดุดอำนาจตัวเองหัวคะมำ

แต่นั่นก็ไม่ทำให้เสียอาการทรงตัวเท่ากับการโดนแรงกระแทกที่กระทบชิ่งมาจากบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ ตามสไตล์ทหารอาชีพที่ประกาศจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เลยโดนจังๆกับปมใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องคนรอบตัว

สถานการณ์ถูกลากเข้าไปนัวเนียๆกับ “พี่ใหญ่” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่โดนถล่มต่อเนื่องทั้งปี

ตั้งแต่เรือดำน้ำ รถถัง มายันกระทั่งแหวนเพชร นาฬิกาหรู

ขณะที่ “พี่รอง” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ปีนี้ก็เจอของหนักทั้งปมอนุมัติให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินป่าต้นน้ำ ต่อเนื่องกับประเด็นเครื่องตรวจจับความเร็วฝังเพชร

ถลอกปอกเปิกไปทั้งตัวเหมือนกัน

หรือ “เพื่อนรัก” อย่าง “บิ๊กนมชง” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็อ่วมอรทัยในช่วงที่นั่งแท่น รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดนทั้งปมไม่โปร่งใสในโครงการ 9101ฯ แถมบ้อท่าในการบริหารราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ

รับสภาพตำบลกระสุนตกสะบักสะบอม

พี่ใหญ่ พี่รอง เพื่อนรัก แรงกระแทกพุ่งตรงถึงตัวผู้นำรัฏฐาธิปัตย์

“สนิมเนื้อใน” ทำอำนาจพิเศษกร่อนเข้าไปทุกทีและก็นับเป็นหัวเชื้ออย่างดีกับจังหวะสถานการณ์เมื่อผ่านพ้นห้วงเวลาพิเศษ การเมืองเริ่มขยับกลับมาร้อนแรงตามบรรยากาศห้วงท้ายปลายโรดแม็ป

แบบที่มีการจุดพลุประจานเรื่องการจ้องสืบทอดอำนาจ

นักการเมืองชิงเหลี่ยมขยายภาพวาระแฝงของทหาร พฤติการณ์ไม่ได้ดีไปกว่ากัน

ตามยุทธการขยายแผลจิกตี “พี่ใหญ่-พี่รอง-เพื่อนรัก” ที่มาพร้อมๆกับการที่โคตรเซียนจอมเขี้ยวยี่ห้อประชาธิปัตย์เปิดฉากแฉการตั้งพรรคท็อปบูต

มีการเปิดชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เป็นหัวหน้าพรรค
เหลี่ยมนักการเมืองอาชีพ มุ่ง “เจาะยาง” เสาค้ำยัน เตะตัดขา “พี่ใหญ่-พี่รอง” รวมถึง “สมคิด”
เพื่อสกัดเส้นทาง“นายกฯลุงตู่”

ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยเปิดเกมรุกกดดันหนัก พร้อมๆกับตะโกนเรียกร้องให้ปลดล็อกการเมือง

เรื่องของเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ ก็หนีไม่พ้นต้องใช้สูตรสำเร็จการเมืองทั่วไป ตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” เพื่อผ่อนกระแส “เล่นแต้ม” ตามเงื่อนไขสถานการณ์บังคับให้ต้องลดโควตาทหาร

เปิดทางมือบริหารอาชีพมาช่วยปั่นเนื้องานเพื่อกรุยทางรัฐบาล คสช.ไปต่อ

โดยจังหวะมอบธงให้นายสมคิดถืออำนาจลุยแบบเต็มตัว ในจังหวะกำลังปั้นเศรษฐกิจภาพรวมติดลมบน ทั้งตัวเลขจีดีพีที่เป็นบวก การส่งออกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง สถานการณ์ดีขึ้นทั้งลำดับความสามารถในการแข่งขัน ประเทศน่าลงทุน เวิลด์แบงก์ประเมินไทยกำลังหลุดพ้นสถานะยากจน

ยังติดตรงโจทย์ยากการกู้สถานการณ์ปัญหาปากท้อง

รัฐบาล คสช.ต้องรีบกู้กระแสที่โดนนักการเมืองตีปี๊บปลุกอารมณ์ชาวบ้านรายวัน

สถานการณ์จึงไหลมาถึงจุดเดิมพันเศรษฐกิจ “สมคิด” ต้องรับภาระกู้วิกฤติ “สนิมเนื้อใน”

ภายใต้สภาพการณ์ตลอดปี 2560 ที่รัฐบาลอยู่ในสภาวะขาลง คะแนนต้นทุนหน้าตัก “นายกฯลุงตู่”
หดหาย สถานะ “รัฏฐาธิปัตย์” ไม่เข้มขลังเหมือนช่วงแรกๆ

เรียกได้เลยว่าเป็น “ปีอำนาจพิเศษกร่อน”.

ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: