PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรธน. วินิจฉัยคำสั่ง คสช. 53/2560 ปมยืนยันสมาชิกพรรค

มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรธน. วินิจฉัยคำสั่ง คสช. 53/2560 ปมยืนยันสมาชิกพรรค


มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยคำสั่ง คสช. 53/2560 ปมยืนยันสมาชิก-ประชุมเลือก กก.บห. 90 วันหลังปลดล็อก หวั่นเข้าข่ายลิดรอนสิทธิ สร้างภาระเกินสมควร เตรียมยื่นทันทีวันนี้ก่อน 1 เม.ย.
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้อง หลังผู้ตรวจได้รับคำร้องและมี 2 หน่วยงานคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและ กกต.ยื่นคำชี้แจงมา โดยหัวหน้า คสช.ไม่ได้ส่งคำชี้แจงมา ซึ่งเมื่อพิจารณาคำชี้แจงประเด็นที่มีการร้อง เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนโดยตรง คสช.มีอำนาจในการออกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื้อหาของคำสั่งที่ 53/2560 ที่มีการแก้ไขแนวปฏิบัติของพรรคการเมืองตามมาตรา 140 และมาตรา 141 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยมาตรา 140 เกี่ยวกับการให้สมาชิกพรรคที่ประสงค์จะยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไปยืนยันตนเองพร้อมแสดงหลักฐานมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไม่มีการยืนยัน ให้ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิของสมาชิกพรรค และเพิ่มภาระให้กับสมาชิก และมีระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด
และที่แก้ไขมาตรา 141 (4) ซึ่งเกี่ยวกับการจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค (5) เกี่ยวกับการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้ครบถ้วนตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดภายใน 90 วัน และ กกต.สามารถขยายได้ครั้งหนึ่ง แต่หากครบเวลาแล้วพรรคไม่สามารถดำเนินการได้ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป โดยการดำเนินการดังกล่าวให้ทำเมื่อมีคำสั่งยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 แล้ว ก็เป็นการสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองเกินสมควร จึงเห็นว่าทั้ง 2 ประเด็นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 25, 26, 27 ประกอบมาตรา 45 ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะยื่นคำร้องและหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ (30 มี.ค.)

นายรักษเกชากล่าวอีกว่า แม้ผู้ตรวจจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ายังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา ในวันที่ 1 เมษายน พรรคการเมืองก็ยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ไปก่อน เพราะการออกคำสั่งดังกล่าวมีกฎหมายรองรับถูกต้องและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ต้องปฏิบัติตาม
เมื่อถามว่า การที่ผู้ตรวจมีมติเช่นนี้จะทำให้มีปัญหากับ คสช.หรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่า เราปฏิบัติไปตามหน้าที่ที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราก็เห็นว่าคำสั่ง คสช.ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่มีปัญหาในเนื้อหาที่ขัดรัฐธรรมนูญ กระทบต่อการปฏิบัติเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้ถ้า คสช.มีการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัย

ไม่มีความคิดเห็น: