PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลดโทนทหาร เข้าโหมดเลือกตั้ง

ลดโทนทหาร เข้าโหมดเลือกตั้ง



จับตา “ประยุทธ์” ได้เวลา “คลายล็อก” การเมือง
เป็นอันว่าผ่านจุดพลิกคว่ำพลิกหงาย ห้วงเวลาอันตรายเดือนพฤษภาคม
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ครบรอบ 4 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ทำ “รัฐประหารเงียบ” ยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ต้องถือว่า คสช.ยังกุมสภาพไว้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
สามารถจำกัดวงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ของผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง วางยุทธศาสตร์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบล็อกม็อบไม่ให้บุกถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลอย่างที่ประกาศไว้ สุดท้ายต้องถอยกลับเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่แกนนำยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่โดยดี
ไม่มีเหตุรุนแรงเสียเลือดเสียเนื้อ
ตามรูปการณ์ที่ คสช.เน้นการใช้กฎหมายเป็นหลักในการจัดการ และงานนี้ใช้ตำรวจเป็นฝ่ายปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน โดยไม่ใช้กำลังทหารแต่อย่างใด
นั่นก็เดาทางได้ พล.อ.ประยุทธ์ระมัดระวังมากในการใช้อำนาจ
ไม่ต้องการให้เกิดภาพความปั่นป่วนวุ่นวายกระทบภาพลักษณ์ผู้นำประเทศไทย กระเทือนภาพรวมของรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า มวลชนคนอยากเลือกตั้งเองก็ยังไม่มีพลังมากพอ
ไร้แนวร่วมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเงื่อนไขที่ดูไม่มีน้ำหนัก ดึงดันเรียกร้องให้เลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งๆที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศไปแล้วว่าจะเลือกตั้งต้นปีหน้า 2562
ผู้คนส่วนใหญ่เลยมองเป็นการจงใจหาเหตุป่วนมากกว่า
สถานการณ์จึงยังอยู่ในวิสัยที่ คสช. “เอาอยู่” คุมเกมได้
และก็เป็นอะไรที่ทำให้บรรยากาศตึงเครียด ประเด็นกำหนดเลือกตั้งลดดีกรีลงไปอีกระดับหนึ่ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ตามแนวโน้มที่น่าจะไม่มีปัญหาเหมือนกัน กับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พ.ค.นี้
โดยสภาพของปมกฎหมาย ส.ส.ที่สุ่มเสี่ยงน้อยกว่าประเด็น ส.ว.
เอาเป็นว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเลือกตั้งทยอยคลี่คลาย ในจังหวะที่มีการมองข้ามช็อตไปถึงปรากฏการณ์สำคัญในเดือนมิถุนายน ตามโปรแกรมที่ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศกำหนดวันหย่อนบัตร
รวมทั้งการแสดงความชัดเจนทางการเมือง
เรื่องของเส้นทางอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่องทางการตีตั๋วต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยยกระดับความชอบธรรมเป็น “นายกฯคนใน” ผ่านบัญชีพรรคการเมือง
ต่อเนื่องถึงพรรคพลังประชารัฐ
ยี่ห้อที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นฐานการเมืองสนับสนุน “บิ๊กตู่”
เปลี่ยนภาพผู้นำทหาร สลับฉากไปอยู่ในสูทผู้นำจากการเลือกตั้งให้เนียนที่สุด
และนับจากจุดสตาร์ต ณ เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จะถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้หลุดเข้าสู่โหมดการเมือง ก้าวเข้าสู่สงครามในสนามเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ
โดยเงื่อนไขสถานการณ์ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาที่ต้องคลายล็อกกฎเหล็ก เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมเพื่อเตรียมตัวเลือกตั้ง
จังหวะต้องปลดกรงขัง เสือ สิงห์ กระทิง แรด เข้าป่า
ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์และทีม คสช.จะต้องเจอกับแรงเสียดทานจากนักการเมือง เหลี่ยมกระแทกตามฟอร์มของนักเลือกตั้งอาชีพ
หนักหน่วงและรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมาอีกหลายเท่า
ได้ลิ้มรสอิทธิฤทธิ์ของนักการเมืองอาชีพแบบจัดเต็มแน่
และเท่าที่โฟกัสส่วนใหญ่ป้อมค่ายการเมืองต่างๆ ก็จัดทัพกันค่อนข้างชัดเจน เห็นเค้าหน้าตาคู่ต่อสู้ที่จะลงสนามชิงอำนาจกันในศึกเลือกตั้งรอบต่อไป
ไล่ตั้งแต่แชมป์เก่าพรรคเพื่อไทย ไม่น่าพลิกไปจาก “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง ที่จะได้ถือธง “นอมินี” ของ “นายใหญ่”
พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค หลังจาก “ปรมาจารย์ชวน หลีกภัย” ไม่รับมุกโหนกระแส “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” ผู้นำเฒ่ามาเลเซีย หนุนศิษย์รักลากต่อไป
ขณะที่ป้อมค่ายขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา “ลูกท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา ก็แสดงเจตนารมณ์ชัดในการรักษา “สมบัติเตี่ย” ให้คงอยู่ในสนามต่อไป ขยันเดินสายโชว์จุดขายคนรุ่นใหม่ที่คาบเกี่ยวกับประสบการณ์การเมืองรุ่นเก่า
ส่วนยี่ห้อภูมิใจไทย “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็เดินสายแตะไปทั่ว โดยมีเงาของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีนอกพรรค ปกคลุมอยู่เบื้องหลัง
นอกนั้นก็เป็นพรรคแจ้งเกิดใหม่ที่กระจัด กระจาย ทั้งฝ่ายที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ และฝั่งที่แท็กทีมกับขั้ว “ทักษิณ” อยู่ตรงกันข้ามกับทหาร
ตามสถานการณ์เทียบกับคู่แข่งชิงเก้าอี้นายกฯ ที่เห็นกันอยู่ตรงหน้า
นิด้าโพลออกมา 2 รอบ พล.อ.ประยุทธ์ยังทิ้งห่างอยู่เกินเท่าตัว
และเหมือนจะเพิ่มความชัวร์ ในจังหวะเปิดตัวลงสนามการเมืองในเดือนมิถุนายน
ตามคิวล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.เติมงบฯโครงการไทยนิยมยั่งยืนกว่า 100,000 ล้านบาท กระจายลงพื้นที่ทั่วประเทศ
ลุยอัดฉีดเศรษฐกิจฐานราก เพื่อต่อยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โหมกระแส ตีปี๊บรับข่าวดีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2561
ดีดตัวขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 4.8 โตสูงสูดในรอบ 20 ไตรมาส
เป็นโอกาสที่ “บิ๊กตู่” คุยได้เต็มปาก
เต็มคำ กับตัวเลขที่เป็นผลจากความพยายาม
ทำงานอย่างหนักของรัฐบาล คสช.ลากเศรษฐกิจจากจุดต่ำเตี้ย ระดับ 0 กว่าๆจากวิกฤติที่นักการเมืองก่อไว้
โชว์สถานการณ์ภาพรวม เร่งกระตุ้นฐานรากอุดปัญหาปากท้อง
อุดช่องโหว่ ไม่ให้โดนจี้จุดบอดเรื่องเศรษฐกิจ
อย่างน้อย “บิ๊กตู่” ก็ออกตัวได้ ฝีมือผิดฟอร์มรัฐบาลทหารทั่วไป
เหนืออื่นใด จุดสำคัญมันอยู่ตรงสถานการณ์ที่เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มรูปแบบ จากสถานะ “รัฏฐาธิปัตย์” ต้องเปลี่ยนไปเป็นหนึ่งในคู่ต่อสู้ในเกมชิงธงในสนาม
ตามเงื่อนไขอำนาจพิเศษต้องลดโทนลงโดยอัตโนมัติ
ดาบอาญาสิทธิ์มาตรา 44 ใช้มากเกินไป อาจเสี่ยงแรงสะท้อนกลับ
โดนต่อต้านฐานเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมือง
ตามเหลี่ยมนักเลือกตั้งอาชีพจะต้องหาเรื่องจี้จุด หาเหตุย้ำปมตรงนี้แน่
และนั่นก็จะเป็นสถานการณ์บังคับให้ พล.อ.ประยุทธ์ปรับลดโทนความเป็น “ทหารอาชีพ” ลงอีกเยอะ
ประเภทที่เสียงแข็ง หน้าเข้ม ดุดันแบบสั่งลูกน้องในค่ายทหาร อาการหงุดหงิด ตีหน้ายักษ์ใส่สื่อมวลชนเวลาไม่พอใจ ชี้นิ้วให้ถามแบบนั้นแบบนี้
ต้องมาเป็น “ลุงตู่” ที่เล่นได้ทุกบทเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนนิยมทางการเมือง
ต้องเดินสายพบปะชาวบ้าน พูดจาภาษานักเลือกตั้ง
รวมทั้งเรื่องของเพื่อนพ้องน้องพี่ท็อปบูต
ที่กระเตงอยู่รอบเอว ถ่วงน้ำหนักผู้นำ กระตุกแรงเสียดทาน
เรื่องการใช้อำนาจอย่างโปร่งใส แฝงผลประโยชน์
ถึงจุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแก้โจทย์ กับเงื่อนไขสถานการณ์ทางกระแสที่ย้อนแย้งกัน
เพราะวันนี้ประชาชนเอา “นายกฯลุงตู่”
แต่ต่อต้าน ไม่เอาทหาร.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: