PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ความเห็นต่างสึกพระ ก่อนพิสูจน์ความจริง

ความเห็นต่างสึกพระ ก่อนพิสูจน์ความจริง



กรณีพระผู้ใหญ่หลายรูป ทั้งระดับเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เจ้าคณะ กทม. เจ้าคณะภาค ถูกตำรวจจับกุมหลังจากศาลออกหมายจับ และนำตัวไปสึก ก่อนส่งเข้าเรือนจำ พร้อมฆราวาสร่วมก๊วนอีก 3 คน ในข้อหาทุจริตเงินทอนวัด
แต่ปรากฏว่า ไม่มีพระซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหารูปใด ยอมเปล่งวาจาสึก หรือลาสิกขาจากการเป็นพระ แม้ตามกฎหมาย รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ยืนยันแบบฟันธง ตำรวจมีอำนาจให้ลาสิกขาได้
ยกเว้น นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระรายเดียว ที่หลังถูกจับกุมตามหมายจับของศาล ยอมสึกแต่โดยดี
กรณีการจับกุมพระเพื่อดำเนินคดีอาญาแล้วจับสึก ก่อนที่จะส่งตัวเข้าเรือนจำนั้น มีทั้งกระแสที่เห็นด้วย และย้อนแย้ง...
แหล่งข่าวระดับบริหารชั้นสูงผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในแวดวงการศึกษาของพระ ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจ
เขาได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น ระดับอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งถูกสั่งลงโทษทางวินัย หรือถูกดำเนินคดีอาญา จนต้องพักงาน พ้นจากตำแหน่ง หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งทำให้หลุดจากสถานะเดิมชั่วคราว จนกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือปราศจากมลทิน
หลังจากผ่านกระบวนการสอบสวนทางวินัย หรือศาลพิพากษาแล้วว่า ข้าราชการผู้นั้นไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในทางปฏิบัติการจะได้กลับคืนเข้าไปรับราชการใหม่นั้น ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะเพียงแค่มีคำสั่งแต่งตั้งให้กลับเข้าไปรับราชการในตำแหน่งเดิม และยศเดิม เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็จบ
แต่สำหรับพระนั้น การจับสึกพระ เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะที่เป็นพระผู้ใหญ่ ซึ่งมีอายุพรรษาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นระดับพระเถระ หรือมหาเถระก็ตาม
แหล่งข่าวบอกว่า อย่าไปนึกภาพปนกันระหว่างการจับสึกพระปลอม พระเมาเหล้า หรือพระทั่วไปที่ถูกจับได้ว่ามั่วสีกา เพราะการจับสึกพระผู้ใหญ่นั้น...ถ้าเปรียบเป็นหนัง ต้องถือว่าเป็นหนังคนละม้วน
“ที่ว่าเป็นหนังคนละม้วน เพราะพระผู้ใหญ่แต่ละรูป นอกจากมีตำแหน่งหน้าที่ และบทบาทสำคัญในวงการสงฆ์ ยังมีลูกศิษย์ลูกหา และคนใหญ่คนโต นับถือศรัทธามากมาย ยิ่งกว่านั้นยังมีขั้นตอนและผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากถูกจับสึกให้ต้องคำนึง”

กล่าวคือ ตั้งแต่ถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ถ้าเทียบกับประชาชนทั่วไปที่ตกเป็น “ผู้ต้องหา” หลังจากถูกกล่าวหาว่า ได้กระทำความผิดซึ่งมีโทษทางอาญา ระหว่างที่การสอบสวนของตำรวจยังไม่แล้วเสร็จ...กรณีที่ ศาลไม่อนุญาต ให้ผู้ต้องหารายนั้นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ประกันตัว
ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำตัวผู้ต้องหารายนั้น ไป ฝากขังในเรือนจำ ซึ่งไม่มีความยุ่งยากอันใด
แต่ถ้าเป็นพระ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาว่าได้กระทำความผิดคดีอาญา เช่น ถูกตั้งข้อหาว่ายักยอกเงินทอนวัด กระทำตัวเป็นอั้งยี่ซ่องโจร หรือปลอมแปลงพระปรมาภิไธย เพื่อนำไปใช้สร้างพระหรือวัตถุมงคล
ปัญหาจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงที่การสอบสวนของตำรวจยังไม่แล้วเสร็จ และจำต้องนำพระรูปนั้นไปฝากขังในเรือนจำ หลังจากศาลไม่อนุญาตให้ได้รับการประกันตัว
กรณีเช่นนี้ แหล่งข่าวบอกว่า การจะนำ พระที่ยังไม่สึก เข้าไปพักในเรือนจำ ทั้งชุดหรือเครื่องแบบพระ เช่นเดียวกับนักโทษ หรือผู้ต้องหาอื่น ที่เป็นฆราวาสนั้น ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงต้องให้พระรูปนั้นสึกจากความเป็นพระเสียก่อน จึงจะนำตัวเข้าไปอยู่ร่วมกับนักโทษอื่นในเรือนจำได้
หรืออย่างกรณีที่พระผู้ใหญ่หลายรูป ซึ่งถูกตำรวจรวบตัว แต่ยัง ไม่ยอมเปล่งวาจาสึก ถ้าไม่เปลี่ยนไปนุ่งห่มขาวแทน ก็ต้องสวมชุดแบบเดียวกันกับนักโทษทุกคนในเรือนจำ
“จับประเด็นให้ดีนะ นี่ยังไม่ถึงขั้นตอนการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในศาลเลย ยังอยู่แค่ชั้นพนักงานสอบสวนหรือตำรวจ แค่มีการนำตัวพระภิกษุซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาไปฝากขังเท่านั้น จะเห็นว่า เมื่อตอนนี้ยังไม่มีวิธีอื่นให้เลือก พระที่ตกเป็นผู้ต้องหาจึงมักต้องสึกก่อนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ”
แหล่งข่าวบอกว่า ลองกลับมาเทียบเคียงกัน ระหว่างกรณีของพระ กับข้าราชการอีกครั้ง
กรณีที่เป็นข้าราชการ เมื่อถูกสั่งลงโทษทางวินัย หรือถูกดำเนินคดีอาญา แต่ภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือปราศจากมลทิน การได้กลับคืนเข้าไปรับราชการใหม่ในยศและตำแหน่งเดิมนั้น ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะเพียงแค่มีคำสั่งใหม่แต่งตั้งทุกอย่างก็จบ
แต่กรณีของพระซึ่งยังไม่ทันได้พิสูจน์ตัวเองในชั้นศาลว่ามีความผิดจริงหรือไม่ แต่กลับต้องโดนจับสึกจากความเป็นพระไปก่อนแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาจะแตกต่างจากกรณีของข้าราชการ หรือประชาชนทั่วไปที่กลายเป็นแพะรับบาป แล้วภายหลังพ้นมลทินไกลกันลิบ
“เพราะกว่าจะเป็นพระได้นั้น มีขั้นตอนเยอะ ต้องมีการบวช และได้รับการยอมรับจากหมู่สงฆ์อย่างเป็นเอกฉันท์ ยิ่งเป็นอดีตพระผู้ใหญ่ที่มีทั้งสมณศักดิ์ ซึ่งเทียบได้กับยศ และมีตำแหน่ง เช่น เป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะภาค หรือกรรมการมหาเถรสมาคม ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องถูกหรือผิด ทันทีที่พระระดับนี้ถูกจับสึก นอกจากเกิดการช็อกหรือสะเทือนไปทั่ว ถือว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วกับพระรูปนั้น”
“เรื่องแรกที่เสียหาย คือ หลังจากที่พระรูปนั้นสึก แม้ต่อมาศาลจะพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้ยังสามารถกลับไปบวชพระใหม่ได้ก็จริง แต่มันไม่ง่ายเหมือนกับกรณีของข้าราชการที่บริสุทธิ์ แล้วได้รับการคืนยศ คืนตำแหน่งได้ทันที เพราะทางพระยังมีเรื่องของการนับอายุพรรษา ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หลังการบวชแต่ละครั้ง”
“นอกจากนี้ ระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาคดีของศาล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน ในความเป็นจริง เพื่อให้งานพระศาสนาเดินหน้าต่อไปได้ อาจจะมีการถอดถอนสมณศักดิ์ของพระที่ตกเป็นผู้ต้องหา แล้วเลื่อนสมณศักดิ์หรือแต่งตั้งพระรูปอื่นให้เข้าไปดำรงตำแหน่งแทนที่พระที่กลายเป็นทิดติดคุก”
“แต่หลังจากพิสูจน์ได้ว่า ทิดซึ่งเคยเป็นอดีตพระผู้ใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีนั้นไม่มีความผิด แม้หลังออกจากคุกแล้ว สามารถบวชใหม่ แต่อย่าลืมว่าการนับอายุพรรษาเดิมที่เคยบวชมา 40-50 พรรษา จนได้เป็นพระมหาเถระ ต้องสูญสิ้นไปด้วย แล้วถูกเริ่มนับ 1 ใหม่ อาจมีปัญหาว่า คณะสงฆ์จะยอมให้กลับเข้าไปรับสมณศักดิ์และตำแหน่งเดิมอีกหรือไม่ หรือจะมีใครกล้าเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชให้อดีตพระเถระรูปนี้ เป็นต้น”
แหล่งข่าวบอกว่า จะเอากรณีของพระผู้ใหญ่หลายรูป กับอดีตพระพุทธะอิสระที่กำลังตกเป็นข่าวขณะนี้ไปเทียบกับกรณีของ พระพิมลธรรม ซึ่งในอดีตถูกการเมืองในวงการสงฆ์อิจฉา ป้ายสี และเล่นงานกันไม่ได้
“กรณีพระพิมลธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เมื่อปี 2503 ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ประกอบแต่กุศลกรรม แต่ถูกยัดเยียดข้อหาว่า ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ แอบฝึกอาวุธเพื่อล้มล้างรัฐบาล แม้จะถูกดึงผ้ากาสาวพัสตร์ และจับท่านยัดคุก แต่ท่านก็ไม่ยอมเปล่งวาจาสึก อธิษฐานขอครองตนเป็นพระอยู่ในคุกถึง 4 ปี สุดท้ายศาลทหารพิพากษาว่า ท่านบริสุทธิ์ จึงเป็นคนละกรณีกันกับพระอมเงินทอนวัด หรือปลอมพระปรมาภิไธย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปาราชิก หรือหมิ่นเบื้องสูง”
แหล่งข่าวผู้นี้ให้ข้อสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า
ดังนั้น การเอากฎหมายที่ใช้ปฏิบัติกับประชาชนทั่วไปมาใช้กับการจับพระสึกเพื่อเอาตัวไปเข้าเรือนจำนั้น น่าจะมีมาตรการอื่นที่นุ่มนวลกว่านี้ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จับสึกไว้ก่อนเพราะหลังจากสึกไปแล้ว แม้ต่อมาศาลจะพิพากษาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กว่าจะได้กลับเข้าไปบวชใหม่ และคืนสถานะเดิมให้กัน มันเป็นเรื่องซับซ้อน
ส่วนจะหาทางออกกันอย่างไร เป็นเรื่องที่สังคมไทย ผู้ร่าง และใช้กฎหมาย คงต้องช่วยกันคิด.

ไม่มีความคิดเห็น: