ภารกิจพิชิตฝัน ผลิตคนทันยุค 4.0

ทว่า...กลับสวนทางภาคอุตสาหกรรมไทยในวันนี้ที่ร้อยละ 75 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง...เอสเอ็มอี ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนและขาดแคลนช่างเทคนิคที่มีประสิทธิภาพ การเร่งผลิต...พัฒนาคุณภาพกำลังคนอาชีวะในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน
จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ให้มีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เมื่อช่วงต้นปี 2560 และต่อมามีการประกาศ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2561
“ปฏิรูปการศึกษา”...พัฒนาคนให้ทันยุค 4.0 ยิ่งต้องเดินหน้าเต็มกำลัง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หัวเรือใหญ่ต้องเร่งขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออก และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อีอีซีกำหนดแผนงาน...จัดหลักสูตรที่สอดคล้องกันทุกระดับการศึกษา ทั้งในระดับพื้นที่ พร้อมเปิดกว้างความร่วมมือพัฒนากับมิตรประเทศชั้นนำระดับโลก เพื่อสร้างบุคลากรรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. ผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดการศึกษาในพื้นที่ EEC มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออกและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อรับผิดชอบจัดทำแผนงานบูรณาการ
เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เป็นครั้งที่ 2 ที่ชลบุรี พุ่งเป้าไปที่แนวทางการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย เทคโนโลยี ในการผลิตบุคลากร...งานวิจัยให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรม เพราะแนวทางดังกล่าวเป็น 1 ใน 6 ด้าน ตามแผนพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)
“เพื่อให้งานเกิดความต่อเนื่องจากทุกกระบวนการ ได้มอบให้ศึกษาธิการภาค 3 กับภาค 9 รับผิดชอบจัดทำและขับเคลื่อน ซึ่งจะกำกับติดตามการขับเคลื่อนแผนทั้ง 8 จังหวัดในภาคตะวันออก คือ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด”
ศึกษาธิการระดับพื้นที่จะเน้นไปที่การเพิ่ม “โอกาส” ทางการศึกษาให้ผู้เรียนมี “ทางเลือก” ที่หลากหลาย โดยเฉพาะ “สายอาชีพ” ที่มีการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา กว่า 35 หลักสูตร โดยหวังให้นักเรียนขั้นพื้นฐานมีทักษะ เจตคติที่ดีต่อการศึกษาสายอาชีพ
ขณะที่นักศึกษาอาชีวะสามารถเข้าสู่เส้นทางอุดมศึกษา และมีการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม Thailand 4.0 เช่น หลักสูตร ปวส.ต่อเนื่อง 5 ปี...ตามมาตรฐาน KOSEN โดยวิทยาลัย อาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี), หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Smart System Engineering) วิศวกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart Urban Engineering) โดย มศว องครักษ์ ฯลฯ
งาน “เปิดบ้านการศึกษาในเขต EEC” ที่ผ่านมาเป็นอีกเวทีเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึง กศน. เป็นการสร้างความรับรู้ให้สังคมวงกว้าง เป็นโอกาสที่สถาบันการศึกษาทุกฝ่ายนำผลงาน...นำนักเรียนมาแสดงฝีมือ ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา ชุมชน
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับต่างประเทศส่งเสริมด้านการศึกษาในพื้นที่อีอีซี เช่น พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติ รวมทั้งความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการจัดตั้งสถาบัน Thai-KOSEN และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศเข้ามาร่วมจัดการศึกษา ตามนโยบายเปิดรับความรู้ทันสมัยจากต่างประเทศ
เบนเข็มไปดูการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง...นับเป็นเวลากว่า 8 เดือนที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์ประสาน งานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานการศึกษาทุกสังกัด เพื่อแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
เช่นเดียวกับที่ต้องทำงานเชิงรุกสร้างการรับรู้ไปสู่ “ผู้ปกครอง” และ “ชุมชน” ทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ติดตามเด็กตกหล่นคืนสู่ระบบการศึกษา...
“เด็ก” ทุกคนจะต้องกลับเข้าสู่ระบบ “การศึกษา” หรือ...ให้มากที่สุด
โจทย์ที่ท้าทายคือตัวเลขเด็กกว่า 2.7 หมื่นคนที่จะกลับเข้ามาสู่ “ระบบการศึกษา” คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล เพื่อให้เห็นสถานภาพปัจจุบัน ตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายครบถ้วนแล้ว เป็นหน้าที่ของแต่ละพื้นที่จะจัดหาที่เรียนให้อย่างเหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนแต่ละคน
พล.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่า การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในงานที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพ พร้อมสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง
“การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอันดีงามตามประเพณี ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเท่าทันต่อวิทยาการ...เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”
ภารกิจในครั้งนี้ คือ การให้ความช่วยเหลือประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับการศึกษาครบทุกคน ซึ่งเป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ม.6 หรือ ปวช. ที่มีระยะเวลาการศึกษา 15 ปี
อิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก เสริมว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรตกหล่นทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน มีมากถึง 4.1 ล้านคน ซึ่งเป็นเพียงการประมาณการของรัฐบาลเท่านั้น เชื่อว่า...หากสำรวจอย่างจริงจังคงมีจำนวนสูงกว่านี้...
มีความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องมีความร่วมมือในการให้การศึกษาแก่เด็กตกหล่นร่วมกัน
ความพยายามแก้ปัญหาเด็กตกหล่นของไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องและเป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็ก...เยาวชนตกหล่น ควรที่จะเผยแพร่ผลความสำเร็จให้ทั่วโลกรับรู้ และหวังว่า...จะมีการขยายผลการดำเนินงานไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศไทย
ความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าต่อจากนี้ คือการช่วยให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสนับสนุนเด็ก
สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ครู”...ที่ได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากทุกภาคส่วน หากจะมองย้อนกลับไปในอดีตกว่า 40 ปี เมื่อเราอยู่ในโรงเรียน หากไม่ชอบครู...เราก็จะไม่มีความสนใจที่จะเรียน ดังนั้น ความไว้วางใจต่อครูจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาทิ ครู กศน.ที่เข้าถึงประชาชนทุกตำบลทุกหมู่บ้าน เพราะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
ส่วนครูของ สพฐ. และหน่วยงานด้านการศึกษา ก็มีความเข้าใจดีถึงบทบาทในการช่วยผลักดันเด็ก ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะเรียนในระบบจนจบการศึกษาได้
“ปฏิรูปการศึกษา”...ต้องดูกันยาวๆ ผลปรากฏกับ “ครู” และ “เด็ก” จะค่อยๆเกิดชัดเจนขึ้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น