PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รัฐสวัสดิการ

รัฐสวัสดิการ



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หน.คสช.เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังเตรียมทำคลอด พ.ร.บ.ประชารัฐสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้มีรายได้น้อยให้เป็นระบบครบวงจร
โดยรัฐบาลจะใช้งบ 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประเทศไปอัดฉีดระบบสวัสดิการประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยตามแนวทาง “ประชารัฐ”
ซึ่งไม่ใช่นโยบายประชานิยม!!
ตัวอย่างเช่น...รัฐบาลจะทำโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย 2.7 ล้านครัวเรือนให้มีบ้านของตัวเอง
แสดงว่ารัฐบาล คสช.ตั้งเป้าให้ประเทศไทยกลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” เต็มสตีม
“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเร่งทำคลอด “พ.ร.บ.ประชารัฐสวัสดิการ” เพื่อประกาศใช้โดยเร็ว
จะได้มีข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าแบบไหนเป็นประชารัฐ? แบบไหนเป็นประชานิยม?
แยกกันให้เด็ดขาดว่า นโยบายประชารัฐกับนโยบายประชานิยมแตกต่างกันอย่างไร??
“ประชารัฐ” ดีกว่า “ประชานิยม” ตรงไหน? จะได้มีคำอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม
ข้อดีอีกอย่างของ ก.ม.ประชารัฐสวัสดิการ คือ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์โครงการสวัสดิการของรัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ช่วยให้การตรวจสอบการใช้จ่ายงบสวัสดิการของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ โปร่งใส...ไร้รอยรั่วซึม
นอกจากช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันคำโต ยังช่วยป้องกันโครงการรัฐสวัสดิการแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ขี่ช้างจับตั๊กแตน
โดยเฉพาะโครงการที่ใช้งบก้อนใหญ่ แต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยั่งยืน
อ้อ...ยังมีข้อดีอีกอย่างถ้า พ.ร.บ.ประชารัฐสวัสดิการฉบับใหม่ออกมาประกาศใช้โดยเร็ว
คือรัฐบาลจะไม่สามารถคิดนโยบายเองฝ่ายเดียวตามอำเภอใจ
ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจกับรัฐบาล
เพราะงบรัฐสวัสดิการที่รัฐบาลใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์มาจากเงินภาษีของประชาชนโดยตรง
ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญ...ที่ “แม่ลูกจันทร์” ยังมีปัญหาคาใจ
ประเด็นที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะใช้งบ 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประเทศ นำไปอัดฉีดระบบรัฐสวัสดิการ
พูดง่ายๆ ทุก 100 บาทของงบประมาณรายจ่ายประเทศจะถูกกันไว้ 40 บาท เพื่ออัดฉีดเป็นสวัสดิการประชาชน
ถ้าทำได้จริงอย่างที่ประกาศไว้...ก็ยอดเยี่ยมกระเทียมโทน
แต่ “แม่ลูกจันทร์” เกรงว่า รัฐบาลจะทำไม่ได้จริงอย่างที่ฉายหนังโฆษณา
เพราะงบประมาณรายจ่ายประเทศกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายจ่ายประจำ
สำหรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 1.8 ล้านคน ลูกจ้างประจำ 1.6 ล้านคน พนักงานราชการอีก 2.2 ล้านคน ข้าราชการบำนาญอีกกว่า 6 แสนคน
ถ้าเอาให้ชัดๆ งบรายจ่ายประเทศปีนี้ (2561) รัฐบาลตั้งไว้ 2.9 ล้านล้านบาทขาดตัว
เป็นรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท หรือ 74 เปอร์เซ็นต์
เป็นงบลงทุนพัฒนาโครงสร้างประเทศอีก 6.5 แสนล้านบาท หรืออีก 22 เปอร์เซ็นต์
ต้องผ่อนชำระเงินกู้รัฐบาลอีก 8.6 หมื่นล้านบาท หรืออีก 3 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายจรนี่นั่นโน่นอีกก้อนโต
จึงเหลืองบไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่จะนำไปอัดฉีดสวัสดิการประชาชน
สรุปว่า นโยบายรัฐสวัสดิการเป็นของดีแน่นอน
แต่ถ้าเงินไม่ถึง อัดฉีดไม่ไหว...ก็ทำไม่ได้นะโยม.
"แม่ลูกจันทร์"

ไม่มีความคิดเห็น: