PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ทิ้งบอมบ์การเมือง ชิมลางสนามเลือกตั้ง : ชิ่งประชาธิปัตย์สกัดคสช.

ทิ้งบอมบ์การเมือง ชิมลางสนามเลือกตั้ง : ชิ่งประชาธิปัตย์สกัดคสช.



อุดมการณ์การเมือง ปันใจหรือขายตัว สังคมตั้งคำถามถึงพฤติการณ์ทิ้งบอมบ์ ใส่บ้านเก่า ชนิดบานปลายกลายเป็นคดีความระหว่าง “นคร มาฉิม” กับ “พรรคเก่าแก่”
ในเมื่อชีวิตการเมืองแตกหน่อเติบโตจากพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นแท่นเป็นผู้แทนฝีปากกล้า แต่กลับใช้ยุทธวิธีฮาราคีรี มีสาเหตุจากอะไร นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก เปิดใจให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ให้เห็นภาพกว้างๆถึงสาเหตุที่ทิ้งบ้านเก่า
เพราะไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
พอพรรคประชาธิปัตย์มีมติบอยคอตปุ๊บ ก็ขออนุญาตลาออกจากพรรคปั๊บ
ยอมไปตายเอาดาบหน้า ชีวิตการเมืองเคว้งคว้างอยู่ 2-3 วัน พอดีพรรคชาติพัฒนาให้โอกาสก็ไปลงสมัครชนะผู้สมัครจากพรรคอื่นด้วยคะแนนท่วมท้น ก่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ถูกล้มและทหารยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557
ในจังหวะนั้นก็ลงพื้นที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ตรวจสอบการทุจริตโครงการขุดลอกคลองขององค์การทหารผ่านศึก มีสื่อมวลชนและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยสนใจ อยากจะรู้ว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ ผมก็พาคณะไปดูในพื้นที่ หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ถูกทหารค้นบ้าน ขอยืนยันว่าผมเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่เป็นผู้มีอิทธิพล
แต่เคยอยู่คนละขั้วกับพรรคเพื่อไทย ตรวจสอบรัฐบาลที่เป็นคู่แข่งมาตลอดและอภิปรายถล่มตระกูลชินวัตร ทำไมถึงมาสารภาพความผิดและขอโทษต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายนคร บอกว่า ผมอภิปรายและตั้งกระทู้ถามมากที่สุดคนหนึ่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเกือบทุกมาตรา ชำแหละในหลักการถึงงบฯส่วนนี้น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ขอให้แจกแจงการใช้จ่าย
อภิปรายบนกรอบและให้เกียรติรัฐบาลที่มาจากประชาชน แต่ไม่เคยพูดคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” เพราะผมเคารพเสียงของประชาชน ในเมื่อประชาชนซึ่งเสียงส่วนใหญ่เลือกให้พรรคนี้จัดตั้งรัฐบาล
บริหารประเทศดีประชาชนก็เลือกต่อ ถ้าบริหารไม่ดี ประชาชนทุกข์ยาก ไม่แก้ไขปัญหาให้ประชาชน ถึงเวลาครบเทอมก็คืนอำนาจให้ประชาชน การเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนก็เปลี่ยนมาเลือกพรรคเรา
กระบวนการประชาธิปไตยมันควรพัฒนาไปแบบนั้น
ไม่ควรมีการยึดอำนาจซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์อีกต่อไป
แม้กระทั้งพรรคเพื่อไทยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดประตูให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด ผมก็สนับสนุนในแนวทางประชาธิปไตย จุดยืนทางการเมืองของผมไม่เคยเปลี่ยน
หรือการผลักดันให้นิรโทษกรรมทางการเมือง ก็เห็นด้วย ยกเว้นคดีเกี่ยวข้องทำผิดอาญาเผาบ้านเผาเมือง และมาตรา 112 เพราะเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญปรองดอง ร่วมกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตลิน ประธานคณะกรรมาธิการฯในขณะนั้น ก็ร่วมกันเสนอทางออกให้ประเทศไทยหลังจากบอบช้ำมามากแล้ว
แต่ยุคนี้ทั้งพฤติกรรมและการกระทำของผู้มีอำนาจ ไม่เคยจริงใจนำพาประเทศให้ข้ามพ้นจากความขัดแย้ง สร้างแต่ปัญหาให้เกิดความแตกแยก แบ่งฝ่าย เลือกที่รักมักที่ชัง ไร้มาตรฐานความยุติธรรม
ปรากฏการณ์ตอนนี้บ้านเมืองดูเหมือนสงบ แต่สงบด้วยกฎเหล็ก เอาคำสั่ง เอาปืนมาจี้บังคับไว้
แต่ในหัวใจของคนที่เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องความเป็นธรรมยังคงคุกรุ่น
รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ไร้ความเป็นธรรม ยังมีพฤติกรรมการกระทำที่ข่มขู่ คุกคาม ใช้กระบวนการยุติธรรมและเครือข่ายอำนาจรัฐทั้งหมด เลือกปฏิบัติต่ออีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ยุติธรรม และกลับช่วยเหลือเกื้อกูลฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการยึดอำนาจ
ความแตกแยกในสังคมจึงคุกรุ่น
ยังไม่นับรวมความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าของชาวไร่ ชาวนา ผมลงไปเยี่ยมชาวบ้านต่างถามเป็นเสียงเดียวกันว่าเมื่อไหร่รัฐบาลทหารจะคืนอำนาจ อยากให้ไปพรุ่งนี้เสียเลย
และยังถามผมว่าจะไปอยู่พรรคไหนก็จะเลือก ยกเว้นพรรคที่สนับสนุนทหารให้เป็นรัฐบาล
พรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศไม่สนับสนุนทหาร นายนคร บอกว่า ไม่กลับไปพรรคนี้แน่นอนหลังจากขออนุญาตลาออก แม้มีผู้ใหญ่หลายท่านชวนกลับไปบ้านหลังเดิม ผมก็ขอขอบคุณท่าน แล้วก็บอกไปว่า
“การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เราสู้กัน แต่เป็นการต่อสู้ในเชิงระบอบการปกครอง ผมขออนุญาตยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ยศตำแหน่งไม่ได้สำคัญ ถ้าเกิดเราไปเป็นส่วนหนึ่งของเผด็จการก็ไม่ต้องมีดีกว่า”
ทำไมถึงออกมาถล่มพรรคประชาธิปัตย์ นายนคร บอกตรงๆว่าไม่ได้พาดพิงพรรคไหนหรือใครเลย ที่พูดไปมีเพียงคำว่าผมเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
นอกนั้นทั้งฝ่ายการเมือง นายทุน ขุนศึก ศักดินา อำมาตย์ ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมบางคน บางท่านที่ร่วมขบวนการล้ม “รัฐบาลทักษิณ-รัฐบาลยิ่งลักษณ์”
ทั้งหมดพูดจากใจ มันคือความจริงที่ได้สัมผัส และยังได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการพัฒนาการเมืองไปสู่ความเป็นสถาบัน เปรียบเทียบพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทั้ง 2 พรรคล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อน พร้อมมีข้อเสนอแนะให้พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันการเมือง
เช่น จุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่สามารถตอบโจทย์สังคมในทุกภาคส่วนได้อย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่ดูแลชนชั้นกลางกับชนชั้นบน ส่วนเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้ใช้แรงงานยังรู้สึกห่างไกล
เฉกเช่นจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยพอได้อำนาจแล้วไม่ค่อยฟังใคร มองจากข้างนอกเข้าไปนายทักษิณ ชินวัตรเสมือนเป็นเจ้าของพรรค การตัดสินใจอยู่ที่ผู้นำไม่กี่คน ไม่มีภาพการบริหารให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนจริงๆ แต่มีจุดแข็งที่นโยบายตอบโจทย์ของคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนา คนยากจน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มสังคมการเมืองจะเดินไปสู่แบบอนุรักษนิยม หากพรรคเพื่อไทยชนะก็จะเดินไปสู่เสรีนิยมยุคใหม่
ฉะนั้นเมื่อทั้ง 2 พรรคต่างมีจุดอ่อนและจุดแข็ง ก็ต้องพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับสังคม
และยังมีจุดอ่อนจากปัจจัยภายนอก คือ การยึดอำนาจ พอการเมืองพัฒนาเข้มแข็งไปสักระยะ ก็มีสถานการณ์ทหารให้ยึดอำนาจ ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและพัฒนาการเมืองไทย
ในวันนี้ชีวิตทางการเมืองคงเข้าพรรคเพื่อไทย นายนคร บอกว่า ความจริงมี 4-5 พรรคเข้ามาทาบทาม ทั้งพรรคที่อ้างว่าสนับสนุนทหาร เสนอสิทธิประโยชน์มากมาย ทั้งตำแหน่งการเมือง ทรัพย์สินเงินทองสูงถึง 50 ล้านบาท
แต่ปฏิเสธไป เพราะไม่สามารถทรยศตัวเอง ไม่สามารถรับใช้เผด็จการ ไม่สามารถทรยศต่อประชาธิปไตยและประชาชนได้ แม้เราเป็นเพื่อนเป็นพวกกัน แต่อุดมการณ์ไปด้วยกันไม่ได้
พรรคเพื่อไทยก็ทาบทามพูดคุยกัน แต่ยังไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกยุบก่อนการเลือกตั้งหรือไม่
ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะไปอยู่พรรคไหน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคอื่นๆ หากพรรคไหนปฏิเสธระบอบเผด็จการและร่วมล้างมรดกบาปของเผด็จการก็ร่วมอุดมการณ์กันได้
วิธีล้างมรดกบาป ขอเสนอว่าในเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อ้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านประชามติ เราก็ต้องขอประชามติจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ จะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเพิ่ม
ถ้าผลประชามติออกมาว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกบาปแล้ว ค่อยสะสางอย่างอื่นต่อไป เพื่อออกแบบโครงสร้างประเทศเพื่อประชาชน โดยประชาชน ให้เป็นไปตามหลักสากล ฟรีแฟร์ ต่อทุกฝ่าย
มาถึงวันนี้ขอเป็นไม้ขีดก้านเล็กๆ จุดไฟเรียกร้องทุกพรรคการเมือง รวมพลังแสดงจุดยืนถือธงนำล้างรัฐธรรมนูญเผด็จการ ประชาชนจะได้รู้ว่าใครยืนอยู่ฝั่งไหน ยกทั้งหมดให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของประชาชน
ถ้าคนไทยชอบทหารก็เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ให้ครองอำนาจต่อไป
ถ้าคนส่วนใหญ่เข็ดแล้วก็เลือกฝ่ายประชาธิปไตยแบบแลนด์สไลด์
หลังเลือกตั้งร่วมตั้งรัฐบาล แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
ภายใน 2 ปีคืนอำนาจให้ประชาชน พรรคการเมืองก็เริ่มแข่งขันนโยบายและสร้างความปรองดอง
เพื่อปิดประตูป้องกันทหารปฏิวัติตลอดกาล.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: