PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

นับถอยหลังสู่สนามเลือกตั้งเดิมพันอำนาจ : กรรมการต้องเป็นกลาง

หลังถูกกฎเหล็ก ม.44 ปลดจากกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ประกาศลงสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว มีหลักการยืนอยู่พรรคฝ่ายประชาธิปไตย มุ่งหน้าแก้รัฐธรรมนูญดีไซน์ใหม่เพื่อส่วนร่วม

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. มีหลายพรรคขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ส่งความปรารถนาดีและให้เกียรติเทียบเชิญ พอเปรียบเทียบแนวทางของเรากับพรรคการเมืองต่างๆ พบว่าตรงกับ แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์

และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังประกาศจุดยืนไม่เอารัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่ถ้าวันหนึ่งอุดมการณ์เปลี่ยนไปก็สามารถเดินออกมาโดยไม่มีอะไรผูกมัด

วันนี้ นายสมชัย ยังอดเป็นห่วงกระบวนการทำงานของ กกต. สุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดวิกฤติการเมืองในอนาคต หากบริหารจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

เคยย้ำมาตลอดถึงปัญหารากฐานเกิดจากการเขียนรัฐธรรมนูญ กำหนดคุณสมบัติของ กกต.ขั้นเทพ พอได้ผู้ที่คุณสมบัติครบ ก็ได้คนที่อาจจะไม่มีปฏิสัมพันธ์ในเรื่องเหล่านี้มาก่อน

ตอนนี้การทำงานต้องฝากความหวังค่อนข้างมากไว้กับสำนักงาน กกต. ซึ่งคอยเสนอทางเลือกต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางตัดสินใจที่ดีให้กับ กกต. และคอยเสนอกระบวนการ ขั้นตอนต่างๆ กฎระเบียบให้ กกต.ได้รับทราบ เพื่อให้ทำงานได้

สำนักงาน กกต.แม้เป็นมืออาชีพ เคยชินกับการเลือกตั้งมาถึง 20 ปี แต่ราชการอาจจะไม่กล้าตัดสินใจหรือกล้าคิดริเริ่ม กล้าเสี่ยงที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ การทำงานค่อนข้างเป็นงานประจำ อันนี้น่าเป็นห่วง

กกต.ก็ไม่สามารถอาศัยศักยภาพของสำนักงาน กกต. ในการทำงานได้อย่างเต็มที่ การเรียนรู้สิ่งต่างๆในเวลาอันสั้นก็ทำได้ยาก

ทั้งหมดนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญและการตัดสินใจเปลี่ยนม้ากลางศึกของ คสช. เอาคนที่ไม่รู้เรื่องในด้านนี้มาทำหน้าที่เป็น กกต. ภายใต้หลักต้องทำงานให้เกิดผลดี โดยไม่ยึดหลักการเอาผู้ที่เคยมีประสบการณ์และกำกับการดูแลการเลือกตั้งมาตลอดระยะเวลา 4 ปี

เห็นใจ กกต.ชุดใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นเทวดา สามารถเนรมิตสิ่งต่างๆให้ได้ ขอย้ำว่าปัญหาเกิดจากกติกาและการตัดสินใจของ คสช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ไว้วางใจ กกต.ชุดเก่า จึงเปลี่ยนชุดใหม่เข้ามา ที่อาจจะเป็นคนของคุณใช่หรือไม่ เราไม่รู้

เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ต้องยอมรับสภาพ การทำงานอาจจะมีข้อขัดข้อง ติดขัด ไม่สามารถทำงานได้ผลเต็มที่

ดูภาพรวมมองเห็นปัญหาข้อติดขัดอะไรบ้าง ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นายสมชัย บอกว่า มีหลายเรื่อง เอาง่ายๆแค่การแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งต้องเกิดภายใต้กรอบกติกาที่ออกโดย กกต. ก็ยังทำไม่สำเร็จ ทำเสร็จแล้วแต่ไม่ยอมส่ง ทำไม่ถูกระเบียบ

ก็ขออำนาจที่เหนือกว่ามาช่วย อาศัยคำสั่งของ คสช.เพื่อนิรโทษกรรมให้ตัวเอง

ตัวช่วยดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลดี เพราะอาจจะกลายเป็นทำให้รู้สึกว่าทำผิดได้ เดี๋ยวก็มีคนมาช่วยแก้

หลายเรื่องหลังจากนี้อาจนำไปสู่ปัญหาและยังไม่แน่ใจวิธีการของคนในสำนักงาน กกต.ว่าคิดอย่างไร

เช่น กรณีแรกการแบ่งเขต มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.ส่วนหนึ่งเสนอว่าไม่ต้องฟังความเห็นจากประชาชน เคยขอในสมัยผมเป็น กกต.ว่า ถ้าเร่งรัดและไม่ทันจะขอตัดขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชนออกได้ไหม

ความจริงทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ แต่ถ้า กกต.ไม่รู้และเชื่อเจ้าหน้าที่มากเกินไป หรือ กกต.รู้สึกว่าสิ่งที่เสนอขึ้นไปถูกต้อง ตัดสินตามเจ้าหน้าที่เสนอ กกต.ย่อมทำผิดรัฐธรรมนูญ

กรณีที่สองการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การเลือกตั้งคราวนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น เขตการเลือกตั้งแต่ละเขตมีหมายเลขของพรรคไม่เหมือนกัน

“การทำบัตรเลือกตั้งที่สมบูรณ์ต้องมี 1.หมายเลข 2.ชื่อพรรค 3.โลโก้พรรค ถ้าสมบูรณ์ที่สุดต้องมีชื่อผู้สมัคร ส.ส. บางประเทศมีรูปผู้สมัคร ส.ส.ด้วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ทราบข้อมูลแน่นอนก่อนเลือก”

ฉะนั้นบัตรเลือกตั้งต้องทำให้ถูกต้อง สอดคล้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้ง 1 ใบเลือกทั้งคนทั้งพรรค

ตอนนี้กลัวใจของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.บางคน จะเสนอให้ กกต.ว่ากรอบการทำบัตรเลือกตั้งมันยุ่งยากเกินไปหรือไม่ ถ้าต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบ จะหาโรงพิมพ์ที่ไหน ระยะเวลาพิมพ์อาจจะไม่ทัน การป้องกันการทุจริตก็จะทำได้ยากลำบากมากขึ้น

ในที่สุดจะเสนอให้พิมพ์เฉพาะหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. พิมพ์ที่โรงพิมพ์แห่งเดียว ระบบการรักษาความปลอดภัยจะทำได้ง่าย การทุจริตทำได้ยาก

ผลตามมาผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสับสน อาจจำหมายเลขผิด นึกจะเลือกพรรคนี้ก็ไปเลือกอีกเบอร์หนึ่ง

การฟ้องร้องจะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้นผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร วันดีคืนดีศาลวินิจฉัยว่า การออกแบบบัตรเลือกตั้งแบบนี้ผิด กกต.จะรับผิดชอบหรือไม่ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไร หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นใหม่จะต้องเสียงบประมาณอีกหรือไม่ ทั้งหมดก็เป็นปัญหา

นอกจากนี้ ยังไม่มั่นใจว่า กกต.จะใช้กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ดีหรือไม่ ประเด็นเกิดจากการออกแบบกติกาใหม่ จะไปต่อว่า กกต.ไม่ได้

กกต.ไม่ต้องการผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ต้องการคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่งทำงานประจำ อยู่ในพื้นที่นั้นๆ มีเครือข่าย มีส่วนงานคอยสนับสนุน มีกำลังคนเข้ามาช่วยเสริม มีความคิดใหม่ๆ ช่วยกำกับดูแลในการทำงานแต่ละจังหวัด

เป็นคนที่คอยตามในการทำงานของสำนักงาน กกต. เพื่อไม่ให้สำนักงาน กกต.มีอำนาจมากเกินไป

เมื่อยกเลิกกลไกเดิมและไปสร้างกลไกใหม่ โดยมีผู้ตรวจการเลือกตั้งในจังหวัด ซึ่งมี 2 คนเท่านั้นทำงานในจังหวัดนั้น ที่เหลืออีก 4 หรือ 6 คนไปทำงานในกลุ่มจังหวัดนั้น

คำถามคือ ผู้ตรวจการเลือกตั้งรู้จักคนในพื้นที่และรู้จักพื้นที่นั้นๆหรือไม่ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากน้อยแค่ไหนจะเกิดผลสำเร็จไปตรวจสอบ กำกับติดตามการเลือกตั้งได้แค่ไหน เป็นเครื่องหมายคำถามที่ท้าทาย

ถ้าทำงานไม่สำเร็จจะไปโทษ กกต.ไม่ได้ ต้องโทษฝ่ายออกกติกา ทั้งคนเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ กกต.จะกำกับดูแลต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อย่างไร ถึงจะอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไม่มีการใช้จ่ายเกินกว่า กกต.กำหนดเอาไว้ เป็นโจทย์ใหญ่มาก

ยังไม่นับรวมจะมีขบวนการที่ไม่เปิดเผยว่า ตัวเองเป็นใคร ใช้วิชามารทำลายคู่แข่ง

วิธีการเหล่านี้ทำได้จากทั่วโลกไม่จำกัดเฉพาะในประเทศไทย ส่งคลิปมาจากสหรัฐอเมริกายังได้ โจมตีผู้สมัครคู่แข่งก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน เพื่อทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงยังทำได้

กกต.จะตามทันหรือไม่ อาจจะเป็นส่วนที่ยากมากสำหรับ กกต. ถึงผมเป็น กกต.ก็บอกว่ายาก ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องหารือกับหลายๆฝ่ายเพื่อหาทางแก้โจทย์นี้

“ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง เดิมพันประเทศ เดิมพันอำนาจรัฐ

ทุกฝ่ายต้องทุ่มเทต่อสู้เต็มที่ ยิ่งผู้มีอำนาจหรือรัฐมาเป็นหนึ่งในผู้เล่น

สิ่งที่กระทำโดยรัฐ โดยผู้นำประเทศอาจหมิ่นเหม่ สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

กกต.จะกล้าสวมหัวใจสิงห์ไปเตือนหรือไม่ ถ้าเตือนแล้วยังทำต่อ จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรต่อ

โจทย์ใหญ่ที่สุดของ กกต. จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม

หากไม่สามารถสร้างภาพให้สังคมยอมรับว่า กกต.มีความกล้าหาญและเป็นกลางจริง

ความเชื่อถือของสังคมต่อการเลือกตั้งครั้งนี้จะหมดไป ผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นที่ยอมรับ”

เกมชิงอำนาจรัฐเดิมพันประเทศ ทุกฝ่ายต้องต่อสู้ทุกรูปแบบ เป็นห่วงอำนาจรัฐจะเข้าไปแทรกแซง กกต.อย่างไร นายสมชัย บอกว่า ฝ่ายรัฐหรือผู้มีอำนาจต้องวางตัวเป็นกลาง

ไม่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ จน กกต.ต้องเกรงใจ หรือการเกรงกลัวที่จะต้องรับฟังข้อเสนอ เพราะมีอำนาจ ม.44 ที่เหนือกว่าจะทำการปลดออกได้

เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจควรคิดให้ออกว่าควรทำหรือไม่ พึงรู้ได้ด้วยตนเอง.

ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: