PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

หุ้นสัมปทานทำพิษ 3 รมต.-1 ผู้ช่วยรมต. รอดยาก!?

(13/1/62)หากตีความตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ใน หมวด  9 เรื่อง การขัดกันแห่งผลประโยชน์ บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา  184 วงเล็บ (2)บัญญัติห้ามไม่ให้ ส.ส.และสว.  ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ  หน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจ  หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ  หน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะ เป็นการผูกขาดตัดตอน  หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็น คู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว  ทั้งนี้  ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ซึ่งกรณีดังกล่าว เมื่อไปดูรธน.อีกมาตราที่เชื่อมโยงกันคือมาตรา  186 บัญญัติชัดเจนว่า ให้นําความในมาตรา  184ข้างต้น  มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม ซึ่งแม้มีข้อยกเว้นไว้หลายเรื่องในมาตราดังกล่าว แต่ไม่มีการเขียนล้อเอาไว้ เพื่อไม่ให้รมต.ถือครองหุ้นสัมปทาน

ดังนั้น หากรัฐมนตรีมีหุ้นสัมปทานไว้ในครอบครอง ก็จะไปเข้าข่ายต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามรธน.มาตรา 170 ที่บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ในวงเล็บ  (5) กระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา186หรือมาตรา187ที่ก็คือไปถือครองหุ้นสัมปทาน

ประเด็นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญปี 60  ที่เป็นรธน.ฉบับปัจจุบัน รวมถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี  2553 ซึ่งตุลาการศาลรธน.ปัจจุบันหลายคน ก็อยู่ร่วมตอนเขียนคำวินิจฉัย ได้ตีความกรณีรัฐมนตรี-ส.ส.-สว.ถือหุ้นสัมปทานไว้ชัดเจน ที่สรุปได้ว่า  ทั้งรธน.และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ห้ามรัฐมนตรี-ส.ส.-สว. มีหุ้นสัมปทาน แต่ห้ามไว้ว่า หากเข้ารับตำแหน่งเช่น เป็นรัฐมนตรี ต้องไม่ถือครองหุ้นไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือห้ามทุกกรณี พูดง่ายๆ หากมีไว้ ก็ต้องขายหมด จะเอาไปฝากไว้กับภรรยาที่เป็นคู่สมรส  ก็ไม่ได้ อันเป็นการเขียนรธน.ที่ก็ชัดเจนอยู่แล้วคือเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะรมต.อยู่ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกมติครม.หรือออกฎหมาย ทำโครงการที่อาจทำให้บริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐแม้จะเป็นบริษัทกึ่งๆ รัฐวิสาหกิจอย่างบริษัทลูกของ ปตท.ก็ตาม ได้ประโยชน์ ได้โครงการ จนทำให้หุ้นขึ้น แล้วรัฐมนตรี-คู่สมรส คนในครอบครัวก็ได้ประโยชน์จากหุ้นที่เพิ่มขึ้น

แต่กรณีของส.ส.-สว. คำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่เป็นบรรทัดฐาน มีดีกรีความเข้มข้นน้อยลงมาหน่อย คือ ให้ส.ส.-สว.หากมีหุ้นมาก่อนจะมาเป็นส.ส.-สว. ยังให้ถือไว้ได้ แต่ห้ามซื้อเพิ่ม ห้ามครอบครองเพิ่ม หลังเข้ารับตำแหน่งส.ส.-สว. แต่ของรมต. นั้น ห้ามถือไว้เลยแม้แต่หุ้นเดียว ต้องขายทิ้งหมด

ดังนั้น หากดูตามหน้าเสื่อ การสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญของ   3.รมต. คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ , นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และอีกหนึ่งอดีตรมต. ที่ปัจจุบันเป็น  กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ยุติธรรม คือ  ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ จึงลุ้นหนักไม่ใช่น้อย มีโอกาสสูงที่อาจถูกศาลรธน.ชี้ว่ามีคุณสมบัติขัดรธน.

เพราะบางคน เช่น ไพรินทร์ ชูโชติถาวรก็เข้ามาเป็นรัฐมนตรี หลัง รธน.ประกาศใช้  6 เม.ย. 60 จนไปแสดงบัญชีทรัพย์สินกับป.ป.ช.และถูก เรืองไกร เรืองกิจวัฒนะ นำไปร้องต่อกกต. นอกเสียจาก ฝ่ายทนายความของ ทั้งสี่คน ต้องไปสู้คดีในประเด็นต่างๆ เช่น หุ้นที่ถืออยู่  ไม่เคยรับสัมปทานจากรัฐ แต่ดูแล้ว ก็คงยาก เพราะบริษัทเหล่านี้ ตรวจสอบได้ง่ายว่ามีสัญญาสัมปทานจากรัฐ จริงหรือไม่ ซึ่งแค่เพียงหนึ่งสัญญา ก็ถือว่าเข้าข่ายแล้ว

ส่วนหากว่า ทั้งสี่คน ไม่รอดในศาลรธน.จะเป็นอย่างไร ก็พบว่ารธน.ปี  60 เขียนต่างจากรธน.ปี50  คือต่อให้ลาออกจากตำแหน่งรมต.ก่อน ศาลรธน. ตัดสินก็ไม่มีผล และสุดท้าย หากไม่รอด ก็ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นรมต.ภายในสองปีนับแต่ศาลรธน.ชี้ขาด แต่ไม่ห้าม หากจะมีตำแหน่งในพรรคการเมืองเช่น รองหัวหน้าพรรค


ด้วยเหตุนี้ หาก สุวิทย์ เมษินทรีย์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ลงส.ส.ไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติ หากหลังเลือกตั้ง พลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล ก็อดเป็นรมต. อยู่ดี 

ท่ามกลางข้อสงสัยกันว่า แล้วหน่วยงานอย่าง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เป็นด่านแรกในการตรวจสอบ คุณสมบัติ ให้คำแนะนำบุคคลที่จะมาเป็นรมต. ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ต้องทำอย่างไรไมให้ขัดรธน. ไม่ได้ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ  เรื่องพวกนี้ ได้อย่างไร ????

ไม่มีความคิดเห็น: