PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

จรัญ พงษ์จีน : ข้อสรุป “การเลือกตั้ง” ที่รอความชัดเจน ภายใต้เงื่อนไขใหม่

จนป่านนี้แล้วยังหาบทสรุปไม่ได้ว่า “วันเลือกตั้ง” จะเลื่อนโปรแกรมไปลงตัวในวันไหน รู้แต่ว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่น่าจะได้เลือกตั้ง สาเหตุที่ยังไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ เพราะ “รัฐบาล”กับ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ต่างมุมมอง

เลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล “กกต.” ต้องตัดสินใจเอง ขณะที่ “กกต.” ก็น่าเห็นใจไม่ใช่น้อย จะเลื่อนโปรแกรมหรือไม่ ต้องรอให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส.ก่อน กกต.จึงกำหนดโปรแกรมเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาได้

เรื่องอย่างนี้ไม่อยากสุ่มเสี่ยง เคยมีหนังตัวอย่างให้ดูชมมาแล้ว เกิดจับพลัดจับผลู พวกหัวหมอไปยื่นฟ้องร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือฟ้องแพ่ง ฟ้องอาญา อาจถูกเช็กบิลเอาได้ง่ายๆ “7 เสือ กกต.” จึงต้องมากด้วยความระมัดระวัง

จุดที่ทำให้ กกต.เสียวตาปลามากที่สุด คือประเด็นว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “ต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน” หมายถึง รวมอีก 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้ง เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่

เพราะมันคาบเกี่ยวอยู่ 2 มาตรา ระหว่าง “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” มาตรา 85 ที่กำหนดว่า ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน “ตั้งแต่วันเลือกตั้ง”

ขณะที่ “บทเฉพาะกาล” มาตรา 268 ระบุไว้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรกให้จัดการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งหมายถึงจัดการเลือกตั้งและเหมารวมการถึงนับผลคะแนนด้วย

เมื่อมันเสี่ยงเยี่ยงนี้ “กกต.” จึงต้องตีกรรเชียงดึงจังหวะ นี่คือที่มาว่า ทำไมไม่กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ซะที ไม่ได้ประชดหรืองัดข้อรัฐบาลแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาล ก็ไม่ได้กดดันหรือแอบเขียน “ใบสั่ง” ให้ กกต.เลื่อนเลือกตั้งไปวันไหน การที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายเดินทางไปพบ 7 เสือ กกต.เมื่อวันที่ 3 มกราคม ก็ไม่ได้เสวนาประเด็นเลื่อนเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรือเลื่อนโปรแกรมเลือกตั้งแต่ประการใด

“รองวิษณุ” เพียงแต่แจ้งให้ กกต.ทราบว่า ระหว่างวันที่ 4, 5, 6 พฤษภาคม 2562 มี “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” ซึ่งถือเป็นช่วงมหามงคลที่สำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย

เพื่อให้ “กกต.” นำไปประกอบการกำหนดวันเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาวันเลือกตั้งที่เหมาะสม เพราะนอกเหนือจาก 3 วันในส่วนของพระราชพิธีแล้ว ยังมีการประกอบพระราชพิธีก่อนและหลังวันพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี

โดย “อาจารย์วิษณุ” นำหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” ยกสาระสำคัญแห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้ดูพอสังเขป

และย้ำให้เห็นว่า พระราชพิธีไม่ได้เกิดขึ้นเพียง 3 วันเท่านั้น แต่ก่อนและหลังพระราชพิธี ยังต้องมีกิจกรรมอื่นนำหน้า 15 วัน กิจกรรมตามหลังอีก 15 วัน

อาทิ “พิธีทำน้ำอภิเษก” นำน้ำจาก 4 แหล่งคือ จากปัญจมหานที ในประเทศอินเดีย เอามาเจือปนกับน้ำที่จะได้ในแหล่งที่สอง คือแม่น้ำบริสุทธิ์ที่สำคัญหลายสายในประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ป่าสัก แม่กลอง และเพชรบุรี มาเจือปนกับแหล่งที่สาม คือน้ำจากสระทั้ง 4 จากสุพรรณบุรี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กับจากแหล่งสุดท้ายคือน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งหมายเอาไว้แล้วว่า จะใช้น้ำจากห้วย หนอง คลอง บึง หรือสระใด

หลังพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก จะต้องมี “พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ” ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสนาราม เพื่อจารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระบรมราชสมภพ

และพระราชลัญจกร จารึกพระนามสมเด็จพระสังฆราช จารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับสถาปนาเลื่อนพระยศ

“พิธีถวายสักการะพระบรมอัฐิ พระอัฐพระราชบุพการี พิธีสรงน้ำพระมูรธาภิเษก และถวายน้ำอภิเษก” เป็นต้น

สำหรับวัน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10” วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

5 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

6 พฤษภาคม 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพรชัยมงคล

จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

หลังจากพระราชพิธี เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่พระราชพิธี และเป็นเรื่องที่รัฐบาลและประชาชนจัด เช่น กิจกรรมสวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคล กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติจิตอาสา ด้วยการบูรณะแม่น้ำ ลำคลองทั่วประเทศ

และอาจจะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คณะกรรมการอำนวยการจะได้ประชุมหารือกัน เช่น การจัดงานสโมสรสันนิบาต

“สำหรับขั้นตอนแบบแผนตามโบราณพระประเพณี พระราชพิธีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในแต่ละรัชกาล ซึ่งบางรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีเต็มตามตำรา บางรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีอย่างย่อ ขึ้นอยู่กับพระราชดำริของแต่ละรัชกาล”

ไม่มีความคิดเห็น: