PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทบทวนข่าว3นโยบายสหรัฐในเอเซีย

โอบามาเผย 3 นโยบายสหรัฐในเอเชีย”ลงทุน-รักษาเถียรภาพ-พัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

  
โอบามาเยือนไทยบอกรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าในหลวงทรงเป็นผู้นำทางด้านสติปัญญา ถือเป็นเอกลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของประเทศ  เผย 3 นโยบายต่อเอเชีย ขยายการลงทุนของสหรัฐ-ร่วมรักษาเสถียรภาพและดูแลภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาทรัพยาการมนุษย์และสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.เวลา 18.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อร่วมพิธีต้อนรับงานเลี้ยงที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข
นอกจากนี้ยังมีนายทหาร ตำรวจ ทั้ง 4 เหล่าทัพ ให้การต้อนรับ โดยนายกรัฐมนตรีไทย นำประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศที่บริเวณสนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้า
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามในสมุดเยี่ยม (REUTERS/Jason Reed )
ลงนามในสมุดเยี่ยม      
ต่อมานายโอบามา ได้ลงนามในสมุดเยี่ยม พร้อมทั้งหารือระดับทวิภาคี ซึ่งมีประเด็นหลักที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ คือ เรื่องของการประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเจรจาความต้องการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี (TPP) ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ทั้งภาคการเกษตรและอิเลกทรอนิกส์ ที่ไทยสามารถส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯโดยไม่เสียภาษี แต่จำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องของมาตรฐานที่สูงกว่ากรอบการค้าเสรีทั่วไป
จากนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีไทย จะแถลงข่าวร่วมกัน และฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพในการเลี้ยงอาหารค่ำแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯและคณะ
ตรวจเข้มรักษาความปลอดภัย
ทั้งนี้ ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ประมาณ 3 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกาได้ตรวจเข้มพื้นที่ทั้งในและนอกทำเนียบรัฐบาล พร้อมนำอุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด และสุนัขดมกลิ่นสแกนทุกพื้นที่ รวมถึงห้องทำงานของสื่อมวลชน กระเป๋าสัมภาระและอุปกรณ์ทำข่าวทุกชนิด
โดยมีการเชิญให้สื่อมวลชนทั้งไทย และต่างประเทศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่กองงานโฆษกทำเนียบรัฐบาล ที่ทำหน้าที่ตรวจสแกนบัตรและกล้องถ่ายภาพ ออกจากรั้วทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด ในระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าพื้นที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อ นอกจากนี้มีการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจนอกเครื่องแบบหน่วยดูแลพื้นที่สูงข่ม ระวังอาวุธวิถีตรงและโค้ง ชุดต่อต้านการซุ่มยิงและการซุ่มโจมตี อยู่ประจำตึกสูงโดยรอบทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งปิดการจราจรถนนพิษณุโลกในระหว่างที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฏิบัตภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล
วางตัวนักข่าวไทย-ต่างประเทศถามคำถาม 
U.S. President Barack Obama (L) and Thailand’s Prime Minister Yingluck Shinawatra participate in a joint news conference at the Government House in Bangkok November 18, 2012. (Photo By SUKREE SUKPLANG/REUTERS)
ภายในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ได้มีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติต่างรอการแถลงข่าว ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวจากประเทศไทย 2 คน สำนักข่าวต่างประเทศ 2 คนถามคำถามถึงนายโอบามา และพบว่าเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้สกรีนคำถาม
ในที่สุดมีผู้สื่อข่าวของไทยได้มีโอกาสถามคำถามถึงนายโอบามา 2 สำนัก คือผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด ต่อมาได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นผู้สื่อข่าวประจำโต๊ะต่างประเทศ ไม่ค่อยได้ออกมาทำข่าวภายนอก ยอมสารภาพว่าบรรณาธิการเป็นผู้เขียนคำถามให้ และเนื่องจากภาษาอังกฤษดี จึงถูกส่งให้มาถามคำถาม
ภายหลังการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างนายโอบามา กับนางสาวยิ่งลักษณ์ แล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ จะมาหารือกับผู้สื่อข่าวทั้ง 2 สำนัก
โอบามาถือเป็นภารกิจเร่งด่วนฟื้นสัมพันธ์
จากนั้นเวลา 20.00 น. นายโอบามา แถลงภายหลังหารือทวิภาคีกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญในการเยือนอาเซียนแปซิฟิก ถือเป็นภูมิภาคที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุด จะเป็นตัวกำหนดความมั่นคงและความมั่นคั่งในศตวรรษต่อไป มีส่วนสำคัญในการสร้างงานให้คนอเมริกัน นี่คือเหตุผลในการฟื้นฟูสัมพันธ์ในภูมิภาค เป็นภารกิจเร่งด่วน และกระชับความเข้มแข็งของประชาธิปไตย
นายโอบามากล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำทางด้านสติปัญญา ความมีศักดิ์ศรี ถือเป็นเอกลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของประเทศนี้
นอกจากนี้ยังภูมิใจที่ได้ยืนเคียงข้างกับผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่หยุดนิ่งไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ซึ่งประชาธิปไตยในไทยให้ความสำคัญโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา หรือสื่อมวลชน
นายโอบามากล่าวยืนยันที่จะค้ำจุนหลักธรรมาภิบาล ความเป็นประชาธิปไตย หลักนิติธรรม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงความร่วมมือด้านกองทัพและการเป็นหุ้นส่วนการป้องกันการก่อการร้าย ยาเสพติด และบรรเทาภัยพิบัติ
U.S. President Barack Obama delivers remarks during a toast alongside Thailand’s Prime Minister Yingluck Shinawatra (2nd R) at a dinner at Government House in Bangkok, November 18, 2012. (Photo By Jason Reed/Reuters)
“ขอชื่นชมไทยที่เข้าร่วมการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูง เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในแปซิฟิก การขยายการค้า หลังจากที่ไทยวางพื้นฐานในการเข้าร่วมการตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง ขอขอบคุณไทยที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และเรื่องผู้ลี้ภัย”โอบามากล่าว
ฉลองความสัมพันธ์ 180 ปี
ทางด้าน นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไทยยินดีที่นายโอบามาเดินทางมาเยือนไทย และเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต180 ปี ไทย-สหรัฐ และถือเป็นเกียรติได้ร่วมเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย้ำความสัมพันธ์ใกล้ชิดของ 2 ประเทศ รวมถึงการหารือทวิภาคี ที่เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง เพราะเชื่อมั่นในสิ่งเดียวกันคือประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและตลาดเสรีนี่คือความมุ่งมั่นของรัฐบาลนี้ในการปกป้องประชาธิปไตยในประเทศ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวขอบคุณนายโอบามาที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในไทย รวมถึงการมองอนาคตในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทั้งในอาเซียนแปซิฟิกในการสร้างงาน และตกลงในการเพิ่มความพยายามสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร เราตกลงร่วมกันว่าไทยเป็นยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน เพื่อทำให้ภูมิภาคนี้เป็นเครื่องโยงในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก
มติชน-ข่าวสดจับกุมตัวคนสลายการชุมนุมปี 2553
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามโดยจากไทย 2 คำถามและสื่อต่างประเทศ 2 คำถาม โดยสื่อมวลชนฝ่ายไทยจากเครือมติชน-ข่าวสดถามว่า ในการหารือของสองประเทศได้มีการพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยแล้วพอใจหรือไม่กับสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะยังไม่มีการจับกุมตัวผู้กระทำผิดจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ทำให้มีผู้ล้มตายมากมาย
นางสาวยิ่งลักษณ์ตอบว่า เรื่องประชาธิปไตยตอนนี้ความตั้งใจของเราคือเสถียรภาพ เพราะในประชาธิปไตยเราเชื่อว่าเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่เราจะต้องเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือจะต้องมีความปรองดองในชาติและในประเทศไทยนั้นเราจะต้องยึดมั่นเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยยึดหลักกฎหมายและต้องมีการปฏิบัติอย่างทั่วถึง ซึ่งในประเทศไทยเราต้องการที่จะเห็นความปรองดองในชาติ เราจะต้องมีวิธีการที่สงบ โดยใช้สันติวิธี
โอบามายึดหลักประชาธิปไตยจากเสรีภาพทุกด้าน  
ด้านนายโอบามา กล่าวว่า ประการแรกประชาธิปไตยมันไม่ใช่อะไรที่อยู่นิ่งๆ แต่เป็นอะไรที่เราต้องทำงานเพื่อให้ได้มา สหรัฐฯในฐานะที่เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเราคงต้องทำงานในฐานะที่เป็นพลเมือง เพื่อทำให้แน่ใจว่าประชาธิปไตยเป็นไปได้และให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพการนับถือศาสนาได้รับการปกป้อง ซึ่งก็สามารถทำได้และได้รับการยอมรับ ฉะนั้นคำว่าการทำงานเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยจะไม่หยุดยั้ง
“ฉะนั้นสถานการณ์ในเมืองไทยคือมีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยและมีความผูกพันในเรื่องหลักนิติธรรมในหลักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก สื่อมวลชน และของการรวมตัว ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เป็นจริงในประเทศไทยและสหรัฐฯเหมือนกัน ประชาชนทุกคนจะต้องมีความระแวดระวังและช่วยกัน เพราะสามารถที่จะปรับปรุงได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ขอแสดงความยินดีกับนายกฯในเรื่องของความผูกพันที่นายกฯมีเรื่องของประชาธิปไตยและตนเองรู้ว่าเรื่องการปฏิรูปต่างๆที่นายกฯให้ความสนใจเป็นเรื่องที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้นในประเทศไทยและจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับภูมิภาคนี้ด้วย”นายโอบามา กล่าว
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจี้สิทธิมนุษยชนในพม่า
คำถามที่สองจากสื่อต่างประเทศ ถามว่า ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่จะไปเยือนพม่า แต่บรรดานักต่อสู้สิทธิมนุษยชนบอกว่าการเยือนครั้งนี้เร็วเกินไป เพราะยังมีนักโทษการเมือง และชาวพม่ายังหวาดกลัวทำไมถึงดำเนินการเร็วเกินไปที่สนับสนุนเรื่องผู้นำพม่า และทำไมคิดว่าพม่าจะดำเนินการเรื่องการปฏิรูปได้และนายกรัฐมนตรีไทยในฐานะเป็นพันธมิตรสหรัฐฯและพม่า คิดว่าประธานาธิบดีพม่าอย่างเพียงพอหรือยังในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และการเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ไปพม่าเร็วเกินไปหรือไม่
นายโอบามาตอบว่า อันนี้ไม่ใช่เรื่องการรับรองรัฐบาลพม่า แต่เป็นเรื่องการการยอมรับว่ามีกระบวนการที่กำลังดำเนินการในพม่า แม้ปีสองปีที่ผ่านมาไม่มีคนคิดว่าจะเกิดขึ้น ประธานาธิบดีพม่าได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง นางอองซาน ซูจี ตอนนี้เป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้เห็นนักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวและมีเรื่องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งตนเองไม่คิดว่าไม่มีใครคิดหรือคาดหวังในทางที่ผิดว่าพม่าไปถึงจุดที่ควรจะเป็นแล้ว
นายโอบามากล่าวว่าอีกด้านหนึ่งถ้าเรารอพม่าบรรลุสภาพที่สมบูรณ์ของประชาธิปไตย เราคงต้องรออย่างนานทีเดียว
สำหรับเป้าหมายการเยือนพม่าครั้งนี้เพื่อที่จะเน้นให้เห็นถึงความคืบหน้าที่ได้เกิดขึ้นมาและให้พยายามหลีกเลี่ยงและให้แน่ใจว่าจะมีการดำเนินการให้คืบหน้าต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ในโอกาสที่จะมีโอกาสไปกล่าวปราศรัยต่อประชาชนพม่าเขาได้ยินว่าเราแสดงความยินดีต่อพม่าที่ได้เปิดประตูนำไปสู่ประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเคารพสิทธิเสรีภาพทางการเมือง มุ่งไปสู่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สหรัฐฯจะยืนข้างๆแต่ไม่อยากเข้าไปคลุกคลีและนี่คือโอกาสที่ดีในขณะนี้ที่จะช่วยกระตุ้นส่งเสริมในพม่า
นายโอบามากล่าวว่าเมื่อนางอองซาน ซูจี ไปพบตนที่ทำเนียบขาว เขารู้สึกมีกำลังใจกับกระบวนการประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในพม่า และประเทศต่างๆทั่วโลกเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้ในฐานะประชาคมระหว่างประเทศคือเราต้องทำให้แน่ใจว่าชาวพม่ารู้เราให้ความสนใจและฟังคนเหล่านี้ และหวังว่าเราจะสามารถดำเนินการไปในทิศทางที่เป็นทางบวก
ยิ่งลักษณ์บอกเศรษฐกิจเติบโตจะช่วยพม่า
นางสาวยิ่งลักษณ์ตอบคำถามนี้ว่า จากการสังเกตการณ์และเยือนพม่ามาหลายครั้ง เราเชื่อว่าพื้นฐานความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย เศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างประชาชน
ดังนั้นกรณีพม่าประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านต้องการที่จะช่วยเพื่อบ้านด้วยความจริงใจและเราต้องการที่จะเห็นชาวพม่ามีชีวิตความเป็นอยู่และการศึกษาที่ดีขึ้น ถ้าเราสามารถปิดช่องว่างนั้นได้เราจะสามารถเพื่อศักยภาพในภูมิภาคได้ สำหรับเราต้องการความช่วยเหลือจากประชาชากรนานาชาติ เพราะพม่าเริ่มเปิดประตูแล้ว ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนานประเทศที่จะทำงานร่วมกันพม่าที่จะช่วยให้พม่ากลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามกฎหมายของต่างประเทศ
นโยบายสหรัฐต่อเอเชียคืออะไร
คำถามที่สามเป็นคำถามจากนางสาวณัฐฐา โกมลวาทิน พิธีกรข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยบีพีเอสถามว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯที่มีต่อเอเชียเป็นอย่างไร นายโอบามา กล่าวว่า วันที่ประกาศเบนเข็มมาที่เอเชียแปซิฟิกเพราะต้องการตอบสนองเรื่องทศวรรษต่างๆ
ประการแรกคือขยายด้านการลงทุนในเอเชีย ซึ่งเชื่อว่าการทำงานกับประเทศในภูมิภาคนี้จะสามารถสร้างงานและโอกาสต่างๆมากขึ้นสำหรับคนในอเมริกาและสำหรับคนในภูมิภาคนี้ โดยเรามีความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนที่ดีๆกับประเทศไทยอยู่แล้ว และเราจะทำมากขึ้นได้
พร้อมกันนี้จะขยายและมองหาช่องทางต่างๆที่เราจะสามารถประสานเศรษฐกิจของเราให้เข้าร่วมกันเพื่อให้นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่สามารถทำการค้าผลิตสินค้าต่างๆเข้ามาใช้ประโยชน์ได้
ประการที่สองคือ รักษาเสถียรภาพที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง การดูแลเรื่องอุทกภัย ซึ่งไทยถือเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่สำคัญของสหรัฐฯในเอเชีย ซึ่งประเทศไทยที่ไม่เพียงแต่จะทำงานกับเราในภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่ยังทำงานอย่างเยี่ยมยอดในการรักษาสันติภาพทั่วโลกด้วย และอยากให้แน่ใจว่าเราสามารถกระชับความสัมพันธ์กันต่อไป ไม่เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์เรื่องการรับมือกับด้านความมั่นคงเท่านั้น แต่ต้องตอบสนองด้านมนุษยธรรมด้วย
นายโอบามากล่าวต่อว่าเราเห็นในภูมิภาคแถบนี้แล้วว่า ได้มีเหตุการณ์สร้างภัยพิบัติมากมายที่เป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ เมื่อเรามีความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งและฝึกอบรมระหว่างประเทศของเราทั้งสอง เราก็อยู่ในฐานะที่ดีที่จะตอบสนอง และไทยมีประสบการณ์เรื่องน้ำท่วมเข้าใจเรื่องนี้ดี
ประการที่สามคือ เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรามีการหารือกันในเรื่องการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน เชื่อว่าถ้าเด็กได้รับการศึกษาที่ดี ระบบสาธารณสุขได้รับการจัดตั้ง เหล่านี้คือประเด็นปัญหาต่างๆที่ประเทศของเราสามารถทำงานร่วมกันได้มากกว่าที่จะทำเองประเทศเดียว
ดังนั้น การแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์จะเป็นเรื่องสำคัญ และประเทศไทยประสบความสำเร็จเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าอยู่ในฐานะที่ดีที่จะเป็นประเทศผู้ให้บริการ โดยเราจะร่วมมือกับประเทศไทยได้ในการรับมือด้านสาธารณสุข
ประธานาธิบดีโอบามาและน.ส.ยิ่งลักษณ์ร่วมกันดื่มอวยพรที่ตึกทำเนียบรัฐบาล(Photo By Jason Reed/Reuters)
จ่อเข้าร่วมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
ในช่วงสุดท้าย นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวเสริมว่า ในการหารือซึ่งได้มีการพูดถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก ตนได้อธิบายให้นายโอบามาฟังว่าไทยจะพยายามเข้าถึงในการเจรจาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) เพราะในการเจรจานั้นจะต้องมีความมีส่วนร่วมของทุกคนในประเทศ รวมไปถึงผ่านกระบวนการทางรัฐสภาในประเทศเพื่อทำให้ทีพีพีเกิดขึ้นจริง เพราะไทยเห็นว่าทีพีพีเป็นความพยายามเพื่อให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงความพร้อมของประเทศที่เข้าร่วมด้วย
งานเลี้ยงอาหารค่ำ
ต่อจากนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติ โดยมีการเชิญแขกพิเศษร่วมด้วย โดยมีการจัดเตรียมไว้ทั้งหมด 10 โต๊ะ ซึ่งแต่ละโต๊ะได้ตั้งชื่อ ประกอบด้วยวอชิงตัน ดีซีแบงค็อก เชียงใหม่ ภูเก็ต ฮอนโนลูลู ชิคาโก ขอนแก่น อยุธยา ลอสแองเจลิส และนิวยอร์ก   
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว นายโอบามาเดินทางไปที่สปอร์ตคอมเพล็กซ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพบปะกับชาวสหรัฐอเมริกาในไทย ก่อนเดินทางกลับไปพักที่โรงแรม ซึ่งไม่มีการระบุชื่อโรงแรมเอาไว้ในกำหนดการ แต่คาดว่าน่าจะเป็นโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ เนื่องจากอยู่ใกล้สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
โอบามาบินไปพนมเปญประชุมอาเซียน
U.S. Secretary of State Hillary Clinton and Thailand’s Prime Minister Yingluck Shinawatra toast at a dinner at Government House in Bangkok, November 18, 2012.( REUTERS/Jason Reed )
ส่วนกำหนดการวันที่ 19 พ.ย. ช่วงเช้าประธานาธิบดีสหรัฐจะเดินทางไปที่สนามบิน บน.6 ขึ้นเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ไปยังท่าอากาศยานกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 ทั้งนี้ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ชาติของอาเซียนประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ในโอกาสประชุมสุดยอดครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะพบเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับนายโอบามา,นายกรัฐมนตรีจีน เวินเจียเป่า,ประธานาธิบดีลี เมียงบั๊ก แห่งเกาหลี และนายโยชิฮิโกะโนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายใต้กรอบอาเซียน+1 และอาเซียน+3

ไม่มีความคิดเห็น: