PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

“จริยธรรมสื่อมวลชน”:เกษม วัฒนชัย

ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จริยธรรมสื่อมวลชน” ในงานครบรอบ 16 ปีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิตอลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทำให้สื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เนื้อหา และ การเข้าถึงผู้รับสื่ออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้รูปแบบพฤติกรรมของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสื่อมีอิธิพลต่อวิธีคิดของคน

วิวัฒนาการของสื่อที่เดิมทีรูปแบบของข้อมูลมีลักษณะเป็นชุดเดียวกัน(Commuization) ได้พัฒนาสู่การมีข่าวสารแยกเฉพาะกลุ่ม(Customization) และ ล่าสุดผู้รับสื่อก็สามารถเป็นผู้นำเสนอข่าวสารเองได้ด้วย(Individualzation)โดยใช้ดิจิตอลมีเดียเป็นสื่อ ทั้ง 3 ลักษณะนี้กำลังเกิดขึ้นร่วมกันในสังคมปัจจุบัน ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือขอบเขตและการควบคุมดิจิตอลมีเดียอยู่ที่ใดถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือจะต้องปล่อยให้เกิดเรื่องยุ่งเหยิงเดือดร้อนแบบในต่างประเทศก่อนจึงค่อยมีระบบตรวจสอบควบคุม อย่างเช่นการขโมยความลับทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยชื่อดังมาเปิดเผยในโลกออนไลน์ รวมถึงการขโมยข้อมูลระบบข้อมูลทางความมั่นคงของสหรัฐฯมาเปิดเผยต่อสาธารณะชน เนื่องจากคนที่เอาข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยไม่รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ผิด

ทั้งนี้ลักษณะของสังคมไทยในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่สื่อโทรทัศน์และวิทยุเข้าถึงครอบคลุมครัวเรือนไทยจำนวนมากเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง ทำให้วิธีคิด คุณธรรม มรรยาท วัฒนธรรมของครอบครัวสู่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ครูก็จะเน้นสอนแต่ด้านวิชาการ ส่งผลให้เด็กเรียนรู้จากโทรทัศน์ ละคร และสื่อดิจิตอล จนถูกกระแสเปลี่ยนแปลงและทำให้เด็กสร้างค่านิยมใหม่ๆขึ้นมาเอง สร้างการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะลักษระเช่นนี้ถึงจะมีด้านที่เป็นบวกแต่ก็มีด้านที่เป็นลบเช่นกัน ปัจจุบันเฉพาะแค่โทรทัศน์ก็มีเป็นร้อยๆช่องแล้วและคนก็เลือกดูตามใจชอบ แม้ว่าจะมีบางข่าวที่ช่วยสร้างปัญญาแก้ผู้รับสื่อบ้างก็ตาม แต่เมื่อมีสื่อมากมายหลากหลาย ดังนั้นสิ่งที่จะกำกับเนื้อหาการนำเสนอก็คือจิตสำนึกของสื่อมวลชน

ศ.นพ.เกษม กล่าวต่อว่าไป หากจะมีการตั้งองค์กรสื่อของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตที่ไทยจะเป็นแกนนำ คำถามที่ตามมาคือจะต้องทำอย่างไรให้การนำเสนอมีความอิสระ(Free) และ เป็นธรรม(Fair) เพราะมีบางประเทศสมาชิกอาเซียนที่การนำเสนอของสื่อยังถูกควบคุมจากรัฐบาล ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปแม้จะมีนายทุนที่เป็นเจ้าของสื่ออยู่ก็ตามจิตสำนึกของผู้นำเสนอสื่อมีสูงมากเพราะมีตัวอย่างให้เห็นและอ้างอิงได้จึงมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนออย่างเป็นอิสระก่อนนำเสนอออกไป ซึ่งหากสื่อของไทยมีจิตสำนึกในการนำเสนอและการตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอมากกว่าปัจจุบันสื่อของไทยก็จะเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก ซึ่งสื่ออาจจะต้องเลือกระหว่างความถูกต้อง มีจริยธรรม หรือ การมีผลประโยชน์กำไร การเอาใจผู้มีอำนาจทางการเมือง

ขณะที่ปัญหาสำคัญของประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศมีอยู่ 3 เรื่องหลักด้วยกันคือ การมีความเหลื่อมล้ำที่สูงระหว่างคนรวยและคนจน ปัญหาความน่าเชื่อถือของรัฐในการเป็นที่พึ่งด้านต่างๆของประชาชน และ ทำอย่างไรภาคเอกชนจะสามารถร่วมมือกับภาครัฐเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งสื่อจะต้องนำเสนอปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะสื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในสังคมรับรู้ได้ง่ายที่สุด ส่วนคณะนิเทศศาสตร์นั้นก็ต้องช่วยสอนนักศึกษาให้มีการตรวจสอบตรวจค้นข้อมูลก่อนจะนำเสนอ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับสื่อรู้เรื่องที่เป็นจริงรอบด้าน ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญมากเช่นกัน

เผยแพร่โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น: