PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

เส้นทางพรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน

เส้นทางพรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน

รายงานพิเศษ



พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านการรับหลักการหรือวาระแรกของสภา เข้าสู่การแปรญัตติของกรรมาธิการวิสามัญ จากนั้นรอสภาโหวตผ่านวาระ 2 และ 3 

ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ที่ถูกจับตาว่าบรรยากาศอาจระอุไม่แพ้สภาล่าง 

ด้วยท่าทีของกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ร่วมกับส.ส.ประชาธิปัตย์ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความพ.ร.บ.ร่วม ทุน สกัดพ.ร.บ.กู้เงิน ชัดเจนว่าส.ว. กลุ่มดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ 

เส้นทางของพ.ร.บ.กู้เงิน จึงต้องลุ้นหลายขยัก 

มีความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักกฎหมาย มองการยื่นตีความและการออกพ.ร.บ.กู้เงิน ดังนี้



นันทวัฒน์ บรมานันท์
นิติศาสตร์ จุฬาฯ


การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินที่มีความเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเป็นการออก พ.ร.บ.เพื่อมากู้เงินโดยผ่านกลไกรัฐสภา ที่มีการตรวจสอบกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอน 

ต้องมีการอภิปรายเพื่อแสดงความชัดเจนและจุดประสงค์ในการกู้เงิน และต้องมีการลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน จนกว่าจะมีการลงมติ 

ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำถูกต้อง แตกต่างกับ พ.ร.ก.เงินกู้สมัยที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล การออก พ.ร.ก.เพื่อมากู้เงินเท่ากับเป็นการมัดมือชก โดยไม่ผ่านรัฐสภา 

จะเห็นได้จากความล้มเหลวในการสร้างสถานีตำรวจของโครงการไทยเข้มแข็งที่กว่าจะพบว่ามีการทุจริต เวลาก็ผ่านมานานแล้ว

แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ควรนำงบฯ นี้ไปอยู่ในงบประมาณแผ่นดิน แต่อยากให้เข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบสาธารณูปโภคของประเทศไทยถือว่าเก่าและล้าหลังมาก ควรได้รับการพัฒนามาตั้งนานแล้ว 

เชื่อว่าคนไทยเองต้องยอมรับที่จะเป็นหนี้ เพราะการพัฒนาครั้งนี้เป็นการหวังผลในระยะยาว ตอนนี้อาจมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและมีกระแสคัดค้านแต่หากการพัฒนาดังกล่าวเริ่มเป็นรูปธรรม สังคมจะยอมรับได้เอง 

แต่ขณะนี้ รัฐบาลต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าการกู้เงินครั้งนี้ มันคือการเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ เมื่อลงทุนไปแล้วมันจะอยู่กับประชาชนไปตลอดชีวิต

หาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทผ่านรัฐสภามาได้ รัฐบาล ฝ่ายค้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ทุกภาคส่วนต่างมีหน้าที่ในการตรวจสอบ อย่าให้เกิดข้อผิดพลาดเหมือนโครงการไทยเข้มแข็ง จึงต้องวางกฎเกณฑ์การตรวจสอบอย่างเป็นระบบ 

หลังจากที่กลุ่ม 40 ส.ว. เสนอประธานสภาให้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุน ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามกฎหมาย กลุ่ม 40 ส.ว. สามารถยื่นได้ หากเห็นว่ามาตราใดในพ.ร.บ.ร่วมทุนขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ศาลฯ ตีความว่า พ.ร.บ.ร่วมทุน ขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เคยได้รับการแก้ไข เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับปี 2535 มีปัญหาเรื่องคำนิยามและรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน จึงได้รับการแก้ไข เสนอผ่านสภาเมื่อปี 2555 และกฤษฎีกามีมติเห็นชอบให้ใช้เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้น เชื่อว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง และเป็นคนละส่วนกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท 

เนื่องจากการกู้เงินครั้งนี้รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุน ดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยตัวเอง และไม่ได้ร่วมเป็นคู่สัญญากับบริษัทเอกชนใดทั้งสิ้น ประเด็นนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลจะว่าจ้างบริษัทต่างๆ 

จึงไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน



พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ 
เศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะหางบประมาณเพื่อมาพัฒนาระบบคมนาคมทางราง ด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพราะการออกเป็นร่าง พ.ร.บ.จะต้องผ่านการอภิปรายถกเถียงกันในรัฐสภา 

ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติได้ร่วมกันพิจารณา ฝ่ายค้านก็จะได้ทำหน้าที่ค้านกันอย่างเต็มที่ ประชาชนก็ได้รับประโยชน์จากการชมการถ่ายถอดสดตลอด 2 วัน ว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีข้อดีข้อเสียอย่างไร 

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยต้องพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง อีกทั้งยังมีความเหมาะสมเนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา 7 ปี 

ซึ่งต่างจากการออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี เพราะจะทำให้โครงการที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการหลายปีนี้สามารถถูกล้มเลิกได้ง่ายๆ หากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ 

แม้ว่าการออกเป็น พ.ร.บ.สามารถล้มเลิกได้เช่นกัน แต่การดำเนินการก็ยังยุ่งยาก และซับซ้อนมากกว่าการออกเป็นงบประจำปี และยังดีกว่าการออกเป็น พ.ร.ก.ที่จะดูเป็นไปในลักษณะของการมัดมือชกมากเกินไป เนื่องจากวงเงินที่ต้องการกู้มีมูลค่าสูง 

เชื่อว่าถ้าเล่นกันในเกม ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน จะสามารถผ่านสภาได้อย่างแน่นอน ส่วนกลุ่มส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะมีจำนวนน้อย 

แต่ก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะให้ไฟเขียว หรือไฟแดง จะปล่อยเรื่องนี้ผ่านไปหรือไม่ 

การนำกรณีการวินิจฉัยครั้งการกู้เงิน 3.5 แสนล้าน เพื่อนำมาบริหารจัดการเรื่องน้ำมาเทียบเคียงก็ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ 

จะเอาผลการตี ความของกฤษฎีกา มายืนยันก็คงไม่ได้ เพราะกฤษฎีกาเป็นเพียงทีมทนายของ อำนาจฝ่ายบริหาร ไม่มีผลผูกพันกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ 

กล่าวคือหากเรื่องดังกล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ ยังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ เพราะขนาด พ.ร.ก.กู้เงินในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลพรรรคประชาธิปัตย์ที่ แย่กว่านี้ก็ยังผ่านมาได้ 

การร้องตีความ พ.ร.บ.ร่วมทุนเพื่อสกัด พ.ร.บ.กู้เงิน ก็ปล่อยให้เขาทำไปแต่ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่



วรากรณ์ สามโกเศศ 
นักเศรษฐศาสตร์


ที่เป็นข้อถกเถียงคือ การออก พ.ร.บ.ที่ผ่านการอนุมัติครั้งเดียวแต่ผูกพันไปถึง 7 ปี การนำงบนี้ใส่ไว้ในงบประมาณทำให้มีการตรวจสอบได้ครั้งเดียว ทำไมไม่แยกทำรายปี 

รัฐบาลชี้แจงว่ากลัวจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงการเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วไม่ยอมสานต่อโครงการ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลเพราะ พ.ร.บ.ยกเลิกได้ตลอดเวลา รัฐบาลใหม่เข้ามาใช้เสียงข้างมากก็ยกเลิกพ.ร.บ.ได้ ทำ ให้โครงการหยุดชะงักได้เช่นกัน 

แต่ปกติการออกกฎหมายก็จะออกเป็น พ.ร.บ. จะได้ช่วยกันดูได้หลายฝ่าย มีหลากหลายมุมมอง ช่วยดูกันหลายตา การออก พ.ร.บ.จึงเป็นการเริ่มที่ ศูนย์ หนึ่ง สอง สาม สี่ 

ขณะที่การออกพ.ร.ก.มีแค่หนึ่ง กับศูนย์ คือ ผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะ พ.ร.ก.ออกโดยฝ่ายบริหาร โดยที่สภาไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย รัฐบาลออกพ.ร.ก.ก็นำไปใช้ ได้เลย ไม่ต้องแปรญัตติ ไม่ต้องถกเถียง 

อีกทั้งการกู้เงินถึง 2 ล้านล้านบาท ออกเป็น พ.ร.ก.คงไม่มีใครกล้าทำ เพราะออกพ.ร.ก.ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน รัฐบาลเขียนชัดเจนว่า 7 ปี ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน 

ประเด็นที่เราไม่ค่อยพูดถึงคือ โครงการใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง ทั้งหมดแต่อาจเป็นลักษณะของการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน หรือให้เอกชนลงทุน 

ที่ต้องระวังคือ โครงการที่ทำจะกลายเป็นช้างเผือกที่นอนอยู่กลางแดด เหมือนกับการสร้างสเตเดี้ยมแข่งกีฬาโอลิมปิก จบการแข่งขันก็ไม่มีคนใช้งาน จึงอยากให้มองเรื่องของความคุ้มค่า 

เช่น มีรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินเท่าที่มีอยู่ตอนนี้คนแน่นเกือบทั้งวัน ถามว่าหากทำพร้อมกัน 10 สาย จะแน่นแฉพาะช่วงเย็นหรือเปล่า 

และการใช้เงินของคนทั้งประเทศมาพัฒนาจุดเดียว ขณะที่เมืองอื่นๆ อาจจะ อยากได้ระบบเขื่อน ระบบน้ำ หรือด้านสาธารณสุข แต่อย่างไรก็เห็นว่าควรออก เป็น พ.ร.บ. 

ส่วนการยื่นตีความคงต้องรอให้สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ออกมาก่อน เพราะต้องมีขั้นตอนการแปรญัตติ ต้องดูร่างที่ผ่านการโหวต 3 วาระออกมาแล้ว ถ้ารีบยื่นก็ดูผิดปกติ

ไม่มีความคิดเห็น: