PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ระพี สาคริก:ไทยรัฐ

ไทยรัฐ

เมื่อพูดถึงไทยรัฐ ใครๆก็รู้จัก แต่จะรู้จักจริงหรือเปล่าก็ต้องมองกันให้ลึก

คุณติ๊กครับ ผมขอบคุณที่ติดต่อมา ผมคิดว่าตัวเองจำได้ทุกคน

ในวิถีทางของไทยรัฐมีหลายคนที่เคยสัมพันธ์กันกับชีวิตผม ท่านเหล่านั้นได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

ผมพูดถึงท่านมาจนถึงทุกวันนี้

ท่านแรกก็คือคุณประยูร จรรณยาวงศ์ ท่านเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ

ช่วงนั้นผมเริ่มทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ก่อนหน้านั้นผมเป็นคนแรกของนักวิชาการที่ถูกชวนให้ไปออกโทรทัศน์ช่อง 4 ที่บางขุนพรหม

ปีนั้นเป็นปีแรกที่เมืองไทยมีโทรทัศน์ คือปี พ.ศ.2498

แต่ก่อนเราก็ไม่เคยมีโทรทัศน์ดู ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2495 กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัดขึ้นมาก่อน แต่ยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศ คงเริ่มต้นจากการจัดตั้งสถานีวิทยุ

กระจายสียงซึ่งใช้ชื่อว่าบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด

บริษัทที่ตั้งขึ้นมาก่อนนี้ มีคุณประสงค์ หงส์สนัน ซึ่งแต่เดิมดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ คุณประสงค์ หงส์สนัน มีภรรยาชื่อคุณถนอน หงส์สนัน

บังเอิญผมใช้การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นสื่อสร้างคนแทบจะทุกด้าน คุณถนอนกับเพื่อนอีกสองคนจึงพากันมาเรียนวิชากล้วยไม้จากผม

และในช่วงนั้นผมเองก็เพิ่งเริ่มต้นงานกล้วยไม้ใหม่ๆ

ผมต้องไม้เรียวอยู่ในมือเพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้าน

ด้านหนึ่งคือด้านราชการ เพราะด้านราชการก็จ้องที่จะทำร้ายผม ส่วนด้านประชาชนนั้นเขาศรัทธาผมจึงไม่ต้องใช้ไม้เรียวแต่ใช้ไม้อีกอันหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ศรัทธาบารมี”

ผมเป็นเด็กดื้อมากๆ ทั้งๆที่ไม่เคยเรียนเรื่องกล้วยไม้มาก่อน นอกจากนั้นขืนทำเรื่องกล้วยไม้ ราชการก็จ้องที่จะเล่นงานผมด้วย

ผมมีนิสัยคล้ายท่านพุทธทาสภิกขุ เพราะตัวผมเองนอกจากเป็นเด็กดื้อแล้วก็ชอบทำในสิ่งที่สังคมเขาจ้องจะกล่าวร้ายอยู่ตลอด

ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่เคยเรียนกล้วยไม้มาก่อน แต่แอบทำอยู่หลังบ้านแล้วมีการฝึกอบรมประชาชนเริ่มต้นจากรุ่นเล็กๆไปก่อน

ที่ว่ารุ่นเล็กนั้นหาใช่หมายความว่าเป็นรุ่นที่มีอายุน้อย แต่หมายความถึงมีจำนวนน้อย เริ่มต้นจาก 35 คนเท่านั้น

บังเอิญความเรื่องนี้รู้ถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นมือขวาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ ท่านนั้นก็คือพลเอกสุรจิต จารุเศรณี

พลเอกสุรจิตเป็นคนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ท่านปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ 2 ชั้นใต้ถุนโปร่งอยู่ตรงบริเวณท้องนาใกล้ๆกับจตุจักรเดี๋ยวนี้ซึ่งแต่ก่อนเป็นท้องนา ผมชอบไปคุยกับท่านเพราะท่านชอบกล้วยไม้

ด้วย เราก็เลยทอดสะพานเข้าไปหากันจนกระทั่งสนิทกัน

พอถึงปี พ.ศ.2498 ระหว่างที่สถานีวิทยุกระจายเสียงของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัดเปิดออกอากาศอยู่ที่ชั้น 4 ของอาคารราชดำเนิน 4 แยกคอกวัว

คุณสุรจิตจึงเสนอให้ผมไปใช้ห้องส่งกระจายเสียงที่นั่นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสั่งให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทซึ่งประจำการอยู่ตรงนั้นให้ความสะดวกทุกอย่าง

ผมเปิดอบรมกล้วยไม้ภาคค่ำ เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึง 19.00 น. โดยเปิดวันเว้นวัน เพราะต้องการให้คนที่มารับการอบรมได้ใช้เวลาไปปรึกษาหารือสร้างงานใหม่ๆ

ผมนึกถึงวัฒนธรรมยุโรปซึ่งฝรั่งหลัง 4 โมงเย็นไปแล้วใครจะปกวนเขาไม่ได้เพราะเขาถือว่าเป็นเวลาส่วนตัว

แต่ของไทยตั้งอยู่บนวัฒนธรรมตะวันออก เรามีเวลาว่างที่จะมาเปลี่ยนให้เป็นเวลาผลิตงานใหม่ๆได้โดยไม่ต้องถือว่าพัก เพราะการทำงานอย่างมีความสุขนั้นคือการพักผ่อนอยู่แล้ว

ที่ผมว่าตัวเองมีนิสัยเหมือนท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร แม้แต่การพิมพ์หนังสือเผยแพร่ความรู้ ผมจะสอดกระดาษชิ้นเล็กๆเข้าไปไว้ในนั้น อีกทั้งกระดาษแผ่นนี้จะมีการสอนให้คน

รู้จักวิธีทำงานที่มีคุณธรรม จริยธรรม

บังเอิญกระดาษแผ่นนั้นมันไปตกอยู่ที่ไหนผมก็ไม่ทราบ

อยู่มาวันหนึ่งคุณสุรจิต อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้ให้คนมาเชิญผมไปพบที่กรมประชาสัมพันธ์และพบว่ามีคุณประสงค์ หงส์นัน นั่งอยู่ด้วย

ทีแรกผมก็ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร ไปพบแล้วจึงเห็นกระดาษแผ่นนั้นมันอยู่ในมือคุณสุรจิต

คุณสุรจิตพูดกับผมว่าท่านอาจารย์ครับ มาออกโทรทัศน์ด้วยกันกับเราเถิดครับ เพราะผมได้อ่านข้อความในกระดาษแผ่นนั้นแล้วผมรู้สึกศรัทธา

นี่แหละเป็นเรื่องที่ทำให้ผมเริ่มต้นไปออกโทรทัศน์สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมในปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นปีแรกที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เปิดทำการ

คุณสุรจิตท่านขอให้ผมไปออกโทรทัศน์ทุกสัปดาห์และกำหนดไว้ด้วยว่าทุกวันพุธหลังข่าวเป็นเวลาครั้งละครึ่งชั่วโมง

ช่วงนั้นใจผมได้รับผลกระทบพอสมควร ผมกลับไปนอนบ้านแล้วคิดว่า “เราจะไปพูดอะไร คงต้องเตรียมการไปพูดให้มันยาวเข้าไว้ ประเดี๋ยวมันจะหมดกลางคัน”

ผมเคยได้ยินอาจารย์หลวงสุวรรณ วาจกกสิกิจ ท่านพูดว่า “ตอนเราเป็นนักเรียนเราถูกขอร้องให้ไปพูดหน้าชั้น เราไปเตรียมการสอนอยู่นานมากเพราะเขากำหนดให้ไปพูด 1 ชั่วโมง ประเดี๋ยวสิ่งที่เรา

เตรียมไว้มันจะหมดก่อนเวลา

ทีแรกผมก็ลำบากใจเพราะเราเคยแต่พูดหน้าชั้นเรียน ส่วนการพูดกับกล้องนั้นมันไม่ใช่ของง่าย

พอเริ่มต้นทำงานเข้าสักหน่อย ความคิดมันก็เริ่มเปลี่ยน เพราะเรามีจิตนาการทำไมไม่ใช้

ช่วงหลังๆผมพูดกับกล้องแต่ผมเกิดจินตนาการมองเห็นคนฟังผ่านกล้องโทรทัศน์มากมาย ในที่สุดเราก็ปรับใจได้ ปรากฏว่าคนฟังติดใจมากมายครับ

นี่แหละเพราะคนฟังและคนชมโทรทัศน์ติดใจผมมากมาย ผมก็เลยกลายเป็นเป้าเคลื่อนที่

คุณประยูร จรรณยาวงษ์ แกเป็นคนพูดตรงไปตรงมา บางทีก็พูดเร็วไปหน่อย เพราะยังไม่ทันศึกษาให้ชัดเจนแกก็พูด

อยู่มาวันหนึ่ง คุณหมอประหยัด ลักษณะพุกก เพื่อนผมซึ่งเป็นหมออาวุโสอยู่ในภาควิชาอายุรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณหมอประหยัดได้มาเยี่ยมผมที่บ้านแล้วบอกว่า “คุณระพีครับ คุณประยูรเขาว่าคุณระพี บอกว่าดีแต่พูด แต่ทำไม่เป็นหรอก”

ผมไม่ว่าอะไรได้แต่ยิ้มรับ คุณเชื่อไหมว่าถัดจากเวลานั้นมานานประมาณ 3-4 ปี คุณประยูรเดินทางมาหาผมที่เกษตรแทบทุกวัน โดยเฉพาะเวลาเย็นๆมักมานั่งบนสนามหญ้าล้อมวงคุยกันเป็นประจำ

ยิ่งกว่านั้นเวลาไปงานต่างๆ ถ้ามีคุณประยูรไปด้วยแล้วเขาเชิญให้คุณประยูรพูด คุณประยูรแกไม่ยอมพูด ข้อร้องยังไงแกก็ไม่ยอม แกบอกว่าต้องให้อาจารย์ระพีพูดถึงจะได้

พอถึงเวลานี้ผมอยากจะถามว่าผมทำยังไงคุณประยูรถึงได้เคารพผม ทั้งๆที่แต่ก่อนก็พูดว่าผมว่าดีแต่พูด

มีอีกคนหนึ่งในไทยรัฐคือคุณปรีชา ทิพยเนตร ซึ่งเธอใช้นามปากกาว่า “ไวตาทิพย”

แต่ก่อนนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีคอลัมณ์ไวตาทิพยอยู่หลังปก ใครๆก็ชอบอ่านเพราะคุณไวตาทิพย์แกเป็นคนพูดตรงๆ

ยิ่งเห็นสังคมมันไม่เข้าท่าแกจะพูดโดยไม่เกรงใจใครทั้งนั้น

คุณไวตาทิพยเคยอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐและเคยเป็นลูกศิษย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์มาก่อน

ผมเคยจดหมายวิจารณ์สังคมไปหาคุณไวตาทิพยครั้งเดียว ปรากฏว่าต่อจากนั้นไปไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรส่งไปให้เธอก็นำลงพิมพ์ทั้งหมดไม่เคยขาด

จนในที่สุดทั้งผมและคุณไวตาทิพยเกิดดังขึ้นมาทั้งคู่

หลายคนคิดว่าผมกับคุณไวตาทิพยรู้จักกันสนิทสนม แต่แท้จริงแล้วเราไม่เคยเห็นหน้ากันแม้แต่ครั้งเดียว หน้าตาเราก็ไม่เคยเห็นกัน ผมเขียนจดหมายส่งไปคุณไวตาทิพยนำลงให้ทั้งหมดโดยไม่

เปลี่ยนแปลงแม้แต่คำเดียว แถมลงเชียร์ให้ด้วย

จนกระทั่งประชาชนเขาคิกว่าเราสองคนสนิทกันมาก โดยเฉพาะเรื่องการเมืองด้วยแล้ว ถ้าผมวิจารณ์ตรงๆและทุกคนมองเห็นเหตุผล คุณไวตาทิพยก็ยิ่งสนใจมากที่สุด

อยู่มาวันหนึ่งคุณประยูร จรรณยาวงศ์ เขียนจดหมายมาหาผมแล้วสรุปว่าอาจารย์ครับ เตือนอ้ายปั๋นมันหน่อย มันดื่มเหล้ามากเหลือเกิน ผมเป็นห่วง

ผมรับจดหมายจากคุณประยูรแล้วในใจก็นึกว่า “ผมจะทำยังไงดี หน้าตาคุณไวตาทิพยผมก็ไม่เคยเห็น” จากจดหมายคุณประยูรทำให้ผมรู้ว่าคุณไวตาทิพยเป็นคนเหนือ เพราะคำว่า “อ้ายนั้น” แปลว่าพี่

และ “ปั๋น” เป็นสำเนียงเหนือ ถ้าภาคกลางก็บอกว่า “ปั้น หรือ ปั่น หรือ ปัน” ได้ทั้งนั้น

นี่แหละผมเริ่มคิดว่าหน้าตาเราก็ไม่เคยเห็นกัน พูดคุยทางโทรศัพท์ก็ยังไม่เคยสักครั้งเดียว คุณประยูรจะให้ผมเตือนคุณไวตาทิพยผมจะใช้วิธีอะไร ในใจนั้นผมรู้ตลอดเวลาและเป็นห่วงคุณไวตาทิพย์

ว่าถ้าแกดื่มจัดสุขภาพจะเสียหาย

ผมจึงใช้วิธีเขียนจดหมายไปหาตามปรกติและวิจารณ์เรื่องการเมืองซึ่งค่อนข้างรุนแรงตามกระแสสังคม แต่ผมใช้ศิลปะในการเขียนโดยแทรกเอาเรื่องสุขภาพของคนทำงานหนักเข้าไปไว้ด้วย

จดหมายฉบับนั้นได้ผลครับ แต่ผลที่ได้รับจะเป็นยังไงฟังผมต่อไป

อยู่มาวันหนึ่งคืนวันนั้นเป็นเวลาประมาณ 5 ทุ่มเห็นจะได้ มีคนโทรศัพท์มาจากเชียงใหม่ พอผมรับโทรศัพท์ก็ได้ยินคำพูดที่ว่า “อาจารย์ครับ จดหมายของท่านอาจารย์แจ็คพอทแล้วครับ

ผมย้อมถามกลับไปว่าแจ็คพอทอะไร เธอก็บอกว่าแจ็คพอทเพราะคุณไวตาทิพยแกเสียชีวิตแล้วครับ และจะมีการรดน้ำศพที่วัดเสมียนนารีในวันพรุ่งนี้

วันนั้นผมออกไปทำงานต่างจังหวัด แต่รีบกลับกรุงเทพฯเพื่อไปให้ทันรดน้ำศพคุณไวตาทิพย

ไม่มีใครสังเกตหรอกครับตอนที่ผมลงไปนั่งคุกเข่าอยู่ข้างศพ สายตาก็จับจ้องอยู่ที่ใบหน้าของเธอ เพราะเกิดมาก็ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เขียนเรื่องถึงกันก็ไม่เคยเห็นหน้า ผมใช้มือซ้ายจับมือของ

เธอไว้หลังจากนั้นจึงค่อยๆรินน้ำอบลงในมือ

ผมนั่งพิจารณาอยู่ตรงนั้นนานพอสมควร ผมจึงลุกขึ้นจากตรงนั้น พอถึงปากประตูก็พบพยาบาลคนหนึ่งยืนดักอยู่ตรงนั้น

เธอพูดกับผมว่า “ท่านอาจารย์คะ คุณปรีชา เขาสั่งไว้ก่อนเข้าห้องผ่าตัดว่า คุณช่วยเรียนท่านอาจารย์ระพีด้วยว่าผมขอฝากกราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง”

นี่แหละครับคือเรื่องราวระหว่างไทยรัฐกับผม

ผมกับไทยรัฐมีคนที่ผูกพันกันอยู่หลายคน สื่อทุกคนดีทั้งนั้น และผมก็ถือว่าท่านเหล่านี้คือลูกหลานของผมด้วย ผมยังมีเรื่องคุณไวตาทิพยต่ออีก เพราะอยู่มาวันหนึ่งภรรยาคุณไวตาทิพยกับลูกชายอีก

คนหนึ่งได้มาพบผมเพื่อฝากเนื้อฝากตัว ผมรู้ว่าภรรยาคุณไวตาทิพยทำงานออกร้านขายหมี่กรอบชื่อดังอยู่ที่วัดมหันต์

ช่วงนั้นหมี่กรอบวัดมหันต์เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง

สังเกตได้จากแม้แต่กระทงที่ใส่หมี่กรอบก็เป็นกระทงใบตองแห้ง

พ่อผมก็ชอบรับประทานหมี่กรอบวัดมหันต์ด้วย

อยู่มาวันหนึ่งผมเดินทางไปทำงานในภาคใต้ ขณะที่ขึ้นเครื่องบินจากสงขลากลับกรุงเทพฯ ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงทราบว่าลูกชายของคุณไวตาทิพยถูกจี้อยู่ที่กลางถนนในขณะที่ช่วงนั้น

โจรกำลังชุกชุมมาก

ด้วยความห่วงใยผมจึงติดต่อไปหาภรรยาคุณไวตาทิพแล้วถามเรื่องราวต่างๆจนเป็นที่ทราบชัดแล้วจึงติดต่อประสานกันว่าทำอย่างไรหลานชายคนนี้จึงจะอยู่อย่างปลอดภัยในขณะที่เขาต้องเดินกลับ

จากการเรียนเวลาค่ำคืน

คุณติ๊กครับ ผมจำได้ทุกคน ว่างๆมาคุยกันบ้างก็จะดีครับ

ผมเคยพูดกับทุกคนว่า “กาลเวลาไม่มีตัวตน” เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติดมันมากนัก ผมต้อนรับทุกคนแม้เวลาค่ำคืน

ขอบคุณมากครับ

บ้านระพี สาคริก พหลโยธิน 41 จตุจักร กรุงเทพฯ 10900

ระพี สาคริก
7 ตุลาคม 2556 — ที่ บ้านระพี สาคริก

ไม่มีความคิดเห็น: