PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

สภาทนายความ ออกแถลงการณ์ หนุน ชุมนุมขับไล่รัฐบาลคอร์รัปชัน

สภาทนายความ ออกแถลงการณ์ หนุน ชุมนุมขับไล่รัฐบาลคอร์รัปชัน จี้ เคารพมติศาลรธน.วินิจฉัย กปปส.ชุมนุมตามกรอบกฎหมาย... 

วันที่ 7 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์เรื่องการใช้สิทธิต่อต้านรัฐบาล ที่ไม่เคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาดังนี้

การคอร์รัปชัน ไม่ว่า จะเป็นการคอร์รัปชันเชิงอำนาจ นโยบายหรือเป็นการกวาดเอาทรัพย์สินเงินทองให้เป็นของตนเอง และพรรคพวก เป็นสิ่งที่เลวและชั่วร้ายที่สุด และไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของคนดีในทุกสังคมในทุกรัฐบาล ซึ่งแม้กระทั่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 โดยรัฐบาลไทย ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 แต่รัฐบาลไทยซึ่งต้องจัดให้มีมาตรการทางกฎหมาย และทางบริหารที่จำเป็นเพื่อให้มีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน อย่างเป็นรูปธรรม อย่างจริงจัง และน่าเชื่อถือนั้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม แม้ สหประชาชาติ จะสนับสนุนให้ทุกประเทศสมาชิกปฏิบัติการต่อต้านการคอร์รัปชันในทุกประเทศทั่วโลก แต่ประเทศไทยโชคร้าย เพราะการจัดอันดับของการที่มีคอร์รัปชันตกต่ำ มากในรอบปีที่ผ่านมา จากอันดับที่ 88 ในปี 2555 ปัจจุบันปี 2556 ตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 102

แสดงให้เห็นว่ารัฐบาล ไม่ได้ใช้นโยบายการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ในทางตรงกันข้ามเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า ในประเทศไทยมีการอุปถัมภ์ คอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้น เมื่อประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางการต่อต้านและการขับไล่รัฐบาลที่มีพฤติกรรมในทางการใช้อำนาจบริหารเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง การไม่เคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ประชาชนจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะรวมตัวกันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในการต่อต้านการขับไล่รัฐบาลตามธรรมเนียมการปฏิบัติของประชาคมทั่วโลก ในการแสดงออกของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่รับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง และในประเทศไทยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเป็น บรรทัดฐานในการแสดงออกทางด้านการเมือง โดยได้รับรองการใช้สิทธิของประชาชนไว้โดยถูกต้องตามที่มีผู้ขอให้ศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามเรื่องพิจารณาที่ 66/2556

ซึ่งโดยสรุป ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ส่วนการยึดสถานที่ราชการก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว... จึงยังไม่มีมูลกรณีที่เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย...”

ดังนั้นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการยึดสถานที่ราชการ จึงเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้รัฐบาลอาจจะกล่าวหา แกนนำและเลขาธิการ กปปส. ในเรื่องการกระทำผิดหลายข้อหาหลายกระทง แต่การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลนั้น รัฐบาลต้องทราบว่า เป็นกรณีต่างกรรมต่างวาระ การกระทำความผิดในข้อหากบฏที่ได้มีการกล่าวหาแล้วนั้นก็เป็นเรื่องของการกระทำที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงในขณะที่รัฐบาลได้ขอให้ศาลวินิจฉัย เท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามข้อเท็จจริงเป็นการ เฉพาะในสำนวนนั้นเท่านั้น และเป็นการเสนอข้อเท็จจริงของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แม้จะมีหมายจับออกมาจากศาลตามคำร้องของรัฐบาลนั่น ก็เป็นหมายจับตัวบุคคลตาม ข้อเท็จจริงเดิม ที่กล่าวหาว่า กระทำความผิด ซึ่งเป็นคนละกรณี

รัฐบาลจึงไม่อาจนำหมายจับดังกล่าวมารวมเหมาเข่งถือว่า การที่ประชาชนที่ออกมา เดินขบวนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน กับขอให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งที่ดูว่าไม่สุจริตยุติธรรมต่อรัฐธรรมนูญ นั้นมาถือว่า เป็นการสนับสนุนหรือเป็นตัวการในคดีข้อหากบฏทั้งหมดได้ เพราะความผิดตามกรรมเดิมนั้นได้จบไปตามพยานหลักฐานในชั้นนั้นแล้ว

หากจะมี การกล่าวหาประชาชนว่าเป็นกบฏสนับสนุนการกบฏ รัฐบาลต้องสรุปพฤติกรรมของประชาชนให้เห็นชัดเจนและต้องนำข้อเท็จจริงนั้นไป เสนอต่อศาลให้ครบองค์ประกอบความผิด จะกล่าวหาอย่างกว้าง ๆ เพื่อปรามประชาชนไม่ให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการแปลความที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์รวมตัวกัน เพื่อแสดงออกซึ่งความเห็นและต่อสู้ความไม่เป็นธรรมได้โดยชอบตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่อย่างสำคัญในการที่ต้องเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญข้างต้น ไม่พึงแสดงออกถึงการไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 2

เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็ยังไม่มาชี้แจงแสดงเหตุผลให้ชัดเจนว่าการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่อย่างไร หากรัฐบาลยังดื้อดึงดำเนินการกล่าวหาประชาชนที่ใช้สิทธิโดยสุจริตภายในกรอบของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลเองจะเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระด้างกระเดื่องต่อรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง

ทั้งต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลก็ยังไม่เคยตอบประชาชนในเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต เรื่องของการไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญแล้วอีกมากมายหลายกรณี เช่น การออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม การที่พรรคร่วมรัฐบาลใช้สิทธิออกเสียงแทนกัน การปลอมแปลงเอกสาร เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ความจริงรัฐบาลควรจะออกคำชี้แจงแสดงเหตุผลตอบข้อสงสัยของประชาชนในประเด็นต่างๆ ให้ครบถ้วน เมื่อรัฐบาลไม่ทำประชาชนจึงมีสิทธิที่จะออกมารวมตัวกัน เพื่อแสดงพลังต่อต้านความไม่สุจริตไม่ซื่อสัตย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการไม่เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของบรรดาผู้บริหารประเทศ

ดังนั้นจึงไม่มีกรณีใดที่จะมีกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลจะมาแถลงการณ์ข่มขู่ประชาชนที่มาใช้สิทธิประท้วงขับไล่โดยปราศจากอาวุธว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการสมคบกับผู้ก่อการกบฏ การใช้สิทธิของประชาชนดังกล่าวจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายสากล

โดย: ไทยรัฐออนไลน์ 7 มกราคม 2557, 20:00 น.



ไม่มีความคิดเห็น: