PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

“ปู” สั่งแผนชัตดาวน์ ส่ง “ชัยเกษม-เหลิม” ดู กม. - “ปึ้ง” เรียกทูตกล่อมพรุ่งนี้ อ้างมีพวกจ่อใช้อาวุธป่วน"..

รองโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ สั่งแผนม็อบชัตดาวน์ รมต.ทำงานให้บริการชาวบ้านตามปกติ โยน “ยุทธศักดิ์” ประสานส่วนราชการใกล้ชิด ส่ง “ชัยเกษม-เฉลิม” ดูข้อกฎหมายบังคับใช้ ย้ำอดทนอดกลั้น ปัดเปลี่ยน รมว.แรงงานคุม ศอ.รส.แทน ระบุ “สุรพงษ์” เรียกทูตกล่อมพรุ่งนี้ ให้ต่างชาติเลี่ยงเข้าม็อบหวั่นอันตราย มีใช้อาวุธ พร้อมโบ้ย “เหลิม” เตือนต่างด้าวอย่าเข้าใกล้ ปูดมีจ้างร่วมชุมนุม ปัด ครม.คุย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

วันนี้ (7 ม.ค.) ที่สโมสรทหารบก เมื่อเวลา 12.45 น. ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับกรณีที่กลุ่ม กปปส.ประกาศจะมีการปิดประเทศ ในวันที่ 13 ม.ค. 57 นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกคนดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย กระทรวงต่างๆที่อยู่ในการกำกับดูแล เพื่อให้การปฏิบัติราชการไม่ติดขัดและสามารถให้บริการพี่น้องประชาชนได้ตามปกติ โดยนายกฯ มอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ฝ่ายความมั่นคง และศอ.รส. ประสานงานงานกับทุกส่วนราชการอย่างใกล้ชิด และให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง หากได้รับการร้องขอ ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังแสดงความห่วงใยในการดูแลโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. โดยเฉพาะ การเดินทางของพี่น้องประชาชนทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เพื่อไม่ให้ประชาชนมีอุปสรรคในการเดินทาง

ร.ท.หญิง สุณิสากล่าวว่า สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย นายกฯ ได้มอบหมายให้นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการ ศอ.รส. ให้ร่วมกันดูแลและให้คำแนะนำในเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ และ ศอ.รส. ในกรณีที่เกิดสถานการณ์วุ่นวายและมีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ นายกฯ ได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการแก้ไขสถานการณ์ด้วยความอดทนอดกลั้น และใช้หลักสันติวิธีในการแก้ไขสถานการณ์ และปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ร.ท.หญิง สุณิสากล่าวว่า รัฐบาลขอปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับดูแล ศอ.รส.จากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล มาเป็น ร.ต.อ.เฉลิม ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปล่อยข่าวบนเวที กปปส. อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิมถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญใน ศอ.รส.และมีบทบาทสำคัญในฐานะคณะกรรมการของ ศอ.รส. และได้รับมอบหมายภารกิจจาก นายกฯ ให้ดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ร.ท.หญิง สุณิสาเปิดเผยด้วยว่า นายสุรพงษ์ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.ว่า ในวันที่ 8 ม.ค.เวลา 10.00 น. กระทรวงการต่างประเทศจะเชิญผู้แทนจากสถานทูตทั้งหมดที่ประจำการอยู่ในประเทศไทย 60 กว่าชาติมารับฟังการชี้แจงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. โดยเฉพาะการประกาศปิดประเทศในวันที่ 13 ม.ค. เนื่องจากต่างชาติมีความกังวลสถานการณ์ในไทยเป็นอย่างมาก โดยการเชิญครั้งนี้จะเป็นการแนะนำพลเมืองของประเทศต่างๆ ที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่จะมีการชุมนุมเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เพราะอาจจะมีผู้ที่ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์รุนแรงโดยใช้อาวุธในการชุมนุม

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ยังแจ้งให้ ร.ต.อ.เฉลิมไปชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติตัวของแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทยด้วย เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีการว่าจ้างแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะพม่า และกัมพูชาให้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วย ดังนั้น ศอ.รส.จึงเกรงว่าแรงงานต่างชาติจะได้รับอันตรายหรืออาจตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดีต่อประเทศ

ร.ท.หญิง สุณิสายังกล่าวถึงกระแสเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ในที่ประชุม ครม.วันนี้ ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับคำถามที่ว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในอนาคตหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็น โดยฝ่ายความมั่นคงจะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการตรากฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนจะมีการประกาศใช้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและสถานการณ์ในขณะนั้น ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พยายามนำกรณีความวุ่นวายในการเลือกตั้งที่บังกลาเทศมาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 57 นั้น รัฐบาลมีความไม่สบายใจและขอความร่วมมือนายอภิสิทธิ์ให้ระมัดระวังการใช้คำพูดที่อาจชี้นำไปสุ่ความรุนแรง เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประเทศชาติ และขอให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และแสดงบทบาทของพรรคการเมืองที่ดี ในการให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และการรักษากฎกติกาประชาธิปไตย รวมทั้งอย่าขัดขวางการเลือกตั้งของประชาชน และทำตามหน้าที่ของตนเองในการรักษาระบอบประชาธิปไตย ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

http://astv.mobi/A2fZvnB

ไม่มีความคิดเห็น: