PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

ราชประชาสมาสัย โอกาสในหนึ่งพันปี

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ7 มกราคม 2557 15:25 น.
       โดย...ปราโมทย์ นาครทรรพ
      
       ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ขนานนามความคิดที่ประชาชนกับพระมหากษัตริย์ร่วมกันแก้ไขวิกฤตทางการเมืองว่า “ราชประชาสมาสัย”
      
       “ราชประชาสมัย” เป็นคำใหม่ที่พระเจ้าอยู่หัวปัจจุบันทรงบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2501 นี่เอง ทรงแปลให้ว่า “พระมหากษัตริย์และประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน(http://guru.sanook.com/enc_preview.php?id=2975&title=%C1%D9%C5%B9%D4%B8%D4%C3%D2%AA%BB%C3%D0%AA%D2%CA%C1%D2%CA%D1%C )
      
       เมื่อครั้งกระนั้น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์จากการฉายภาพยนตร์เสด็จประพาสต่างประเทศให้ตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย สร้างโรงพยาบาลบำบัดโรคเรื้อนซึ่งเป็นที่รังเกียจและเชื่อว่ารักษาไม่หาย จนกระทั่งโรคเรื้อนเกือบจะหมดไปจากแผ่นดิน “ราชประชาสมาสัย” ได้ขยายตัวไปสู่การศึกษาทั่วไป พวกเราคอยวันที่ “ราชประชาสมาสัย” จะขยายออกมากำจัดนักการเมืองขี้เรื้อนให้หมดจากเมืองไทย
      
       ความจริงธรรมเนียมประเพณีหรือพฤติกรรมหรือคุณลักษณะแบบราชประชาสมาสัยมีมานานแล้วในระบอบการเมืองไทยแต่โบราณ คือ การปกครองแบบพ่อกับลูกในยุคสุโขทัย การปกครองแบบทศพิธราชธรรมในยุคอยุธยา หรือแบบอเนกนิกรสโมสรสมมติในยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งพระมหากษัตริย์กับปวงราษฎรได้พึ่งซึ่งกันและกันมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าเน้นจุดพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งของพสกนิกรมากกว่า
      
       การที่พระมหากษัตริย์ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนนี้เป็นพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ตัวอย่างเช่น พระปฐมบรมราชโองการของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ดังนี้ “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระศาสนา ปกป้องขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” และ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
      
       ประโยคสำคัญที่สุด น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติก็คือ
      
       “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้ เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองให้แก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ”
      
       การที่บุคคลจะช่วยเหลือคุ้มครองหรือเป็นที่พึ่งให้กับบุคคลอื่นได้นั้น อย่างน้อยก็จะต้องมีความเต็มใจหรือตั้งใจและมีความสามารถหรืออำนาจจึงจะทำได้เต็มที่ พระเจ้าแผ่นดินก็เหมือนกัน และถ้าหากความสามารถนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็จะง่ายยิ่งขึ้น
      
       ผมขออธิบายว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของพระมหากษัตริย์ที่จะช่วยเหลือคุ้มครองประชาชนได้ถูกยึดและเบียดบังไปตั้งแต่วันที่ 24  มิถุนายน 2475 จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้คืน
      
       อำนาจในกรณีนี้มีต้นตอมาจากทฤษฎีสัญญาประชาชนและหลักกฎหมายธรรมชาติที่ประชาชนยอมสละอำนาจและสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติของตนแลกเปลี่ยนให้พระเจ้าแผ่นดินมีหน้าที่คุ้มครองให้เกิดความสงบสุขและปลอดภัย ในประเทศอังกฤษถือว่าอำนาจของกษัตริย์ตามนี้เป็น Extra-Constitutional คืออยู่ทั้งนอกและทั้งเหนือรัฐธรรมนูญ เป็นพระราชอำนาจพิเศษหรือ Royal Prerogative ที่กษัตริย์สามารถนำมาใช้ได้ถึงแม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย หรือแม้กระทั่งขัดกฎหมายก็ได้ ในเมื่อสังคมเผชิญวิกฤตเกิด Imminent Lawless Action หรือภยันตรายป่าเถื่อนไร้กฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและความปลอดภัยของสังคม (Public Good) อเมริกันได้นำหลักนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อป้องกัน  Real and Present Danger หรือภัยพิบัติชัดแจ้งที่จะเกิดขึ้นทุกขณะ ฝ่ายบริหารสามารถใช้ Executive Prerogative ยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่และกำหนดมาตรการที่เป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นการชั่วคราวได้
      
       การที่เมืองไทยสร้างประชาธิปไตยไม่สำเร็จส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่ไว้วางใจพระมหากษัตริย์และสถาบัน และไม่เชื่อใจประชาชน จึงสร้างระบอบและกฎหมายรัฐธรรมนูญจำกัดการมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์และ ประชาชนไว้ให้มีน้อยที่สุด โดยสร้างวาทกรรมว่า “กษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”
      
       ใช่แต่ Royal Prerogative  แบบอังกฤษจะถูกเบียดบังไปจากพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น อำนาจทั่วไปหรือ Regular Power ที่จะตักเตือน แนะนำและให้กำลังใจรัฐบาลเป็นประจำ (ทุกสัปดาห์) และพระราชอำนาจสำรองหรือ Reserved Power ที่จะรับหรือปฏิเสธการลาออกของรัฐมนตรีและการยุบสภาก็พลอยถูกขโมยไปด้วยเหลือแต่ตรายางกับพระนามาภิไธยเท่านั้น พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงคุ้มครองประชาชนให้ปลอดจากเผด็จการคณาธิปไตยมิได้
      
       อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กึ่งพุทธกาลเป็นต้นมา บุญญาธิการของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้แผ่ไพศาลไปทั้งประเทศและทั่วโลก
      
       นิติราชประเพณี ทศพิธราชธรรมและราชประชาสมาสัยที่พระองค์ทรงนำมาช่วยเหลือปวงราษฎรนับเป็นอเนกประการ รวมทั้งโครงการในพระราชดำริกว่า 4 พันโครงการทำให้พระองค์เป็นที่รักบูชาของพสกนิกรอย่างลึกซึ้งและไม่สร่างซา ดังจะเห็นได้จากคลื่นมวลมหาประชาชนที่ออกมาต่อต้านระบอบทักษิณ และเรียกร้องให้สถาปนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
      
       ที่สำคัญที่สุดพระราชอำนาจพิเศษเสมือนหนึ่ง Royal Prerogative ของอังกฤษก็ได้นำออกมาใช้เพื่อหยุดยั้งระงับการปะทะสูญเสียชีวิตของมวลชนและเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2534 รวมทั้งการแต่งตั้งบุคคลนอกคือศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2516 เช่นเดียวกับพระราชินีแต่งตั้ง Lord Home นายกรัฐมนตรีคนนอกของอังกฤษในปี 2506
      
       หลายคนกล่าวว่านั่นเป็นบุญญาธิการส่วนพระองค์ หากทรงชราภาพประชวร และปราศจากข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งกล้าหาญ คงไม่สามารถทรงใช้พระราชอำนาจพิเศษดังกล่าวได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นเช่นนั้นจริง เว้นเสียแต่ว่าจะได้อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงให้มีรัฐธรรมนูญราชประชาสมาสัยและระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเสียโดยเร็ว
      
       อันที่จริง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับราชประชาสมาสัยก็คือสิ่งเดียวกันนั่นเอง นั่นก็คือ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่ทั้งพระมหากษัตริย์กับประชาชนต่างก็มีอำนาจหน้าที่และส่วนร่วมตามครรลอง และประเพณีของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
      
       พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินใช้มาจากข้างบนผ่านกองทัพในฐานะจอมทัพ (The King Rules the Realm Through the Army) ผ่านรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีในฐานะประมุขประเทศ (King in the Parliament and Council) ทำให้เกิดธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน อันจะยังประโยชน์ ความผาสุก คุ้มครองภัยให้แก่ปวงราษฎร
      
       ในขณะเดียวกัน การมีอำนาจหน้าที่และส่วนร่วมของประชาชนจะต้องกว้างขวางมีความหมายและเป็น ผลดีในชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง หาใช่การลงคะแนนเลือกตั้งไม่กี่นาที หรือการตรวจสอบต่อต้านรัฐบาลเป็นครั้งคราวไม่ วัตถุประสงค์ของการมีส่วนร่วมก็คือหลักประกันการบริหารรัฐบาลเพื่อความสุข ปลอดภัยและสวัสดิการของประชาชน เมื่อประชาชนมีความสุขสมบูรณ์ ประเทศชาติและสถาบันกษัตริย์ก็จะมีความมั่นคงยั่งยืน
      
       ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปไว้อย่างน่าฟังว่า
      
       “ผมใคร่ขอเสนอมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ได้แก่ การปกครองระบอบราชประชาสมาสัย ให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมกันปกครองแผ่นดิน ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบ ประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่แล้วมา พระมหากษัตริย์กับประชาชนในเมืองไทยนั้นไม่เคยเป็นภัยต่อกันมีแต่ความรักกัน และมีความอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อกันและกันมาโดยตลอด
      
       ถ้าหากว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนได้ร่วมกันปกครองแผ่นดินด้วยความรักและความอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อกันดังที่ได้มีมาแล้วโดยตลอดนั้น ผมก็มีความหวังว่า แผ่นดินไทยของเรานี้ จะเป็นดินแดนแห่งความสันติ และความเจริญในทุกทางดังที่คนทั่วไปปรารถนา” 11 ธ.ค. 2514
      
       ขณะนี้เมืองไทยกำลังอยู่บนปากเหวแห่งความวิบัติ ผมมองไม่เห็นทางออก นอกจากราชประชาสมาสัย คือ การพึ่งบารมีในหลวง การมีส่วนร่วมของปวงชน ความไม่สับสนของกองทัพที่ต้องสนับสนุนจอมทัพกับมวลมหาประชาชนอย่างแท้จริง
      
       วิธีการนั้นไม่ยาก รีบระงับวิกฤตนองเลือดเสียก่อน ด้วยการขอร้องให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบของแผ่นดิน เช่น ประมุขศาลและผู้นำเหล่าทัพ เจริญเวสารัชชกรณธรรม รวบรวมความกล้าทูลเกล้าฯ ขอหมายรับสั่งเข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชโองการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่เป็นต้นเหตุและอุปสรรคขัดข้องของการแก้วิกฤต เป็นต้นว่า หมวดว่าด้วยคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฏร และคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น (โปรดอ่าน: มาตรา 7 และการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการรักษา มิใช่ทำลายรัฐธรรมนูญhttp://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000032885 )
      
       เมื่อระงับวิกฤตสำเร็จแล้ว มวลมหาประชาชนพากันมีส่วนร่วม ด้วยการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญราชประชาสมาสัยเสียเลย
      
       นอกจากราชประชาสมาสัยจะป้องภัยนองเลือดได้แล้วยังจะนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เหนือกว่ามาตรฐานสากลและสอดคล้องกับความเป็นไทย
      
       นี่เป็นมหัศจรรย์ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หากประตูแห่งโอกาสปิดลงในครั้งนี้ อย่าหวังเลยว่าอีกพันปีจะหวนคืนมาอีก
      
       ปราโมทย์ นาครทรรพ

ไม่มีความคิดเห็น: