PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ:ตรวจแนวรบ 24 ช่อง "ลงสนาม" เม.ย.

ตรวจแนวรบ 24 ช่อง "ลงสนาม" เม.ย.
โดย : อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มี.ค. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) อนุมัติให้โครงข่าย 4 ราย
"ทดสอบทางเทคนิค" การออกอากาศทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ในวันที่ 1 เม.ย. นี้ที่จะใช้เวลาในการทดสอบสัญญาณประมาณ 24 วัน แล้วในวันที่ 25 เม.ย.กสท. น่าจะออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลให้กับ 24 ช่องได้ โดยกำหนดให้แต่ละช่องไปดำเนินการออกอากาศตามผังที่เสนอกสท.ภายใน 30 วัน คือวันที่ 25 พ.ค.
สัปดาห์หน้าถือว่ากรรมการเป่านกหวีดให้ "ผู้เล่น 24 ช่อง" ลงสนามไปวอร์มอัพ และกำหนดวันดีเดย์เริ่มแข่งแล้ว นับจากนี้สงครามทีวีดิจิทัลกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการด้วยความระทึกใจ ก่อนจะไปตรวจแนวรบความพร้อมของ 24 ช่อง ขอไปสังเกตการณ์ความพร้อมของโครงข่าย 4 ค่าย ที่จะเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกในการเปลี่ยนผ่านระบบออกอากาศโทรทัศน์ในประเทศไทย

โครงข่ายช่อง 5 ที่ได้ใบอนุญาต 2 Multiplexer กำหนดวันที่ 1 เม.ย. เป็นวันเปิดตัวโครงข่าย 14 ช่อง ที่โพธาลัย เรเซอร์ปาร์ค แต่ความพร้อมเพียง 1 MUX ส่วนอีก 1 MUX อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องส่งที่เพิ่งได้รับการอนุมัตินำเข้าจาก กสท.หมาดๆ ในวันที่ 21 มี.ค. ทำให้ช่อง 5 ต้องปรับแผนการทดสอบทางเทคนิคให้ออกอากาศพร้อมกัน 13 ช่อง ทีวีดิจิทัล และอีกช่อง HD ของช่อง 5 ไปเป็นวันที่ 7 เม.ย.เป็นวันดีเดย์ทดสอบเต็ม 100 %

โครงข่ายไทยพีบีเอส เดิมโฆษณากำหนดวันเริ่มทดสอบออกอากาศพบกับไทยพีบีเอสช่อง 3 HD ในวันที่ 1 เม.ย. แต่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับไม่ได้บอกวันที่ 1 เม.ย. บอกแค่พบกัน"เมษายนนี้"

โครงข่าย อสมท. ยังมีปัญหาการประมูลจัดซื้อเครื่องส่งจริงไม่ได้ และถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินท้วงติงว่าตั้งราคากลางสูงเกิน แต่ อสมท.มีเครื่องส่งสำรองสามารถออกอากาศและขอใช้เสาส่งของไทยพีบีเอสชั่วคราว

โครงข่ายกรมประชาสัมพันธ์ เริ่มทดสอบสัญญาณเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่าน แต่เนื่องจากโครงข่ายนี้ไม่มีช่องทีวีดิจิทัลของเอกชนรายใดไปใช้บริการเลย ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องออกอากาศเต็มพิกัดในวันที่ 1 เม.ย. เหลือเฉพาะออกอากาศช่อง 11 แบบ HD

กสท. กำหนดให้ทุกโครงข่ายจะต้องเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, นครราชสีมา และ สงขลา# วันที่ 1 พ.ค. อุบลราชธานี, สุราษฎร์ธานี, ระยอง# วันที่ 1 มิ.ย. สิงห์บุรี, สุโขทัย, ขอนแก่น, อุดรธานี# วันที่ 1 ส.ค. ร้อยเอ็ด, เชียงราย, สระแก้ว,นครสวรรค์# วันที่ 1 ต.ค. นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, ตรัง, ลำปาง# วันที่ 1 ธ.ค. สกลนคร, สุรินทร์, น่าน, เพชรบูรณ์, ประจวบคีรีขันธ์
รวมรัศมีการออกอากาศของโครงข่ายจนถึงสิ้นปี 2557 น่าจะมากกว่า 80% ของประชากรไทยประมาณ 17-18 ล้านครัวเรือนแล้ว แล้วในเดือนพ.ค. กสท. จะเริ่มแผนประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เ พื่อนำไปสู่ในเดือนมิ.ย. จะเริ่มต้นการแจกคูปองสำหรับการแลกกล่องรับสัญญาณ และเสาอากาศที่ทราบมาว่าจะเพิ่มมูลค่า จนถึงขั้นผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงทีวีดิจิทัล

แม้ว่าแผนพีอาร์กับการแจกคูปองมาค่อนข้างช้า แต่ยังดีกว่าไม่มาเลย ถ้าเป็นไปตามแผนเช่นนี้คงจะทำให้ 24 ช่อง ทีวีดิจิทัลพอจะมีเรี่ยวแรงการกรำศึกสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในวงการโทรทัศน์

แผนสำรองของ กสท. ที่พอจะทำให้นับจากวันแรกของการออกอากาศทีวีดิจิทัลจะมีระดับการเข้าถึงประมาณ 65-70% ของประชากร ด้วยกฎ Must Carry จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. ทางดาวเทียมไทยคม ได้พร้อมแล้วสำหรับการจัดเรียง 36 ช่องทีวีดิจิทัล เพื่อให้โครงข่ายจานในระบบ C-Band ไปเรียงบนจานตั้งแต่หมายเลข 11-46 หรือบวกเพิ่ม 10 หมายเลขจากเบอร์ช่องภาคพื้นดิน

ไทม์ไลน์ของกฎ Must Carry ในโครงข่ายต่างๆ ถัดจาก 1 เม.ย. บนจานดาวเทียมแบบจานดำหรือจานโปร่ง C-Band ถัดมาในวันที่ 2 เม.ย.ผู้ให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก CTH จะเริ่มเรียงช่องใหม่ตามกฎนี้ แล้วในวันที่ 17 เม.ย. จานดาวเทียมในระบบ KU-Band DTV, PSI-TRUE รวมทั้งผู้ให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกรายใหญ่ที่สุด ทรูวิชั่นส์จะจัดเรียงหมายเลขตามกฎนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนเคเบิลทีวีท้องถิ่นยังเป็นปัญหาที่กสท.ยังแก้ไม่ตกเพราะเคเบิลท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบอนาล็อกที่มีจำนวนช่องประมาณ 60-80 ช่อง ยังไม่สามารถนำช่องทีวีดิจิทัลลงไปในโครงข่ายได้ รวมทั้งบริษัท IPM เจ้าของจานดาวเทียม IPM ที่ใช้ดาวเทียม SES8 ยังไม่พร้อมจะเข้าสู่กฎ Must Carry เพราะต้นทุนในการอัพลิงก์ 24 ช่องใหม่ยังเป็นประเด็นใครจะรับผิดชอบ?

ขอไล่เรียงตรวจแถวความพร้อมของ "ผู้เล่น 24 ช่องทีวีดิจิทัล" ว่าในวันที่ 1 เม.ย. ประชาชนชาวไทยจะได้เห็นเนื้อหาอะไรบ้าง จาก 24 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ถือเป็น "ฟรีทีวีใหม่" ที่เพิ่มจากฟรีทีวี 6 ช่องเดิมที่ออกอากาศระบบอนาล็อกมากว่า 50 ปีไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างการถือครองและการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น

ช่อง HD Variety น่าจะเหลือแค่ช่อง AmarinTV ที่ยังไม่ได้เปิดเผยหน้าตาของช่องออกมาให้วงการได้รับรู้มากนัก หลังจากได้ปิดช่องทีวีดาวเทียม Amarin Creative TV ไปหลังประมูลได้ทีวีดิจิทัล รู้เพียงแค่ได้ "ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมมา" อดีตผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอสไปนั่งเป็นหัวเรือใหญ่ในส่วนของข่าวและรายการ

ช่อง PPTV ที่ได้ "เขมทัตต์ พลเดช" อดีตรองผอ.อสมท.และเพรสซิเดนท์บริษัทสปา-ฮักกุไปเป็นซีอีโอนัดออนแอร์ 7 เม.ย. เวลา 03.39 น.ที่มีผังสดๆ วางลงในเวลาไพร์มไทม์เป็นซีรีย์ดังจากเกาหลีญี่ปุ่น ส่วน ช่องไทยรัฐทีวี ที่ "รำมวยไหว้ครู" มานานนับปีแล้ว กำหนดจัดงานเปิดตัวยิ่งใหญ่ในวันที่ 24 เม.ย.แน่นอนแล้ว

ช่อง 3 อนาล็อกที่ยัง "กั๊ก" ไม่เผยไต๋ชัดเจนว่าจะนำมาออกอากาศแบบคู่ขนาน HD ในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ และรายการไหนบ้างที่จะไม่ตามมา เพราะช่อง 3 ยื่นประมูลในนามบริษัทใหม่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของช่อง 3 จึงไม่สามารถนำช่อง 3 มาสวมทั้งช่องได้จะผิดกฎ กสท. ที่ไม่ให้ผู้ประมูลได้ไปให้คนอื่นดำเนินการแทน

ช่อง SD Variety เท่าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่ามีความพร้อมในการออกอากาศเต็มรูปแบบภายใน 1-2 เม.ย.นี้

ยกเว้นช่อง 3 SD ที่มีข่าวหยั่งเชิงยังเป็นผังแบบหลวมๆ ที่น่าจะอยู่ในช่วงจัดทัพสรรพกำลังภายในให้ลงตัว หลังออกไล่ล่ารวบรวมกำลังพลจากช่องอื่นๆ และถ่ายเทคนข่าวจากช่อง 3 เดิม ลงมาอยู่ช่อง 3 SD ที่ดูเหมือนกำลังกลายเป็นแหล่งรวม "คนข่าว" ต่างสำนักที่ไม่ใช่หน่อเนื้อลูกหม้อช่อง 3

ช่อง SD News เกือบทั้งหมดเป็นช่องทีวีดาวเทียมเดิมทำให้มีความพร้อมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ยกเว้นบริษัท 3A Marketing ที่ยังอยู่ระหว่างการแต่งตัวช่อง Bright TV ใกล้จะเข้าที่เข้าทางแล้วน่าจะอยู่ในช่วงเดือนพ.ค. คาดว่าช่องนี้น่าจะมีสัดส่วนแบ่งข่าวอยู่ 50% เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ และผังที่เหลือจะกลายเป็นรายการวาไรตี้ รวมทั้งรองรับรายการหลุดจากผังช่อง 5 ที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนข่าวและสาระจาก 50% เป็น 70% หลังเป็นช่องทีวีสาธารณะ

ช่องที่มีการปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าช่องมากที่สุดก่อนใครคือช่อง Dailynews TV เมื่อวันที่ 11 มี.ค .มีการปรับผังแบบไม่เหลือคราบเดิมช่องข่าว กลายเป็นอีกช่องไปเลยในนาม NewTV ที่มีสัดส่วนสารคดีมากถึง 80% ส่วนใหญ่มาจาก บริษัท NEXTSTEP ที่เป็นเจ้าของช่องทีวีดาวเทียมสารคดีโลก

ช่องทีวีพูลที่ได้เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มี.ค. เป็นช่องข่าว THV โดยกลุ่มบางกอกโพสต์ จะรับผิดชอบทำข่าวประมาณ 20% ของผังและอีก 30 %เป็นข่าวบันเทิงที่กลุ่มทีวีพูล รวมสัดส่วนผังข่าวครบตามความเห็นของผู้บริหารทีวีพูล 50% เวลาที่เหลือทั้งหมดจะเป็นรายการละคร, วาไรตี้ตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00-24.00 น. เช่น รายการล้วงตับโดยเต๋าทีวีพูล, รายการสลับไตโดยบรรณาธิการข่าวบันเทิง "แจ็กเกอลีน", TV Pool CelebSpy, ละครสาวน้อยคาเฟ่ นำแสดงโดยแคทรียา อิงลิช ฯลฯ

ภาพรวมของช่องข่าว THV สายพันธ์ TV Pool จึงแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับช่องข่าวที่เหลืออีก 4 ช่อง คือ Nation TV, TNN24, VoiceTV และ Spring News ที่มีสัดส่วนผังข่าวและรายการข่าวเกินกว่า 75% จนถึง 95% เป็นข่าวและสาระมากเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ กสท. ไปเยอะ

ช่องเด็กที่มีอยู่เพียง 3 ช่อง น่าจับตามอง ช่อง 3 Family กับ ช่อง LOGA ที่น่าจะต่างจากช่อง 9 เด็กที่ได้ยินว่าร่วมกับกลุ่ม Cartoon Club โดยช่อง3 Family ใช้วิธีเกลี่ยบางรายการที่มีเรทติ้งต่ำลงจากช่อง 3 อนาล็อกมาลงผัง เช่น รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง, รายการแจ๋ว ฯลฯ ส่วนช่อง LOGA มีบริษัทโชว์โนลิมิตของ "หนุ่ย-พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์" เป็นตัวชูโรงถึง 5 รายการ ที่มีความถนัดมาทางไอทีและไลฟสไตล์

สัปดาห์หน้าจะได้เห็นระดับความพร้อมของแต่ละช่องทีวีดิจิทัล ในการออนแอร์ผ่าน 3 โครงข่ายครบ 24 ช่อง แล้วสงครามทีวีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 โดยเชื่อว่าในไตรมาส 3-4 จะลุกลามถึงขั้นติดดาบปลายปืน จ้วงแทงกันแบบประชิดตัวใน "สงครามราคา" เพื่อเร่งสะสมเม็ดเงิน เตรียมไว้สำหรับการจ่ายค่าประมูลให้ กสท. ในงวดที่สองภายในวันที่ 12 ก.พ. 2558 วันนั้นจะพอรู้แล้วว่าอาการของแต่ละช่องเป็นอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: