PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฟังเหตุผล“สุภิญญา” ตั้ง “จอน-นคร-ต่อพงศ์”เป็นที่ปรึกษา เงินเดือน 1.2 แสน

ฟังเหตุผล“สุภิญญา” ตั้ง “จอน-นคร-ต่อพงศ์”เป็นที่ปรึกษา เงินเดือน 1.2 แสน
“…ที่ปรึกษาคือหลักพิงให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องตรรกะที่หนักแน่น เหมือนเรามีหมอประจำตัว หรือมีคณะลูกขุนคอยให้ความเห็น เพราะการลงมติแต่ละครั้ง เป็นเรื่องที่มีผลเกี่ยวพันละเอียดอ่อน และซับซ้อน ดังนั้นการลงมติแต่ละครั้ง ก็จะปรึกษาที่ปรึกษาทั้ง 3 คน…”
“ตอนที่ถูกทักษิณฟ้อง อาจารย์จอนก็คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือ ต่อมาก็โดนคดีด้วยกันตอนปีนสภาต้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เราก็ถูกศาลตัดสินจำคุก รอลงอาญาด้วยกัน”
เป็นคำยืนยันของ “สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อกรณีการตั้งนายจอน อึ้งภากรณ์ เป็น 1 ใน 3 ที่ปรึกษา นอกเหนือจากนายนคร ชมพูชาติ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์
ท่ามกลางคำครหาที่คณะกรรมการ กสทช. ตั้งบุคคล 31 รายเป็นที่ปรึกษาประจำตัว โดยจ่ายเงินค่าตอบแทนสูงถึง 100,000 – 120,000 บาท/เดือน
(อ่านประกอบ : รายชื่อ 31“ที่ปรึกษา”กสทช.รับค่าตอบแทน 100,000-120,000 บาท/เดือน)
http://www.isranews.org/component/content/article/58-isranews/isranews-scoop/30459-pyr.html
รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า นายจอน และนายนคร มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “สุภิญญา” จึงเป็นเหตุให้การตั้งที่ปรึกษาในครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบจากบทสัมภาษณ์ “สุภิญญา” ชิ้นนี้
“เหตุผลที่เลือกนายจอนเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากรู้จักกันมานานตั้งแต่เมื่อครั้งที่นายจอน เคยเป็นประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ในส่วนพิจารณาร่างกฎหมาย รวมทั้งเคยเป็นอดีตกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส”
น.ส.สุภิญญา ย้อนความหลังครั้งรู้จักกับนายจอนใหม่ ๆ ก่อนเล่าเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเป็นที่ปรึกษาตัวเองว่า ตอนสมัครกรรมการ กสทช. เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมส่งตัวเอง และนายจอน ลงสมัคร ทั้งคู่ได้รับเลือกเข้าไปถึงขั้นสุดท้ายที่วุฒิสภาต้องลงคะแนนเลือก ผลการตัดสินออกมาว่าตัวเองได้คะแนนสูงสุด จึงโทรไปเชิญนายจอนเพื่อมาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว
“ตอนที่ถูกทักษิณฟ้อง อาจารย์จอนก็คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือ ต่อมาก็โดนคดีด้วยกันตอนปีนสภาต้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เราก็ถูกศาลตัดสินจำคุก รอลงอาญาด้วยกัน”
ส่วนการตั้งนายนครนั้น น.ส.สุภิญญา ระบุว่า ก่อนตั้งนายนครเป็นที่ปรึกษา ได้ตั้งนายประสาร มฤคพิทักษ์เป็นที่ปรึกษาอยู่ก่อนแล้ว เพราะเป็นส.ว.มาก่อน และมีจุดยืนหนักแน่นเรื่องการตรวจสอบคอร์รัปชั่น และเคยผ่านร่างพิจารณากฎหมาย แต่ต่อมานายประสารได้รับเลือกกลับเป็นไปส.ว.อีก
“จากนั้นจึงมาทบทวนว่าเราต้องมีนักกฎหมาย เพราะเมื่อแสดงจุดยืน หรือหลักการ เรายังไม่หนักแน่นพอในข้อกฎหมาย จึงเชิญคุณนครมาเป็นที่ปรึกษา ที่ก่อนหน้านี้เป็นกรรมการบริหารไทยพีบีเอส ดังนั้นเมื่อคุณประสารไปเป็นส.ว. ก็พอดีกับคุณนครหมดวาระที่ไทยพีบีเอส จึงเชิญคุณนครมา โดยคุณนครเป็นทนายอาสาด้านสิทธิมนุษยชน และแม่นยำเรื่องกฎหมาย จึงช่วยเราได้ในการกลั่นกรอง และพิจารณาเรื่องกฎหมายต่าง ๆ
ก่อนจะเล่าย้อนไปว่า “รู้จักกับนายนครมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่นายนครเป็นทนายอาสาด้านสิทธิมนุษยชน ว่าความให้โดยไม่รับเงิน ในคดีที่ตัวเองถูกอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้อง”
ส่วนสาเหตุที่เชิญนายต่อพงศ์มาเป็นที่ปรึกษานั้น น.ส.สุภิญญา เล่าว่า ทำงานร่วมกันมานาน และที่เชิญมาเพื่อช่วยผลักดัน เจรจา เพื่อคนด้อยโอกาส และขับเคลื่อนสิทธิคนพิการ โดยงานหลักของนายต่อพงศ์คือช่วยดูกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังมีความสามารถในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนอีกด้วย
น.ส.สุภิญญา อธิบายหน้าที่หลักของที่ปรึกษาแต่ละรายให้ฟังว่า นายจอน กับนายนคร จะคอยอ่านวาระการประชุม และทำข้อสรุปส่งมาให้ก่อนการประชุม รวมทั้งถูกส่งไปเป็นอนุกรรมการร่วมพิจารณาในเรื่องสำคัญ เช่น เป็นอนุกรรมการศึกษาความชอบธรรมของสัญญาสัมปทาน ศึกษาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ของหน่วยงานรัฐ เป็นอนุกรรมการด้านการกำกับเนื้อหารายการ เป็นต้น
ส่วนนายต่อพงศ์ ช่วยผลักดันเรื่องนโยบายคนพิการ โดยเป็นอนุกรรมการเรื่อง “ยูโซ่” ที่ผลักดันเกณฑ์และกติกาเพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบการให้มีรายการภาษามือ หรือออกเกณฑ์บังคับให้มาตรฐานกล่องเทคนิค และรีโมตจะมีวิธีใช้ที่เอื้อต่อคนพิการ รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องกองทุนคนพิการ
“ที่ปรึกษาคือหลักพิงให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องตรรกะที่หนักแน่น เหมือนเรามีหมอประจำตัว หรือมีคณะลูกขุนคอยให้ความเห็น เพราะการลงมติแต่ละครั้ง เป็นเรื่องที่มีผลเกี่ยวพันละเอียดอ่อน และซับซ้อน ดังนั้นการลงมติแต่ละครั้ง ก็จะปรึกษาที่ปรึกษาทั้ง 3 คน”
อ่านประกอบ :
“สุภิญญา” รับรู้สึกผิดที่ปรึกษาเงินเดือนสูง ยันเป็นกติกาภายในองค์กร
http://www.isranews.org/component/content/article/57-isranews/isranews-news/30583-supinya_02.html
พลิกปูม“จอน-นคร-ต่อพงศ์” ทำไม“สุภิญญา”ตั้งเป็นที่ปรึกษาประจำตัว?
http://www.isranews.org/component/content/article/58-isranews/isranews-scoop/30518-supinya_01_01.html

ไม่มีความคิดเห็น: