PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อเสนอแผนการปฏิรูปสำหรับ คสช. และรัฐบาลเฉพาะกาล

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum:TD Forum) จัดประชุม “ข้อเสนอแผนการปฏิรูปสำหรับ คสช. และรัฐบาลเฉพาะกาล” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง
นาย เธียรวิชญ์ วงศ์นรวีย์ จากกลุ่มอภิวัตน์ใหม่ กล่าวว่า การเมืองในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรม สส.ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน การเมืองกลายเป็นเรื่องไม่ดี คนดีๆจึงไม่อยากยุ่งเกี่ยว การเมืองภาคประชาชนจึงทำได้เพียงตรวจสอบ อธิปไตยถูกนายทุนยึด แม้จะไม่เลือกใครเลยก็ไม่สามารถหยุดยั้งคนไม่ดีได้ การแก้ปัญหานี้จึงวนกลับมาสู่คำถามว่าการเลือกตั้งแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่? จะทำให้อำนาจรัฐเป็นพื้นที่ของคนดีได้หรือไม่? ทำไมต้องยอมให้แค่นักการเมืองเท่านั้นที่ปกครองประเทศ
นายเธียรวิชญ์ กล่าวถึงข้อเสนอว่า ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ ให้อำนาจกลับคืนสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนเป็นองค์อธิปัตย์ โดยให้มี “สภานโยบาย” ซึ่งมาจากตัวแทนประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพ ทำหน้าที่วางแนวทางนโยบาย หรือเรียกง่ายๆว่าพิมพ์เขียวประเทศ ส่วนฝ่ายบริหารนั้น เสนอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองก็ได้ ในส่วนของ ครม.นี้ มีหน้าที่ต้องรับพิมพ์เขียวจากสภานโยบายไปปฏิบัติอย่างเดียว เปรียบเสมือนสภานโยบายเป็นคนทำพิมพ์เขียว แล้วครม.รับเหมาไปก่อสร้าง
นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีสภานิติบัญญัติ ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับวุฒิสภา โดยมีที่มาที่จากการเลือกตั้ง และแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่ ขณะที่อำนาจตุลาการนั้นให้คงเดิมโดยไม่เข้าไปแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงอะไร
ขณะที่ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ จากกลุ่มธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ อภิปรายในประเด็นการปฏิรูประบบตรวจสอบ ขจัดทุจริต โดยระบุว่า ที่ผ่านมามีปัญหาทุจริตรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การคอร์รัปชั่น เดิมแค่โกงเล็กน้อย แต่ตอนนี้เป็นการโกงชาติแบบใหม่จนอาจทำให้ชาติล่ม สร้างความเสียหายต่อปีไม่น้อยกว่า 3 แสนล้าน เฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ตัวเลขความเสียหาย 5 แสนล้าน
นายวสันต์ กล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูประบบตรวจสอบว่า ผู้นำที่ทำการปฏิรูปต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ องค์กรปราบปรามทุจริตต้องมีประสิทธิภาพ กล้าลงโทษคนใหญ่โต คนผิดต้องถูกลงโทษรวดเร็ว และกฎหมายต้องเด็ดขาด ควรมีการเพิ่มโทษและให้ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ไม่มีอายุความ ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบและไม่มีส่วนร่วมทำผิดเสียเอง ต้องมีการส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และแก้ทัศนคติของสังคมว่าคอร์รัปชั่นคือภัยร้ายแรง
นายวสันต์ กล่าวถึงข้อเสนอระยะเร่งด่วน 1.ขอให้การต่อสู้คอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ 2.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การต่อสู้คอรัปชัน 3.ตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันและปราบปราบทุจริต สนับสนุนพลังทางสังคมให้มีส่วนร่วมแก้ปัญหา 4.ใช้มาตรการทางภาษี อาทิ ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 10 ปีควบคู่ไปกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบคดีภาษีอากร หากไม่สามารถชี้แจงได้ให้ยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดิน 5.เร่งดำเนินคดีการทุจริตเช่นโครงการจำนำข้าว เอาคนผิดมาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง 6.ทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบมหาศาล ศึกษาอย่างรอบด้านและดำเนินการโปร่งใส
นอกจากนี้ ในระยะถัดไป เสนอให้ 1.เพิ่มโทษผู้กระทำหรือเกี่ยวข้องให้ไม่มีอายุความ 2.จัดตั้งศาลคดีคอรัปชันเป็นการเฉพาะและเร่งรัดพิจารณาโดยไม่ชักช้า 3.ให้หน่วยงานป้องกันและปราบปรามทุจริต และภาคประชาชนเป็นโจทย์ยื่นฟ้องได้ 4.แก้ไขกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ประชาชนติดตามตรวจสอบได้ 5.รณรงค์ให้สังคมตระหนักปัญหาคอรัปชันและเข้ามามีส่วนแก้ไขในทุกๆระดับ

ไม่มีความคิดเห็น: