PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“ไพศาล” แนะเพิ่มประสิทธิภาพให้ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบทรัพย์สิน

“ไพศาล” แนะเพิ่มประสิทธิภาพให้ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบทรัพย์สิน
นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อเช้าวันนี้ แนะ คสช. เพิ่มประสิทธิภาพให้ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ชี้นับตั้งแต่มี ป.ป.ช. เป็นต้นมากว่าสิบปีแล้ว ผลการตรวจสอบทรัพย์สินแทบไม่มีผลงาน สาเหตุเนื่องจากกฎหมายไร้ประสิทธิภาพ จึงทำให้การคอร์รัปชั่นเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง
นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่าการตรวจสอบทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ต้องอาศัยบทบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สินเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีปมปัญหาอยู่สองข้อ คือ อย่างไรจึงถือว่าร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งต้องหาข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และขึ้นอยู่กับดุลพินิจ จึงแทบไม่พบว่าใครร่ำรวยผิดปกติเลย นอกจากนักการเมืองหน้าใหม่ที่โง่เขลา และมีทรัพย์สินไม่มาก ในขณะที่พวกมืออาชีพไม่สามารถตรวจสอบได้เลย นอกจากนั้น กระบวนการในการตรวจสอบยืดเยื้อ ไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้การคอร์รัปชั่นเต็มบ้านเต็มเมือง และยึดทรัพย์สินพวกขี้โกงได้น้อยมาก ที่สำคัญคือหลักกฎหมายที่ ป.ป.ช.ใช้ล้าสมัย คือกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ต้องแสวงหาหลักฐานเอง และ ป.ป.ช. ต้องพิสูจน์ถึงความร่ำรวยผิดปกติ ในขณะที่หลักกฎหมายสมัยใหม่นั้นได้เปลี่ยนหลักการนี้ไปแล้ว แต่ไม่มีใครยอมแก้ไข นั่นคือต้องเปลี่ยนเป็นหลักการที่ว่า ผู้ใดครองข้อมูล ผู้นั้นต้องพิสูจน์ ดังเช่นที่บัญญัติในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายว่าด้วยศุลกากร เป็นต้น
นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่า คสช. จึงควรถือโอกาสนี้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ด้วยการออกประกาศปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีหลักการดังนี้คือ
1. ให้ยกเลิกบทบัญญัติอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
2. เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่ร่ำรวยผิดปกติ ให้ ป.ป.ช. อายัดหรือยึดทรัพย์สินของผู้นั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะถือกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองโดยตนเอง หรือโดยบุคคลอื่น
“ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า มีทรัพย์สินมากกว่าจำนวนเงินได้ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี 15 ปี ก่อนดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยไม่หักรายจ่ายหรือค่าใช้จ่าย
ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่มีทะเบียน หรือทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากหรือตราสาร ให้ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัด และให้ผู้ครอบครองหลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ หรือหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าของแก่ ป.ป.ช. ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง
ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ให้ ป.ป.ช. ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ไว้เป็นการชั่วคราว ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
3. ให้ผู้ถูกอายัดหรือยึดทรัพย์สินมีภาระการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ หรือได้มาก่อนการดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต้องพิสูจน์ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันถูกอายัด ถ้าพิสูจน์ไม่ได้หรือไม่พิสูจน์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดดังกล่าว ให้ทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่ผู้ถูกอายัดหรือยึดทรัพย์สินพิสูจน์ตามวรรคแรก จะต้องพิสูจน์ด้วยว่าเงินหรือรายได้ที่ได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดนั้น ได้เสียภาษีอากรถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ ถ้าเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้จัดเก็บค่าภาษีอากรค้างนั้นนำส่งกรมสรรพากร และถ้ามีเงินเหลือเท่าใด ก็ให้คืนแก่ผู้ถูกยึดหรืออายัดนั้น
4. เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะแจ้งเบาะแสทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อ ป.ป.ช. ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียน หรือมีทะเบียน แต่ถือในนามของผู้อื่นและสามารถยึดเป็นของแผ่นดิน ให้จ่ายค่าสินบนแก่ผู้แจ้งเบาะแสนั้นในอัตราร้อยละ 20 และให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ผู้แจ้งเบาะแส
5. ให้ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการในการพิสูจน์ทรัพย์สินตามประกาศนี้ จำนวน 5 คน ประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ร่วมเป็นกรรมการ และเมื่อผู้ถูกยึดหรืออายัดได้พิสูจน์การได้มาซึ่งทรัพย์สินแล้ว ให้อนุกรรมการดังกล่าวสรุปรายงานต่อ ป.ป.ช. ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นมีทรัพย์สินที่ต้องยึดหรืออายัดเป็นจำนวนเท่าใด มีเงินได้ในระยะเวลา 15 ปีย้อนหลังเป็นจำนวนเท่าใด และพิสูจน์การได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินอย่างไร ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเท่าใด และต้องคืนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเท่าใด เมื่อ ป.ป.ช. เห็นชอบรายงานนั้นแล้ว ให้เป็นอันเสร็จสำนวน
6. ทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินตามประกาศนี้
6.1 ในกรณีเป็นเงินสด ให้ถือเป็นรายได้แผ่นดินและให้นำเข้าฝากในบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 1
6.2 ในกรณีเป็นสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินประเภทที่สูญหายหรือเสียหายได้ง่าย ให้กรมบังคับคดีดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และนำเงินรายได้จากการขายส่งคลังตาม 6.1
6.3 ในกรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นสังหาริมทรัพย์
ประเภทมีทะเบียน ให้กรมบังคับคดีประมูลขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และนำเงินที่ได้จากการขายส่งคลังตาม 6.1 โดยอนุโลม
7. ในกรณีที่จะต้องจ่ายเงินสินบนตามประกาศนี้ ให้จ่ายจากรายได้แผ่นดิน จากบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 1
นายไพศาล พืชมงคล กล่าวว่าถ้า คสช. ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของกฎหมาย ก็จะทำให้ ป.ป.ช. มีขีดความสามารถและมีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และจะมีผลต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างแน่นอน.

ไม่มีความคิดเห็น: