PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทิศทางสื่อ'เซ็นเซอร์'ตัวเอง

โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนา "1 เดือน คสช.เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ"เมื่อวันที่22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเชิญภาคส่วนต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจและจำกัดการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนมาแล้วครบ1 เดือน
สุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ระบุว่า สังคมกำลังต้องการเห็นสื่อทั้งหมดปฏิรูป ทบทวนบทบาทของตัวเอง ว่าได้ทำหน้าที่ในบทบาทที่ผ่านมาอย่างไร ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าช่องทีวีดิจิทัลจะปรับรายการที่มีเนื้อหาสร้างความขัดแย้งออกเกิดระบบเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความอยู่รอดซึ่งหากคสช.เป็นห่วงเรื่องสร้างกระแสควรบอกหรือเตือนว่ารายการไหน เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนตัวพิธีกรหรือยกทั้งรายการ รับรองได้ว่านาทีนี้ ไม่มีช่องไหนดื้อ
"ที่ผ่านมาเราไม่ได้อยู่กันดีๆ สื่อแบ่งข้างชัดเจนปลุกคนให้เห็นด้วยกับฝ่ายตัวเองแล้วชิงชังอีกฝ่าย พอ คสช.แตะเบรกให้หยุด คนจำนวนไม่น้อยก็เห็นด้วยว่าดีแล้วแวดวงเราก็ต้องถามตัวเองจะปฏิรูปอย่างไร" สุภาพ กล่าว
เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ได้จริงจังในการจัดการกับทีวีการเมือง ทั้งที่กลุ่มวิชาชีพสื่อได้เรียกร้องในเรื่องนี้มาโดยตลอดหลังจากนี้เมื่อกลับไปเป็นสังคมประชาธิปไตยก็ต้องตั้งคำถามว่าแล้วพรรคการเมืองมีอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจนหรือยัง ไม่ใช่เป็นแบบการเมืองที่ใช้การตลาดขับเคลื่อนแบบที่เคยเป็น ปัญหาการใช้สื่อเป็นเครื่องมือจะกลับมาอีก
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเช่นกันว่า กสทช.จัดระเบียบสื่อโทรทัศน์ยังไม่ดีพอที่ผ่านมายังมีสื่อประเภททำให้เกิดความขัดแย้ง แต่กลับเพิกเฉยจน คสช.เข้ามาจัดการ ขณะที่บทบาทของสมาคมนักข่าวและสภาการนักสื่อพิมพ์ฯก็ยังเป็นแค่เสือกระดาษ มีแค่แถลงการณ์ตอบโต้ สื่อมวลชนบางส่วนถูกใช้เป็นกระบอกเสียงในการรบกับฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อของรัฐที่ไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้กับอีกฝ่าย จึงทำให้คนที่ไม่มีพื้นที่ต้องไปออกหาพื้นที่ให้ตัวเอง ส่งผลให้ข้อมูลที่ถูกแพร่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างสงครามจิตวิทยา
ฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่ากสทช.จะทำทุกอย่างให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้เปิดออกอากาศอย่างเต็มที่ โดยใน 1-2 วันนี้ คสช.อาจมีการออกคำสั่งให้วิทยุชุมชนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกลับมาออกอากาศได้ ส่วนสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น กสทช.ยังเดินหน้าให้ข้อมูลกับ คสช. เพื่อให้สถานีที่ยังถูกปิดออกอากาศได้ แต่สถานีโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นช่องเอเชียอัพเดท เอเอสทีวี และบลูสกายต้องมีการพิจารณาอย่างระมัดระวัง
พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า กฎหมายควบคุมสื่ออยากให้เพิ่มในเรื่องพหุนิยมในสื่อที่พุ่งเป้าว่าทำอย่างไรให้ความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ และสร้างพื้นที่สาธารณะที่แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันได้ แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกัน ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและมีข้อสรุป พร้อมกันนี้ สื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความหลากหลายของคนในสังคม
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญอยากให้ครอบคลุมถึงข้อบังคับในการนำเสนอในเรื่องHate Speech เช่น ความคิดเห็นทางการเมือง มีการยั่วยุให้เกลียดชัง แต่จะต้องทำให้ชัดเจนและไม่ก้าวล่วงเสรีภาพการแสดงความเห็น

ไม่มีความคิดเห็น: