PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

แถลงปิดคดีถอดถอน นิคม-สมศักดิ์

แถลงปิดคดี นิคม สมศักดิ์

21/1/58

ไร้เงา 'สมศักดิ์' แถลงปิดคดี 'วิชา' ยันส่อขัด รธน.ไม่เป็นกลาง ด้าน 'นิคม' ชี้ทำหน้าที่โดยสุจริต ซัดกลุ่ม 40 ส.ว.ตั้งคำถามชี้นำ สนช.นัดโหวต 'ถอดถอน' 23 ม.ค. 
 
                            21 ม.ค. 58  เมื่อเวลา 10.20 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 โดยเป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ผู้ถูกกล่าวหา ตามข้อบังคับที่ 156 วรรคสอง
 
                            จากนั้นเข้าสู่การแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า ป.ป.ช.อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2542 โดยสมบูรณ์ แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะสิ้นสุดลงก็ตาม แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกเว้นองค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ป.ป.ช.จึงสมารถทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริง และส่งเรื่องถอดถอนมายัง สนช. ที่ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา เพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า ป.ป.ช.ละเลยต่อเอกสิทธิ์ของสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติมาตรา 130 หรือไม่นั้น การอ้างเอกสิทธิ์ดังกล่าวต้องมิใช่เพื่อทำลายหลักการอื่นตามรัฐธรรมนูญ และจะต้องใช้เอกสิทธิ์อยู่ภายใต้มาตรา 6 ที่บัญญัติว่ารัฐธรรมนูญเป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่รองประธานรัฐสภาของผู้ถูกกล่าวหา ที่ต้องกระทำตามมาตรา 113 ในเรื่องของการปฏิญาณตนก่อนการเข้ารับหน้าที่ในรัฐสภาด้วย
 
                            นายวิชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกการกระทำของนายนิคม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเมือง การปกครองอย่างรุนแรง เพราะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายนิคม และออกมาต่อต้านจำนวนมาก การที่นายนิคม เป็นประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภาจะต้องวางตัวเป็นกลางในการทำหน้าที่ ปราศจากอคติ แต่จากข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. วาระ 2 ในหลายมาตรา ที่นายนิคม ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมกลับจงใจใช้เสียงข้างมากในที่ประชุม เพื่อปิดการอภิปรายตามที่มีสมาชิกรัฐสภาร้องขอ ทั้งที่ยังเหลือสมาชิกอีกหลายคนที่รอการอภิปรายอยู่ ถือเป็นการทำผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะขณะนั้นยังมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และคณะกรรมาธิการฯ รออภิปรายอีกจำนวนมาก
 
                            "การทำหน้าที่ของนายนิคม ที่สั่งปิดอภิปรายจึงเป็นการตัดสิทธิของผู้ขอแปรญัตติ ถือว่าใช้อำนาจในทางมิชอบ เอื้อประโยชน์ฝ่ายข้างมาก โดยไม่เป็นธรรม และเป็นการทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางที่หน่วยงานอื่นต้องถือปฏิบัติตาม ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังนั้นผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมต้องมีความรอบคอบ หากเห็นว่า ญัตติที่เสนอไม่ถูกต้อง ย่อมมีวิธีการดำเนินการอย่างอื่นได้หลายวิธี เช่น การพักประชุม การขอให้ถอนญัตติ ข้ออ้างที่นายนิคมกล่าวอ้าง จึงรับฟังไม่ได้ การกระทำของนายนิคมจึงส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง"
 
                            จากนั้นนายนิคม กล่าวแถลงปิดคดีว่า กรณีการสั่งปิดอภิปรายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ในมาตราต่างๆ นั้น เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ใช้เวลาถึง 61 ชั่วโมง โดย 54 ชั่วโมงเป็นการประท้วงวุ่นวายเพื่อให้เสียเวลา ใช้เวลาอภิปรายจริงๆ แค่ 7 ชั่วโมง ทำให้ต้องควบคุมการประชุมอย่างเคร่งครัด ซึ่งตนก็ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแค่มาตรา 5 / 6 / 7 / 11 และ 11/1 เท่านั้น และการที่บอกว่าให้พักการประชุมเพื่อแก้ปัญหานั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะที่ประชุมไม่เคยเคารพมติวิป 3 ฝ่าย ส่วนที่กล่าวหา ว่า ตนสั่งปิดอภิปรายนั้น ต้องดูเจตนาของผู้แปรญัตติในแต่ละมาตราว่า เจตนาต้องการสร้างความวุ่นวาย เช่น การแปรญัตติให้ตัดชื่อร่างกฎหมายทิ้ง การไม่ให้กำหนดวันประกาศใช้ และคำแปรญัตติหลายข้อขัดต่อหลักการและเหตุผล ซึ่งที่ประชุมก็มีมติไม่ให้อภิปราย แต่ตนก็เปิดโอกาสให้อภิปรายได้ ขณะเดียวกันยังมีการเสนอชื่อผู้ขออภิปรายเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
 
                            นายนิคม กล่าวว่า ยืนยันว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เพื่อควบคุมและดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ส่วนการตั้งคำถามของสมาชิกนั้น โดยทั่วไปต้องนำคำถามให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาก่อนว่า อยู่นอกประเด็น ชี้นำหรือไม่ รวมถึงแจ้งให้คู่กรณีทราบคำถามล่วงหน้า แต่กลับยกเว้นข้อบังคับและมีการขยายเวลาในการส่งคำถาม ซึ่งมีอย่างน้อย 5 คำถาม ที่เป็นการชี้นำว่า ตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการลงสมัคร ส.ว. ถือเป็นการสร้างจินตนาการล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่ทราบว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จหรือไม่ และตนจะลงสมัคร ส.ว.หรือไม่  ซึ่งตนทราบว่า สนช.ที่ตั้งถามดังกล่าวมา เป็นบางคนที่อยู่ในกลุ่มอดีต 40 ส.ว. ซึ่งตนเคยร้องขอไม่ให้อดีต 16 ส.ว.ที่ขณะนี้เป็น สนช.อยู่เข้าร่วมการพิจารณาถอดถอนในคราวนี้ไปแล้ว เพราะเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต เพราะเกรงว่าจะมีคำถามที่นอกประเด็น และก็เป็นจริงตามคาด เพราะมี 3 คนที่ตั้งคำถามเช่นนี้ ขอยืนยันว่า ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ข้อกล่าวหาของตนถือว่า อ่อนที่สุดในคดีถอดถอนทั้ง 3 คดี และตนได้ส่งบันทึกการประชุมทั้งเทปและเอกสารเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงให้ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.กลับไม่เชื่อ ไปเชื่อแต่ผู้กล่าวหา ดังนั้นตนจำเป็นต้องมาชี้แจง สนช.เองเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีขององค์กร ของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อไม่ให้องค์กรอื่นก้าวล่วง ซึ่งมติจะออกมาเป็นอย่างไรก็ได้ ตนพร้อมน้อมรับ เพราะ สนช.มีอำนาจ แต่ตนต้องมาบอกความจริงให้ท่านรับทราบและขอความเป็นธรรม
 
                            นายนิคม กล่าวว่า ส่วนการกล่าวหาตนในตำแหน่งรองประธานรัฐสภาว่า ใช้อำนาจตามอำเภอใจและไม่สามารถใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 130 วรรค 2 ที่ ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาไม่ให้ถูกฟ้องร้อง แม้ตนเป็นรองประธานรัฐสภา แต่ก็มีฐานะสมาชิกรัฐสภาก็ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นกัน ในขณะที่ตำแหน่งประธาน หรือรองประธานรัฐสภา รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้การคุ้มครอง แต่ ป.ป.ช.ฟ้องถอดถอนตนในตำแหน่งรองประธานรัฐสภา
 
                            นายนิคม กล่าวว่า หลังจากรัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดลง ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการไต่สวนคดีของตน เห็นได้จากศาลรัฐธรรมนูญได้จำหน่ายคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาถึง 6 คดี รวมทั้งการที่ ป.ป.ช.อ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เกี่ยวกับการยึดทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ประจำสำนักรัฐมนตรี เพื่อนำมาเทียบเคียงในการพิจารณาคดีของตนนั้น ยืนยันว่า ไม่สามารถนำคดีดังกล่าวมาเทียบเคียงกันได้ เพราะมีองค์ประกอบแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กรณีดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหา ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว อีกทั้งอยากฝากให้ สนช.พิจารณาข้อสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า จะยังมีอำนาจหน้าที่อยู่หรือไม่ เพราะ ป.ป.ช.มาจากการแต่งตั้งตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.และเมื่อรัฐธธรรมนูญฉบับปี 2550 บังคับใช้ ซึ่งมาตรา 309 ได้รับรองประกาศของการกระทำใดๆ ของ คปค. แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิก ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วย เพราะขณะนี้ไม่เหลือกฎหมายใดที่จะร้องรับประกาศ คปค.แต่อย่างใด 
 
                            "ผมจะไม่ยุ่งการเมืองอีกแล้ว เพราะ 1 - 2 ปีที่ผ่านมา เป็นการทุกข์ยากที่สุดในชีวิต ไม่เคยถูกใครด่า กลายเป็นคนเลว และไม่เคยได้ชี้แจง ซึ่งคนจะเลวหรือดี อยู่ที่กระทำ"
 
                            ทั้งนี้หลังจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแถลงปิดคดีด้วยวาจาเสร็จแล้ว นายพรเพชร แจ้งที่ประชุมว่า ภายหลังการแถลงปิดคดีแล้ว ตามข้อบังคับการประชุมต้องมีการลงมติถอดถอน หรือไม่ถอดถอน ภายใน  3 วัน ซึ่งตนได้หารือกับคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) จึงขอนัดประชุมเพื่อลงมติในวันที่ 23 ม.ค.
 
 
 
ไร้เงา 'สมศักดิ์' แถลงปิดคดีถอดถอน
 
 
                            นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมได้ดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 โดยเป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และนายสมศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา ตามข้อบังคับที่ 156 วรรคสองกล่าวว่า การแถลงปิดสำนวนคดีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ส่งหนังสือขอแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา และไม่ได้เดินทางมาแถลงปิดสำนวน จึงถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ขอแถลงปิดสำนวน ดังนั้นการแถลงปิดสำนวนคดีดังกล่าว จึงเป็นการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาเพียงฝ่ายเดียวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
 
                            จากนั้น นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงการทำหน้าที่ในการส่งคดีเพื่อร้องขอถอดถอนนายสมศักดิ์ ว่า ยืนยันอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการพิจารณา ตามคำร้องที่ขอถอดถอน ซึ่งระบุชัดเจนว่านอกเหนือจากกรณีของการมีพฤติการณ์ส่อขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่าการทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการกระบวนการไต่สวนตามหลักการไต่สวน
 
                            นายวิชา กล่าวว่า ในฐานะที่นายสมศักดิ์ เป็นประธานรัฐสภา ซึ่งตามกฎหมาย ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาต้องตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากพบว่ามีข้อไม่ถูกต้องให้ประธานฯ ดำเนินการแก้ไข แต่กลับไม่มีการแก้ไขแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องอย่างร้ายแรงของนายสมศักดิ์ ที่ละเว้นไม่ตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความรอบคอบ แต่กลับมีคำสั่งลงนามอนุญาตให้บรรจุวาระการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 1 เม.ย. 56 เพื่อนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่ใช่ฉบับที่มีการนำเสนอแต่แรก อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการแก้ไขข้อความให้มีหลักการแตกต่างจากร่างเดิม มีผลทำให้อดีต ส.ว.ที่จะสิ้นสุดสมาชิกภาพลง สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้นเวลา 2 ปี
 
                            นายวิชา กล่าวว่า การแก้ไขดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขในหลักการสำคัญ แต่กลับทำเหมือนแก้ไขข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย ไม่แยแส โดยไม่เปิดให้ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติในร่างเดิมได้รับทราบว่ามีการแก้ไขหลักการใหม่ แม้นายสมศักดิ์ จะอ้างว่า ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วยืนยันว่าทำได้ แต่ข้ออ้างดังกล่าวรับฟังไมได้ เพราะหน้าที่ของประธานรัฐสภา หากเห็นว่ามีข้อบกพร่องในร่างแก้ไขต้องให้ผู้เสนอญัตติแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ของสำนักการประชุมรัฐสภา ที่ให้การว่านายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขฉบับใหม่ ได้ประสานให้ผู้ช่วยนำร่างแก้ไขฉบับใหม่มาเปลี่ยนทั้งฉบับ โดยใช้ลายมือชื่อของผู้เสนอญัตติในร่างฉบับเดิม มิได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อใหม่ ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอย่างชัดเจน 
 
                            นายวิชา กล่าวว่า ส่วนการกำหนดวันแปรญัตติที่นายสมศักดิ์ ยืนยันว่าถูกต้องนั้น เห็นว่าการตีความของนายสมศักดิ์ เป็นการตีความแบบย้อนหลังตามอำเภอใจ ขัดต่อหลักนิติธรรม และการตีความโดยหลักกฎหมายสากลต้องตีความให้มีผลบังคับใช้ได้ มิใช่เป็นการตีความให้สิ้นผลใช้บังคับ และต้องมิให้เกิดผลประหลาด การที่นายสมศักดิ์ ตีความให้แปรญัตติย้อนหลังถือเป็นการตีความประหลาด 
 
                            "ถึงปลายทางของการไต่สวนกระบวนการที่ ป.ป.ช.ได้กระทำตามภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งตนถือว่าเป็นภารกิจที่มีเกียรติสูงสุด เรามีความภูมิใจอย่างยิ่งที่จะได้สร้างมิติใหม่ของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางหลักคุณธรรม และจริยธรรมทางการเมือง ที่ผ่านมาเราไม่สามารถวางแนวทางปฏิรูปประเทศได้ เพราะระบบไต่สวนคุณธรรม จริยธรรม ยังไม่สามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น ซึ่งกระบวนการถอดถอนที่เป็นที่ยอมรับถือได้ว่าเป็นหลักที่ใช้ในการปฏิรูปประเทศได้"
 
                            จากนั้น นายสุรชัย ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่าหลังจากผู้ถูกกล่าวหาคือนายสมศักดิ์ ไม่ขอส่งสำนวนแถลงปิดคดีด้วยวาจา จึงถือว่าการแถลงปิดคดีเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงขอนัดสมาชิกลงมติถอดถอนนายสมศักดิ์ ในวันที่ 23 ม.ค.นี้

ไม่มีความคิดเห็น: