PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ทัวร์ช็อก!! พิษICAO ทุบอินบาวนด์1.4 ล้านล้านสะเทือน

23/4/58 ประชาชาติธุรกิจ 


ภาคท่องเที่ยวฟันธงกฎเหล็ก ICAO ทุบตลาดทัวร์อินบาวนด์ 1.4 ล้านล้านสะเทือน "ศุภฤกษ์ ศูรางกูร"นายก ส.ไทยบริการท่องเที่ยวเผยบริษัททัวร์เริ่มหันไปใช้สายการบินต่างชาติ วอนรัฐเร่งสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่น ขณะที่ "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รมว.ท่องเที่ยวฯ แนะเอกชนเร่งทำแผนสำรองกันเสี่ยง ฟากสายการบินดิ้นช่วยเหลือตัวเอง

จากแถลงการณ์ถึงแผนปลดล็อก SSC องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมานั้นค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กระบวนการการดำเนินงานแผนของไทยลากยาวไปถึงเดือนกรกฎาคม ขณะที่กรอบเวลาที่ทางไอซีเอโอขีดเส้นตาย ถึงแค่ต้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น 

ประเด็นดังกล่าวนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบลามจากสายการบินรูปแบบเช่าเหมาลำหรือชาร์เตอร์ไฟลต์ไปถึงสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินประจำ

นายศุภฤกษ์ ศูรางกูร กรรมการผู้จัดการบริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด และนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้ทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งทำแผนปลดล็อกการบินให้เสร็จทันเดือนมิถุนายนนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าโอกาสที่จะทำเสร็จทันนั้นไม่ง่าย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร

อินบาวนด์ 1.4 ล้านล้านสะเทือน

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตานับจากนี้คือ ตลาดทัวร์อินบาวนด์ (ต่างชาติเที่ยวไทย)ซึ่งมีขนาดใหญ่ โดยตั้งเป้าต่างชาติมาเที่ยวไทยปีนี้ไว้ที่ 28-29 ล้านคน สร้างรายได้ 1.4 ล้านล้านบาท หากเที่ยวบินประจำของสายการบินสัญชาติไทยได้รับผลกระทบเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเอฟเฟ็กต์แรงกว่าตลาดคนไทยเที่ยวนอก ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงคมนาคมของไทยต้องเร่งดำเนินคือ สื่อสารให้องค์การการบินพลเรือนของประเทศอื่น ๆ เกิดความเชื่อมั่นให้ได้ เพื่อให้สายการบินสัญชาติไทยยังให้บริการเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟลต์) ต่อไปได้

สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงในภาคธุรกิจสายการบินรายหนึ่งที่กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือทุกฝ่ายประเมินว่าถ้าเลยเดือนมิถุนายนนี้ไปแล้ว ทางกระทรวงยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะส่งผลกระทบต่อการจองแพ็กเกจทัวร์ที่ใช้เที่ยวบินประจำของสายการบินสัญชาติไทยแน่นอน 

"สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาคธุรกิจไม่เชื่อมั่นในตอนนี้คือ รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ได้สื่อสารเลยว่าหากไทยไม่สามารถปลดล็อกปัญหานี้ได้ ทางรัฐบาลมีแผนรองรับอย่างไร เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่ตั้งเป้าทำรายได้จากตลาดอินบาวนด์ปีนี้ไว้สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทได้รับผลกระทบ"

เช่นเดียวกับนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร ที่ปรึกษานายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) ที่ยอมรับว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบแค่ตลาดเอาต์บาวนด์ แต่ยังกระทบถึงตลาดอินบาวนด์ ตอนนี้สายการบินสัญชาติไทยก็กำลังร่วมมือกับทางกรมการบินพลเรือน (บพ.) เร่งแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่องค์การการบินพลเรือนของแต่ละประเทศและบริษัททัวร์

ด้านนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากไทยปลดล็อกไม่ทันกำหนด สทท.คาดว่าจะส่งผลกระทบลามถึงเที่ยวบินประจำของสายการบินสัญชาติไทย 3 สายการบินหลัก ๆ ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์สและไทย แอร์เอเชีย ที่ทำการตลาดขายตั๋วบินตลาดต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงแน่นอน 

"คาดว่า 3-4 สายการบินสัญชาติไทยที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบ 10-20% เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกังวลใจ ไม่กล้าจอง ส่งผลต่อเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวในส่วนของตลาดต่างชาติซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทปีนี้"

บ.ทัวร์เล็งใช้แอร์ไลน์สัญชาติอื่น

นายศุภฤกษ์กล่าวด้วยว่า สำหรับบริษัททัวร์ไม่ค่อยมั่นใจว่ากระทรวงคมนาคมและ บพ.จะปลดล็อกปัญหานี้ได้ทัน และหากเลยไปถึงเดือนกรกฎาคมมองว่าปัญหามีโอกาสลามไปถึงเที่ยวบินประจำได้ จึงได้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้สายการบินสัญชาติไทยมากขึ้น พร้อมทั้งหันไปใช้บริการสายการบินสัญชาติอื่นด้วย โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ที่เซนซิทีฟ ไม่อยากให้มีการยกเลิกเที่ยวบิน 

"ตอนนี้บริษัททัวร์ในไทยบางส่วนที่จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้านาน ได้ติดต่อขอซื้อที่นั่งกับสายการบินต่างชาติแล้ว เพื่อกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ด้านบริษัททัวร์ในต่างประเทศ แทนที่เขาจะเลือกใช้บริการเที่ยวบินประจำของสายการบินในไทย ก็เลือกใช้ของสายการบินต่างชาติแทน ทำให้เสียโอกาสมาก ๆ" นายศุภฤกษ์กล่าว และว่าภาพลักษณ์ของธุรกิจการบินในไทยตอนนี้ได้รับผลกระทบหนักมาก โอเปอเรเตอร์ทัวร์ในต่างประเทศก็ไม่มั่นใจคุณภาพ ทำให้เปลี่ยนไปใช้สายการบินสัญชาติอื่นแทนสายการบินของไทยแล้ว

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าทีมงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง ทางกระทรวงก็ได้คุยกับภาคเอกชนให้มองหาทางเลือกใหม่ ๆ ไว้ด้วย เพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในภาพรวมไม่มีปัญหา 

สายการบินดิ้นช่วยเหลือตัวเอง

นายชัยรัตน์ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ สายการบินเจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ผู้ให้บริการสายการบินต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือกับ บพ.ในทุกรูปแบบ เพื่อช่วยกันดำเนินการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จและผ่านเกณฑ์ของไอซีเอโอ อย่างไรก็ตาม สายการบินต่าง ๆ ก็ไม่ได้รอความหวังจากฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว ขณะนี้สายการบินทุกแห่งได้กลับมาดูเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยของตัวเองควบคู่ไปด้วย เพราะเชื่อว่าหากสายการบินมีมาตรฐานก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ 

"เรายังมีความหวังเพราะมาตรฐานของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมากรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่นก็ยังอะลุ่มอล่วย ขณะที่กรมการบินพลเรือนของจีนก็ไม่ค่อยกังวลกับเกณฑ์ของไอซีเอโอมากนัก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือทุกสายการบินต้องทำให้ตัวเองมีมาตรฐาน" นายชัยรัตน์กล่าว 

แหล่งข่าวจากธุรกิจสายการบินรายหนึ่งกล่าวเสริมว่า ถ้าทางรัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาไม่ทันกรอบเวลาของไอซีเอโอ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างมหาศาล ดังนั้นในฟากกลุ่มผู้ประกอบการสายการบินด้วยกันเองนอกจากจะกลับไปทบทวนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของตัวเองแล้ว ยังต้องเตรียมประสานงานกับคู่ค้าในแต่ละประเทศ เพื่อให้คู่ค้าเกิดความมั่นใจและยังเชื่อมั่นในมาตรฐานการบินของประเทศไทยและยังใช้บริการต่อไป

"ในกรณีที่ไอซีเอโอประเมินผลแล้ว เขาจะอัพข้อมูลขึ้นบนเว็บ ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ กรมการบินพลเรือนแต่ละประเทศก็จะเห็นว่าเกณฑ์ของประเทศไทยอยู่ในระดับไหนและอยู่ที่การพิจารณาของกรมการบินในแต่ละประเทศว่าจะมีมาตรการกับสายการบินของไทยอย่างไรต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: