PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

"มาสเตอร์โพล" สำรวจแกนนำชุมชนหนุนทำประชามติร่าง รธน. มีผลดีมากกว่าเสีย มั่นใจ "คสช."คุมประชามติได้โปร่งใส


ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล เรื่องความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการทำประชามติ โดยสำรวจความเห็นจากแกนนำชุมชน 19 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,080 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 94.7 เห็นด้วยกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศในตอนนี้ มีเพียงร้อยละ 5.3 ระบุไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็นวิตกกังวลต่อผลกระทบจากการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญนั้น พบว่าร้อยละ 48.1ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 51.9 ระบุไม่เห็นด้วย

สำหรับข้อเรียกร้องให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผลสำรวจพบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 55.4 ระบุเห็นด้วย เพราะยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน ประชาชนรากหญ้าจะได้มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแท้จริง คิดว่าการทำประชามติก่อนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตได้ อยากให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนทุกฝ่ายยอมรับได้จริงๆ มีเพียงร้อยละ 39.4 ไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอีก เชื่อมั่นในการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีมากกว่าอย่างอื่น คิดว่าการออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้มีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่น ๆ

ทั้งนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 79.2 เชื่อว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากประชาชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ได้ความคิดเห็นที่หลากหลายไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์มากที่สุด และเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถควบคุมการทำประชามติให้โปร่งใสและเป็นธรรมได้ ทำตอนนี้ ดีกว่าทำหลังเลือกตั้ง อาจจะวุ่นวายมากกว่านี้ ในขณะที่ร้อยละ 9.7 ระบุมีผลเสียมากกว่า เพราะอาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก ไม่แน่ใจในความโปร่งใสของการทำประชามติ เกรงว่าจะยืดเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก อาจทำให้เกิดการแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีก เกรงว่ารัฐบาลจะคุมสถานการณ์ไม่อยู่ บ้านเมืองเพิ่งจะเริ่มสงบ จึงไม่อยากให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมาอีก

สำหรับหน่วยงานที่เห็นว่าควรให้เป็นเจ้าภาพในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ร้อยละ 42.6 ระบุคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รองลงมาร้อยละ 14.7 ระบุรัฐบาล และร้อยละ 14.7 เป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งนี้เมื่อถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยและประกาศใช้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่นั้น พบว่าแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.3 ระบุยอมรับได้ โดยให้เหตุผลว่าอยากให้บ้านเมืองเรียบร้อยและพร้อมจริงๆ ก่อนที่จะเลือกตั้งใหม่ อยากให้บ้านเมืองเข้าที่เข้าทางก่อน การเลือกตั้งจะได้ไม่มีปัญหา ไม่เกิดความขัดแย้งอีก และเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด มีเพียงร้อยละ 2.5 ระบุยอมรับไม่ได้ เพราะอยากได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ เลือกตั้งแล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ เกรงว่าจะใช้เวลานานเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น: