PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ในห้องพิจารณาคดีนักศึกษา

- เรื่องเล่าจากมิตรสหายท่านหนึ่ง
‪#‎ในห้องพิจารณาคดีคืนนั้น‬
เด็กหนวดหัวดื้อ ที่ชื่อ ไผ่ ลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาลอย่างเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาทำนั้น คือ การแสดงความเห็นโดยสุจริต
เนื่องจากเขาแถลงต่อจากโรม ซึ่งได้แถลงเกี่ยวกับกฎหมายแล้ว ไผ่จึงได้กล่าวเสริมในประเด็นที่เขาต้องการจะสื่อถึงศาล ตั้งแต่วันที่เขาตัดสินใจกระทำในสิ่งที่คนขลาดกลัวในวันที่ 22 พค ที่ผ่านมา นั่นคือ "ปัญหาของชาวบ้าน" ในพื้นที่ๆเขาทุ่มเทเวลาหลายปีเข้าไปเรียนรู้ในฐานะของ "กลุ่มนักศึกษาดาวดิน"
ไผ่ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเหมือง เรื่องปิโตรเลียมและทรัพยากรของชาวบ้านนั้น เกี่ยวพันกับการรัฐประหาร เพราะการรัฐประหาร ได้สร้างความเสียหายถึงพื้นที่ๆตัวเขานั้นทำงานอยู่
"เพราะรัฐประหาร ชาวบ้านจึงไม่สามารถออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเ องได้อย่างที่ควรจะเป็น
เพราะรัฐประหาร การอนุมัติสัมปทานต่างๆทำได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่มีใครขัดขวาง
เพราะการรัฐประหาร เสียงชองชาวบ้านในพื้นที่เบาบางจนแทบจะไม่มีใครได้ยิน ฯลฯ"
เด็กหนวดหัวดื้อคนนี้ กล่าวด้วยสายตามุ่งมั่น น้ำเสียงที่มีพลัง เขาได้ยืนยันในสิ่งที่เขาเชื่อและศรัทธา เป็นการแถลงในศาลที่ทรงคุณค่า
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เขาพูดในคืนนั้น ได้ตบหน้านักสิทธิหลายท่านที่เคยกล่าวว่า "เรื่องปากท้องสำคัญกว่าการต้านรัฐประหาร"
เด็กหนวดหัวดื้อ เข้าใจประเด็นและกล้าหาญกว่ารุ่นพี่ที่ขลาดเขลา
ภูมิใจแทนชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ

ออกหมายจับหลาน! “เอก”ลุยคดีฆ่าโหดอัยการสุราษฎร์ม้วนเดียวจบ ชี้ปมมรณะ “ไม้ป่าเดียวกัน”

ออกหมายจับหลาน! “เอก”ลุยคดีฆ่าโหดอัยการสุราษฎร์ม้วนเดียวจบ ชี้ปมมรณะ “ไม้ป่าเดียวกัน”
Cr:ผู้จัดการ
ASTVผู้จัดการ- รองผบ.ตร.รักษาราชการแทนฯ บินด่วนเคลียร์คดีฆาตกรรมโหดอัยการจังหวัด ออกหมายจับแล้วหลานชายคนใก้ลชิด ตัดประเด็นหน้าที่การงาน คาดปมมรณะมาจากรสนิยม “ไม้ป่าเดียวกัน” ส่วนทรัพย์สินสร้อยทอง 10 บาท กับ เงินสดคนร้ายฉวยติดมือระหว่างหลบหนี เชื่อรวบตัวเร็ววันนี้
คดีฆาตกรรมโหดนายพยงค์ ดอกไม้หอม อายุ 54 ปี อัยการจังหวัดประจำกรม ปฏิบัติหน้าที่ประจำศาลแขวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้พบศพเมื่อตอนค่ำวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา นอนตายอยู่ในสภาพจมกองเลือดภายในบ้านพักอัยการ เลขที่ 150/259 หมู่บ้านอัยการ หมู่ 4 ถนนดอนนก ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พ.ต.ต.ศุภชัย ศรีสมโภช พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี เดินทางไปสอบสวนในเวลาต่อมา พบศพพบภายในห้องนอนชั้น 2 มีบาดแผลถูกตีด้วยของแข็ง และ มีรอยฟันตามใบหน้า-ร่างกายหลายแห่งใก้ลกับศพยังพบมีพร้าเปื้อนเลือดตกอยู่ 1 ด้ามจึงเก็บเป็นหลักฐาน ส่วนทรัพย์สินมีเงินสดจำนวนหนึ่งกับสร้อยคอทองคำหนัก 10 บาทของผู้ตายสูญหายไป ส่วนอาวุธปืนที่คิดว่าหายในตอนแรกพบภายหลังว่ายังอยู่ เบื้องต้นเชื่อว่าคนร้ายคือนายเจมส์ หลายชายที่เพิ่งเข้ามาพักอาศัยด้วยแต่หลังเกิดเหตุได้หายตัวไป
ต่อมาเมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 29 มิ.ย. 2558 ที่ห้องประชุม สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี พล.ต.ท.เดชา บุตรน้ำเพชร ผบช.ภ.8 ได้เรียกประชุมด่วนนายตำรวจที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าเนื่องจากเป็นคดีอุกอาจสะเทือนขวัญเกิดกับข้าราชการใช้ผู้ใหญ่โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง มีรายงานด้วยว่าช่วงบ่ายวันเดียวกันพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.รักษาราชการแทน ผบ.ตร.จะเดินทางมาร่วมสอบสวนติดตามความคืบหน้าคดีด้วยตนเอง
มีรายงานว่าทันทีที่คณะของรองผบ.ตร.รักษาราชการแทนฯเดินทางมาถึงได้รุดไปยังสถานที่เกิดเหตุเป็นอันดับแรกใช่เวลาประมาณ 30 นาทีจึงเสร็จสิ้นโดยพล.ต.อ.เอก ได้สั่งให้นำตัวอย่าง ดีเอ็นเอ.ของคนร้ายที่เก็บไว้รีบนำส่งห้องเล็บทันทีเพื่อออกหมายจับได้ทันท่วงทีคาดว่าคนร้ายคือนายนิวัฒน์ หรือเจมส์ จงสุข มีพื้นเพอยู่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และมีศักดิ์เป็นหลานชายของผู้ตาย หลังอำนวยการร่วมกับตำรวจพื้นที่แล้วคณะของรองผบ.ตร.จึงเดินทางกลับ
รายงานแจ้งว่าสำหรับสาเหตุนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตัดประเด็นหน้าที่การงานของนายพยงค์ ออกไปทั้งหมดเนื่องจากไม่มีน้ำหนักและยังไม่พบความขัดแย้งแต่น่าจะมาจากรสนิยมทางเพศของผู้ตายเนื่องจากก่อนเกิดเหตุเพียงวันเดียวนายไก่ หลานชายที่อยู่ด้วยประจำขออนุญาตเดินทางไปทำธุระที่ จ.นครศรีธรรมราช และให้นายนิวัฒน์ หรือเจมส์ จงสุข น้องชายซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานผู้ตายมาทำหน้าที่แทนก่อนลงมือทำร้ายนายพยงค์ จนเสียชีวิตและฉวยเอาทรัพย์สินติดมือไป คาดว่าจะสามารถจับกุมตัวได้ในเร็ววันนี้


slow life โลกสวย และ Gen Y

เพื่อนเก่ามาคุยเรื่อง slow life โลกสวย และ Gen Y หลังจากที่ศาสดานักเขียนคนดังออกตัวสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาต่อต้านรัฐประหาร

เขาเสนอความคิดว่า นี่คือการปลูกฝังอย่างแนบเนียนลงใน Gen Y เพื่อนำไปสู่การ "ปฏิวัติ" ด้วยการสอดแทรกเผยแพร่แนวคิด liberal ที่นำไปสู่ republic โดยที่คนไม่รู้ตัว

ปฏิวัติในที่นี้ คือ revolution ไม่ใช่รัฐประหาร (coup) หรือหากเรียกให้เก๋ไก๋อย่างท่านปรีดีก็คืออภิวัฒน์ ซึ่งเราเคยมีแค่ครั้งเดียวในปี 2475

พูดง่าย ๆ คือ เปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง

ผมก็เห็น slow life โลกสวยส่วนใหญ่นั้นมีแต่ Gen Y เหมือนกัน

คนเหล่านี้มักมองถ้วยกาแฟ ร้านกาแฟสไตล์ฝรั่ง MacBook iphone ฯลฯ เสมือนส่วนหนึ่งของชีวิต รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เป้ กระเป๋า ฯลฯ ก็มีสไตล์เฉพาะตน จุดเด่นสำคัญคือสามารถพรรณนาอะไรต่าง ๆ ได้มากมายกับภาพประกอบแค่ถ้วยกาแฟบนเฟสบุ๊กหรืออินสตาแกรม หรือแค่ภาพถ้วยกาแฟเฉย ๆ ก็รู้สึกว่า "ใช่" แล้ว

ผมไม่ใช่คนรุ่น Gen Y และไม่เคยใช้เวลานาน ๆ ในร้านกาแฟโดยที่รู้สึกว่าช้า ๆ สบาย ๆ แต่กลับมีแต่ความคิดแน่นหนาในเชิง realistic อยู่ในหัวทุกครั้ง ไม่เคยฝันหวานอะไรได้เกิน 5 นาที อีกทั้งร้านกาแฟสำหรับผมก็คือร้านกาแฟ ถ้วยกาแฟก็คือถ้วยกาแฟ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ก็คงเหมือนฝรั่งมองสตาร์บัคส์นั่นล่ะ สักแต่ว่าร้านกาแฟ

แต่ผมก็ยังมองว่า slow life โลกสวยก็เป็นวิถีชีวิตลักษณะหนึ่ง หรือเราอาจจะยกระดับเรียกว่าวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ก็ได้ ถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของความหลากหลาย ไม่ได้เสียหายอะไร และไม่น่ามีอะไรไปเชื่อมโยงกับการเมืองการปกครอง

สิ่งที่ผมไม่เข้าใจก็คือ slow life โลกสวยนั้นเชื่อมโยงไปถึง "ปฏิวัติ" ได้อย่างไร ?

ค้นไปค้นมาก็เห็นว่า บรรณาธิการนิตยสารแนวนี้บางคน ซึ่งแม้นักเขียนชื่อดังคนนี้ก็เขียนคอลัมน์ให้ รวมทั้งนักเขียนแนวนี้อีกหลายคน ก็เคยร่วมลงชื่อเรียกร้องยกเลิก 112

ผมไม่ได้หมายความว่า การเรียกร้องให้ยกเลิก 112 หมายถึง ไม่ต้องการสถาบันฯ หรือไม่รักในหลวง ผมคงไม่สรุปง่าย ๆ อย่างนั้น คนที่อ่านแล้วรู้สึกคัน ๆ ก็ยังไม่จำเป็นต้องมาโต้เกียงอะไรให้เมื่อยนิ้ว

ผมเพียงแค่เห็นว่า ศาสดา slow life โลกสวยบางคนก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับพวกต้องการยกเลิก 112 เท่านั้นเอง

"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"ปฎิเสธข่าวเบื้องหลังเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษา


Prev
1 of 1
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 28 มิ.ย. 2558 เวลา 13:28:34 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 28 มิถุนายน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thanathorn Juangroongruangkit ถึงกรณีที่มีการเผยข้อความระบุว่าตนเองเป็นผู้อยู่เบื้อหลังกลุ่มนักศึกษา ที่ออกเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ว่า

“ในช่วง ๒๔ ชั่วโมงที่ผ่านมา มีการกล่าวหาผมจากช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกันว่า ผมอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาต่อต้านเผด็จการในนามกลุ่ม ประชาธิปไตยใหม่เพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์

ถ้าเหตุเกิดลำพังเพียงโจมตีผมนั้น ผมคงไม่มีความประสงค์จะตอบโต้อันใด เนื่องด้วยการใส่ความอย่างมดเท็จนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกและหาได้ตั้งอยู่บน ความเป็นจริงไม่ หากแต่ครั้งนี้การใส่ความผมกระทบกระเทือนถึงกลุ่มนักศึกษาที่กำลังถามหา ประชาธิปไตยด้วยการเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญกับกลุ่มพลังอประชาธิปไตย ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมกับพวกเขาเท่าไหร่หากผมจะนิ่งเฉย

ผมขอชี้แจงสามข้อดังนี้ (๑) ผมไม่เคยเข้าร่วม/มีส่วนรู้เห็น หรือก่อการใดๆในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เลย, (๒) ผมไม่เคยข้องเกี่ยวหรือรับเงินจากคุณทักษิณเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง ใดๆ และ (๓) ผมไม่เคยยุ่งเกี่ยว/ชักจูงหรือมีอิทธิพลทางความคิดต่อกลุ่มนักศึกษาที่ เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ใดๆ เลย การกระทำของพวกเขาล้วนมาจากเจตจำนงค์อันแน่วแน่และเป็นอิสระของพวกเขาทั้ง สิ้น หากท่านใดมีหลักฐานเป็นอื่น ผมพร้อมเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมา

ใช่ ผมอยู่ที่หน้าสน. ปทุมวันในช่วงเย็นของวันที่ ๒๔ มิถุนายนจริง แต่ผมไปในฐานะที่ผมเชื่อว่าเป็นฐานะที่สำคัญที่สุดของผม ซึ่งมิใช่ในฐานะนายทุน แต่คือในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิและอิสระในความคิดความเชื่อของตนเอง ผมเชื่อว่าพวกเขากำลังทำในสิ่งซึ่งเป็นคุณต่อสังคมในระยะยาว ดังนั้นผมจึงไปให้กำลังใจเขาเมื่อพวกเขาเสี่ยงต่อการถูกจับกุมด้วย กฏหมายอธรรมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่พึงมีให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผมไม่มีส่วนในการกำหนดการเคลื่อนไหวของพวกเขาแม้เพียงน้อยและไม่มีความ ประสงค์จะทำเช่นนั้น และหากต่อให้ผมมีความประสงค์เช่นนั้นจริงก็คงจะล้มเหลว เพราะกลุ่มบุคคลที่มีหัวใจแข็งแกร่งปานหินผาเยี่ยงนั้น ย่อมไม่ให้ใคจจูงจมูกได้ง่าย หากสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อและศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ถูกพรากจากพวกเขาไปเพียงเพราะพวกเขามีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง จากผู้มีอำนาจจากการทำรัฐประหาร นั่นย่อมเสมือนสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผมถูกพรากไปเช่นกัน

ประชาธิปไตย!
สิทธิมนุษยชน!
ความยุติธรรม!
การมีส่วนร่วม!
สันติวิธี!
เผด็จการจงพินาศไป ประชาธิปไตยจงเจริญ”

มติเอกฉันท์ตั้ง"วีระพล ตั้งสุวรรณ"เป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่

ที่ประชุมกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม มีมติเอกฉันท์เลือกนายวีระพล ตั้งสุวรรณ เป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่ 

โดยนายวีระพล ตั้งสุวรรณ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ในพระบรมราชูปถัมภ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

จากนั้นเข้ารับราชการในศาลยุติธรรมมาโดยตลอด เคยเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดกระบี่, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพิจิตร, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1, เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแขวง, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, รองประธานศาลฎีกา นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการเนติบัณฑิตยสภา และกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

'บ้านเมืองยังไม่ปกติ 'วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เขียนถึง แมน ปกรณ์ 1ใน14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม

'บ้านเมืองยังไม่ปกติ 'วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เขียนถึง แมน ปกรณ์ 1ใน14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม



ผมเลิกเขียนเรื่องการเมืองมาสักพักแล้ว...

ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ผมเขียน ผมมีความตั้งใจเดียว นั่นคือพยายามทำให้คนเข้าใจกันมากขึ้น เห็นใจกันมากขึ้น ยอมรับในความแตกต่างของกันและกันได้มากขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าทุกความพยายาม จะนำมาแต่ผลตรงกันข้าม บทความการเมืองออนไลน์ของผม น้อยครั้งเหลือเกินที่จะเปลี่ยนความคิดอะไรของใครได้ ทำได้ก็เพียงแค่เรียกคนจำนวนมากที่มีความคิดในแบบของตนอยู่แล้ว มาระบายความเกลียดชังต่อกัน ด่าทอกัน ส่วนกับผู้เขียนอย่างผม ใครเห็นด้วยเขาก็ชม ใครไม่เห็นด้วยเขาก็ด่า ก็แค่นั้น

...เปล่าประโยชน์

แต่ในวันนี้ วันที่บ้านเมืองยังไม่ปกติดี ผมอยากจะขอลองดูอีกครั้ง...
——————-
บ้านเมืองยังไม่ปกติดี...
รูปทางซ้ายคือตัวผมเมื่อตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นกลุ่มนักกิจกรรมในธรรมศาสตร์ และอีกหลายๆมหาวิทยาลัย ได้รวมตัวกันทำกิจกรรมการเมืองมากมายในการต่อต้านเครือข่ายของอดีตนายกฯทักษิณ และคัดค้านพรรคพลังประชาชน ผมเองตอนปีสามปีสี่ก็ active มากๆในกิจกรรมนี้ พวกเราพยายามล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนคุณทักษิณ และพยายามรณรงค์ให้คนกางดออกเสียง (Vote No) ในการเลือกตั้ง

ตอนนั้นบ้านเรายังไม่มี Social Network และยังไม่เบื่อหน่ายกับม็อบและการชุมนุมเช่นในปัจจุบันมากนัก ผมจำได้ว่าตอนรณรงค์ Vote No พวกเรานักศึกษาหลายสิบคน ได้ไปเดินขบวนในพื้นที่สาธารณะหลายๆพื้นที่ เพื่อชักชวนประชาชนให้หันมาสนใจกิจกรรมของพวกเรา และก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากหลายๆคน และมีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ก็เดินเข้ามาคุยด้วย แลกเปลี่ยนกันด้วยดี แล้วก็แยกย้ายกันไป

ทำเสร็จเราก็กลับบ้าน ไปหาพ่อหาแม่ วันต่อมาเราก็ไปเรียนได้ตามปกติ

ไม่โดนจับ ไม่ต้องแบกรับความเกลียดชังของใคร

แค่ทำตามความเชื่อของตัวเอง

อีกภาพหนึ่งคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ที่นักศึกษา 14 คนที่มีส่วนร่วมในการในการทำกิจกรรมต้านรัฐประหารเมื่อวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดนจับกุมตัวไปตามหมายจับศาลทหาร ข้อหาขัดคำสั่ง คสช. และผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116

เมื่อคืนทั้ง 14 คนต้องนอนคุก และจะต้องถูกฝากขังทั้งสิ้น 12 วัน ในนั้น 13 คนเป็นผู้ชายและถูกส่งไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่มีน้องอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงที่ต้องถูกแยกไปขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงเพียงคนเดียว ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีในศาลทหารต่อไป และข้อหาที่พวกเขาถูกแจ้ง อาจจะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะต้องติดคุกถึง 7 ปี
เพราะเขายืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ พวกเขาจึงถูกด่าทอมากมายจากสังคม โดนกล่าวหาว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง (โดยไม่มีหลักฐานใดๆ)
เพราะเขาและเธอต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ น้องๆเหล่านี้กำลังจะสูญเสียอิสรภาพของตัวเองไป
สิบปีผ่านมาจากวันเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยของผม และนี่คือจุดที่เราอยู่

สังคมอุดมความเกลียดชัง สังคมที่ผู้มีอำนาจ อยากจะทำอะไรก็ได้ กลับมาอีกครั้ง
สังคมที่นักศึกษา ผู้ที่มีสถานะพิเศษ ในการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพันธนาการของผลประโยชน์และภาระของโลกใดๆ ไม่มีโอกาสร้องบอกกับสังคมได้ว่า ความถูกต้องในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุด คืออะไร
บ้านเมืองยังไม่ปกติดี

แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับน้องๆเค้า ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับน้องๆเค้า 100 เปอร์เซ็นต์
แต่ผมรู้สึกว่า ในห้วงยามเช่นนี้ “ความเห็นด้วย” มิใช่เรื่องสำคัญที่สุด

สิ่งที่ผมเห็น คือคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่กล้าหาญ กล้ายืนหยัดในความศรัทธาของตน กำลังจะถูกทำให้หายไปจากความทรงจำของผู้คน ถูกทำให้หมดอนาคตไปทั้งชีวิต เพียงเพราะเขากล้าพูดในสิ่งที่เขาคิด
เหมือนกับ “คน” ทุกคนที่ต้องล้มตาย ต้องถูกกักขัง ในทุกๆการชุมนุมที่ผ่านมา
มันไม่สำคัญเลยว่าสิ่งที่พวกเขาอยากจะพูด เป็นสิ่งเดียวกับที่ผมหรือคุณอยากพูดหรือไม่
สิ่งที่สำคัญคือ เราทุกคน ควรจะมีสิทธิ์เท่าเทียมกันที่จะพูดมันมิใช่หรือ
มันไม่สำคัญเลย ที่เราอยากเห็นบ้านเมืองในอุดมคติที่แตกต่างกัน
สิ่งที่สำคัญคือการหยืดหยัดเพื่อศรัทธาของตนเองนั้น ล้วนแล้วเป็นการกระทำที่น่านับถือทั้งสิ้นมิใช่หรือ
มันไม่สำคัญเลย ที่เราจะแตกต่างกันในความคิด
ถ้าจิตใจของเราต้องการสิ่งเดียวกัน คือสังคมที่เป็นธรรม และโลกที่ดีขึ้นสำหรับคนทุกคน
เราจะปล่อยให้เพียง “ความคิดไม่เหมือนกัน” เป็นความผิดมหันต์ ที่อนุญาตให้เราปล่อยคนกลุ่มหนึ่ง และอีกหลายๆกลุ่ม ถูกบังคับไปสู่การถูกพันธนาการจองจำ เช่นนั้นหรือ ?

ภาพโดย สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์
 
ในรั้วมหาวิทยาลัย ผมเคยพยายามสู้กับสิ่งที่ถูกเรียกว่าระบบทักษิณ จนมาวันนี้ดูเหมือนว่าสิ่งนั้นจะหายไปแล้ว

แต่ในวันนี้ สังคมเราดีขึ้นแล้วจริงๆหรือ?
สำหรับผม... มันยังไม่ดีพอ
แล้วเราก็ไม่ควรหยุดเดินต่อ เพื่อให้มันดีกว่านี้
ในบรรดาคนหนุ่มสาวที่ถูกจับไป ผมรู้จักน้องคนหนึ่งค่อนข้างดี คือน้อง แมน ปกรณ์ อารีกุล
แมนอายุ 26 ปี เป็นเด็กบ้านนอก เขาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องกฏหมายที่ดิน 4 ฉบับเพื่อคนจนมานาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลหลายรัฐบาลก่อนๆหน้านี้
หลายคนทวงถามว่านักศึกษาหายไปไหนในสมัยทรราชย์ครองเมือง ผมเองไม่สามารถยืนยันให้กับทุกคนได้ แต่กับแมน ผมกล้าบอกว่าแมนเขาไม่เคยหายไปไหน เขาสู้เรื่องนี้มาตลอด และไม่เคยแคร์ว่ารัฐบาลคือใคร เขาแค่แคร์ว่าความเป็นธรรมคืออะไร และในความคิดของเขา ในสมัยที่เป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยพวกเขาก็ยังสามารถออกมาประท้วงได้เรื่อยๆ เทียบกับตอนนี้ที่ไม่มีสิทธิ์เอ่ยเสียงใดๆ
หลายคนคิดว่าการที่ทหารจับนับศึกษาไป ก็เพื่อสร้างความกลัวไม่ให้ใครกล้าออกมาพูดอะไรขัดหูขัดตาอีก
แต่สิ่งที่ผมได้จากแมนและเพื่อนๆ ไม่ใช่ความกลัว แต่คือแรงบันดาลที่จะออกมาพูดเสียงดังๆอีกครั้งว่า “บ้านเมืองยังไม่ปกติดี”
อีกไม่นานนี้ผมก็คาดและหวังว่า จะเริ่มมีการเริ่มล่ารายชื่อ เพื่อให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ผมเองขอออกชื่อตัวเองไว้ก่อน ณ ที่นี้
และก่อนหน้านี้ แมน พยายามจะชวนผมไปกินเบียร์เชียร์บอลกัน ซึ่งก็น่าเสียดาย ด้วยความยุ่งในหน้าที่การงาน ผมเองก็ไม่ได้ไปเจอน้องสักที
แล้วรีบออกมากินเบียร์กันนะมึง ไอ้น้อง

บิ๊กตู่ ลั่น เชียงใหม่เป็นของทุกคน ...ประเทศไทยวันนี้ไม่ใช่อาณาจักรที่ใครจะมาแบ่งแยกได้


นายกฯ ขึ้นเวที ลั่นเชียงใหม่ เป็นแผ่นดินของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง สามารถไปมาหาสู่กันได้ทุกคน ประเทศไทยวันนี้ไม่ใช่อาณาจักรที่ใครจะมาแบ่งแยกได้ เราเป็นรัตนโกสินทร์200 กว่าปี อย่าให้ถูกทำลายลงแนะคนเชียงใหม่ เลือกผู้นำที่มีธรรมาภิบาล อย่าให้ใครมาโน้มน้าว ชักจูง โดยไม่มีเหตุผล ผมเองไม่ใช่ศัตรูใคร ทำงานมากับทุกรัฐบาลย้ำเลือกตั้งครั้งหน้าต้องเลือกผู้นำที่ดี แจงประเทศแบ่งแยกไม่ได้ ระบุยึดตาม รธน. ชั่วคราวไม่เคยบิดพริ้ว.....ระทึก! หญิงวัยกลางคนโวยลั่นศาลากลางเชียงใหม่เหตุถูกจนท.เดินตามตัวระหว่างรอนายกฯ ตร.หญิงเจรจาไม่เป็นผล จนต้องอุ้มไปศูนย์ดำรงธรรม ก่อนนายกฯถึงที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางจากดอยสุเทพ มาที่ตลาดนัดชุมชนไทยช่วยไทย คนไทยยิ้มได้"กาดนัดล้านนาเจียงใหม่"โดยทันทีที่มาถึง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับข้าราชการและประชาชนที่มาต้องรับว่า "ขอโทษ ช้านิดหนึ่งนะ มาช้าไปหน่อย "

จากนั้น นายกฯ เยี่ยมชมพื้นที่จัดงานและพูดคุยให้คำแนะนำบรรดาร้านค้าต่างๆ ที่จัดคล้ายๆ ตลาดริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบฯทตามแนวคิดนายกฯ ที่เดิมจะจัด ริมแม่น้ำปิง แต่มีปัญหาด้านการรปภ. จึงมาจัดที่ศาลากลาง

ทั่งนี้ มีบรรดาพ่อค้า แม่ค้าได้มอบกระเช้าดอกไม้และผลไม้ให้กับนายกรัฐมนตรี และระบุว่า เป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีในการทำงาน พร้อมอยากให้นายกฯ สู้ต่อไป

ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังชมร้านจำหน่ายสินค้า มีชาวบ้าน 3 คน ชูป้ายสนับุสนุนให้นายกฯ อยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญ

จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือไม่ให้มีการชูป้าย เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันนายกฯ กล่าวว่า ให้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองให้สงบ

พลเอก ประยุทธ์ ได้ขึ้นเวที ในกาดล้านนาเจียงใหม่ กล่าวว่า การที่ ครม.เลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกในการประชุมที่ภาคเหนือ

"เพราะเชียงใหม่ถือว่าเป็นแผ่นดินของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง สามารถไปมาหาสู่กันได้ทุกคน"
"และยังมีอีก 76 จังหวัดที่ต้องดูแล รัฐบาลทำงานเพื่อ 70 ล้านคน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ทุกคนพอใจและมีความสุข ใครไม่มีงาน ไม่มีเงินเราก็ต้องคิดถึงเขาให้มากๆ ประเทศเป็นของคนไทยทุกคน ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล สุจริต นึกถึงประชาชนทุกคน โดยเฉพาะเมื่อผมไม่อยู่แล้วอนาคตถูกกำหนดโดยคนไทยเอง อย่าให้ใครมาชี้นำ วันนี้ผมทำเพื่อทุกคน แล้วอนาคตจะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่ประชาชนทุกคน "

"เชียงใหม่มีธรรมชาติ รอยยิ้มและมีความรัก ประเทศไทยวันนี้ไม่ใช่อาณาจักรที่ใครจะมาแบ่งแยกได้ เราเป็นรัตนโกสินทร์มา 200 กว่าปี อย่าให้ถูกทำลายลงในยุคของเรา"

ดังนั้นต้องสร้างอนาคตให้ลูกหลาน สร้างคุณธรรมให้สังคมไทยให้ได้ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ต้องเลือกผู้นำที่มีธรรมาภิบาล อย่าให้ใครมาโน้มน้าว ชักจูง โดยไม่มีเหตุผล ผมเองไม่ใช่ศัตรูใคร ทำงานมากับทุกรัฐบาล ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
จึงต้องไว้วางใจข้าราชการให้เขามาดูแลทุกพื้นที่ ทุกอาชีพและต้องสร้างเกษตรกร ชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางให้ได้ เพราะเศรษฐกิจชุมชนต้องเข้มแข็ง

โดยผมกำลังให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์เป็นตัวหลักในการช่วยเหลือให้ได้ ในส่วนเรื่องความมั่นคงปลอดภัยนั้น ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่ดีกว่าทุกประเทศ อย่าทิ้งโอกาสด้วยความขัดแย้ง ใครชวนไปตีก็อย่าไปกับเขา ขอให้เลิกเสียเพราะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งเท่าที่ทราบทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่พอสมควร
"คนไทยทั้งประเทศอยากให้ ผมทำให้ ผมก็ทำ และยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกอย่าง ไม่ได้ฝืนและไม่เคยบิดพริ้วหรือหวังสืบทอดอำนาจ ไม่ได้ใช้อำนาจกับใคร ใครผิดก็ว่าตามกฎหมาย สู้ได้ก็สู้ไป ใครผิดก็ต้องมาติดคุก วันนี้ต้องอย่าให้มีความขัดแย้ง ประเทศไทยต้องมีเสถียรภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมืองเพราะเราจะรบกันไปเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์ ทำมาหากินก็ไม่ได้ ใครจะมาอ้างอะไร ทำผลประโยชน์อะไรก็ขอให้บอกมา เพราะผมไม่เคยไปสั่งให้ใครทำอะไรทั้งสิ้น ประเทศไทยเป็นรัฐหนึ่งรัฐเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ มีแต่ขวานกับด้าม ใครจะแบ่งแยกไม่ได้ เพราะถ้าแยกแล้วจะไปสู้กับใครได้"
"การเลือกตั้งเราต้องเลือกคนที่ดีที่สึด ส่วนคนที่มีรายชื่ออยู่นั้นก็ต้องสู้ไปตามหลักฐาน บ้านเมืองนี้ต้องอยู่ด้วยกฎหมาย อีกไม่นานเราก็จะก้าวไปสู่อนาคต ขอให้ทุกคนรักกัน เลิกทะเลาะหรือเกลียดกัน ความปรองดองไม่ได้หมายถึงนักการเมือง แต่ประชาชนทุกคนที่ต้องกลับมารักกันเหมือนเดิม ทะเลาะกันไปไม่เกิดประโยชน์ "
ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้งจะมีความชัดเจนในกา
รประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ โดยจะต้องมีแนวทางในการแก้ไข เราเห็นใจเกษตรกรเพราะวันนี้ไม่มีน้ำ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องเรียนรู้ เตรียมตัวเอง เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่าทะเลาะกัน ปรองดองเป็นเพื่อนกันเหมือนกัน


จากพระไพศาล วิสาโล ถึง กลุ่มดาวดิน

จากพระไพศาล วิสาโล ถึง กลุ่มดาวดิน
พระไพศาล วิสาโล

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ-กลุ่มดาวดินเมื่อ ๒-๓ วันก่อน ทำให้อาตมาหวนนึกถึงนักศึกษาประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลทหารสั่งจับกุมคุมขังด้วยข้อหาร้ายแรง  จนเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาในเวลาต่อมา  ผ่านไปสี่ทศวรรษ  เมืองไทยน่าจะเลยจุดนั้นไปไกลแล้ว   ไม่น่าเชื่อว่ามาถึงวันนี้ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธีก็ยังถูกจับกุมคุมขังอีก ราวกับว่าบ้านเมืองหวนกลับมาสู่จุดเดิม  ต่างกันก็ตรงที่คราวนี้ไม่มีประชาชนมากมายลุกขึ้นมาประท้วงการจับกุม หรือสนับสนุนการเรียกร้องของคุณ  นี้แสดงว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว  แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผู้รักประชาธิปไตยควรท้อแท้  
แม้ว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำ  คำวิพากษ์วิจารณ์ก็มาก แต่ผู้มีจิตใจประชาธิปไตยย่อมถือว่าเป็นธรรมดา    เมื่อต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ก็ต้องตระหนักว่ามันหมายรวมถึงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นในการวิพากษ์วิจารณ์เรา หรือแม้กระทั่งต่อว่าด่าทอเราด้วย   อย่างไรก็ตามหากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็ไม่พึงหวั่นไหวคลอนแคลนกับเสียงเหล่านั้น   มองให้ดีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็มีประโยชน์ ทั้งต่อตัวเราและกิจกรรมที่ทำ 
จะว่าไปแล้ว  เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคุณ ก็ไม่สำคัญเท่ากับสามัญสำนึกที่ว่า การแสดงความเห็นต่างมิใช่ความผิดที่สมควรถูกจับกุมคุมขังหรือตีตรวน    แต่ถึงแม้ผู้คนจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงหลักการดังกล่าว   ก็ขอให้คุณอย่าได้โกรธเกลียดเขา    ขอให้มีความหวังว่าคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้  สักวันหนึ่งผู้คนจะเข้าใจในสิ่งที่คุณทำ  หรืออย่างน้อยก็ตระหนักว่า คุกไม่ควรมีเพื่อขังผู้ที่เห็นต่าง ขอให้ระลึกว่าพลังสำคัญอย่างหนึ่งของสันติวิธี คือการชนะใจผู้คนด้วยความรัก ความอดกลั้น และพร้อมรับความเจ็บปวดโดยไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือความเกลียดชัง  นี้คือพลังที่มีอานุภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าอาวุธหรืออำนาจดิบเสียอีก

http://www.visalo.org/article/peace5807Dawdin.html

บิ๊กตู่ ขึ้นดอย เดินตลาด...รปภ. ทหาร ตำรวจ พรึ่บ 3,200 นาย ครม.สัญจร เชียงใหม่

บ่ายนี้ พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี พร้อมครม. บินเชียงใหม่ ขึ้นไหว้พระธาตุดอยสุเทพ ก่อนลงมาเดินตลาดศาลากลางฯ นอน โรงแรม ทหาร ทัพภาค3 Green Lake อังคารประชุมครม.ทหาร-ตำรวน 3,200นาย เข้ม รปภ. ทหารเสือราชินีร.21รอ.คุมเข้มวงใน รปภ.ใกล้ตัว นายกฯ ตรึง ทหาร2,000นาย จาก มทบ.33 ค่ายกาวิละ ดูรอบใน ตำรวจ 1,200 นาย ดูรอบนอก ทหาร-ตร.เชียงใหม่ ขอความร่วมมือแกนนำแดง สงบ ทำความเข้าใจ นายกฯมาพัฒนาเชียงใหม่
ครม.สัญจร อังคารนี้ มีแผนถกการเปิดสนามบินเชียงใหม่ International airport แห่งที่2 และปรับระบบขนส่งมวลชน ที่ศูนย์ประชุมฯเชียงใหม่ บ่ายไปพรหมพิราม พิษณุโลก
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2558 ที่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ 30 มิถุนายน 2558 นั่น
จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำโครงการสำคัญนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา
1. ด้านเศรษฐกิจ
1.1 โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่
1.2 โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมและขนส่งภูมิภาค
1.3 โครงการศึกษาวิจัยเพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2
1.4 โครงการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงการค้าในพื้นที่ชายแดน (จุดผ่อนปรนหลักแต่ง อ.เวียงแหง และจุดผ่อนปรนกิ่วผาวอก)
2. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.1 โครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า
2.2 โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะ พร้อมระบบส่งน้ำ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
2.3 โครงการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร
2.4 โครงการบริหารจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำ
3. โครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล
3.1 โครงการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานจังหวัดเชียงใหม่
4. ด้านสังคม
4.1 โครงการขยาย ยกฐานะและเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยบริการเพื่อการเข้าถึงบริการของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ (ด้านสาธารณสุข)


แหล่งทุนทางเลือก!!

แหล่งทุนทางเลือก!!
ปลัดคลังร่วมพิธีลงนามความตกลงจัดตั้ง-หารือแนวทางดำเนินงาน AIIB
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมพิธีลงนามในความตกลงในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของ AIIB ในระยะต่อไป รวมถึงแนวทางการคัดเลือกตำแหน่งประธานชั่วคราว (President-Designate) เพื่อทำหน้าที่บริหารธนาคารฯ ในช่วงก่อนที่ AIIB จะมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2559
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครั้งนี้มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งจำนวน 50 ประเทศได้ลงนามในความตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกผู้ก่อตั้งบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งยังไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างดำเนินการขอความเห็นชอบตามกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ โดยในกรณี ของประเทศไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน เนื่องจาก AIIB จะมีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ จำเป็นจะต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน ในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกที่ยังไม่สามารถลงนามได้ ยังสามารถลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าวได้จนถึงสิ้นปี 2558 นี้ เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2559 เป็นต้นไป
การจัดตั้ง AIIB มีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาคเอเชียในด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม และสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น AIIB จึงเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางเลือกหนึ่งของไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังมีความต้องการเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และภายในภูมิภาค โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป


วิเคราะห์การเมือง: "ยาแรง" ออกฤทธิ์ ท่าทีจาก "มหามิตร" ปฏิกิริยาต่อ "เกมยาว"

สถานการณ์การเมืองไม่สะดวกสบาย ชวนให้ "หุดหิด" ในอารมณ์อยู่พอสมควร

"ข่าวดี" ในภาพรวมก็คือ ไม่มีการชุมนุมประท้วงแบบเผชิญหน้า ไม่มีปิดถนน ไม่มีการ์ดมาเดินข่มขวัญผู้คน ไม่มีเวทีที่โหมกระหน่ำความเกลียดชังระหว่างคนในชาติเดียวกัน ฯลฯ
http://www.matichon.co.th/online/2015/06/14354823061435482346l.jpg

แต่ "ข่าวร้าย" ก็คือ "การเมืองรูปแบบพิเศษ" ที่เชื่อกันว่าจะเป็น "ยาแรง" ใช้แก้ปัญหา ช่วยในการปฏิรูปประเทศ กำลังออกฤทธิ์ในทางตรงข้าม

และจะเป็น "ผลโดยตรง" หรือ "ผลข้างเคียง" ก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ มันได้กลายเป็น"เงื่อนไข" ให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้าง ในการจำกัดความร่วมมือ การช่วยเหลือ

ความจำกัดเหล่านี้ ขยายตัวและแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ

ประเทศไทยเคยมีภาพเป็นประเทศเสรีนิยม เปิดกว้างต่อมิตรสหาย ไปมาหาสู่กันอย่างสะดวก

สงครามสีภายใน รัฐประหาร 2 ครั้งในรอบไม่ถึง 10 ปี เขยื้อนประเทศไทย จนเป็นอย่างที่เห็น

การเมืองพลิกเปลี่ยน เป็นการเมืองภายใต้การควบคุม รวมศูนย์อยู่ที่ คสช. มีกลไกสำคัญคือ "แม่น้่ำ 5 สาย" มาจากการแต่งตั้ง สรรหา

ความยุ่งเหยิงภายใน อย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลก่อน ทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างถูกละเลย ไม่มีการบริหารจัดการ ไม่มีคนดูแล

กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นชาติที่มีปัญหาค้ามนุษย์ มีปัญหาการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านการบิน

เศรษฐกิจดำดิ่ง แม้ทีมเศรษฐกิจปลุกพระท่องคาถาว่าฟื้นแล้วๆ แต่หาคนเชื่อได้ยากเต็มที

เกิดปัญหา "ภัยแล้ง" ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเกษตรกรรมชั้นนำของภูมิภาค ประเทศส่งออกข้าว มีระบบชลประทาน คู คลอง ส่งน้ำทั่วถึง มีเขื่อน ฝาย มากมาย

กลับต้องมาแห่นางแมวขอฝน แย่งกันสูบน้ำจนคลองแห้งเป็นสายๆ อยู่ๆ น้ำหมดเขื่อน

ข้าวเป็นล้านๆ ไร่ ยืนต้นแห้งรอฝน

ทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้น ไม่มีกลไกรับรู้ที่รวดเร็วพอ บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปแก้ไข ก็โดนมองเป็นเรื่อง "การเมือง"

เป็น "ผลด้านลบ" ที่เกิดขึ้น และเป็นภาระหนักยิ่งกว่าหนักของ "คสช."




ขณะที่ในทางการเมือง การจำกัดสิทธิ ข้อห้ามการแสดงออก แม้จะเป็นที่ชื่นชมของผู้สนับสนุนการรัฐประหาร

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารก็มีไม่น้อย

โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อว่า ปัญหาบ้านเมืองแก้ไม่ได้ด้วยการยกอำนาจให้คนกลุ่มเดียว

แต่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุน ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่าง

ทำให้วันที่ 24 มิ.ย. อันเป็นวันเริ่มต้นของประชาธิปไตยในประเทศไทย ของปีนี้ มีความหมายมากเป็นพิเศษ

ขณะที่นักการเมืองส่วนมากปิดปาก ระวังตัวแจ เพราะไม่อยากถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติ สนทนาปัญหาบ้านเมือง

ถ้าเคลื่อนไหว ก็ออกไปในทางเดินสายไหว้พระ สะเดาะเคราะห์ ชิมมะยงชิด ทุเรียน อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร

กลายเป็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ อย่างกลุ่มดาวดิน หรือนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ กันแบบตรงๆ

หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

ล่าสุด สองกลุ่ม รวมตัวกันในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่"

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพยายามก่อนเข้าควบคุมตัว 14 นักศึกษาตามหมายจับในวันที่ 25 มิถุนายน

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความไม่พอใจ กล่าวเตือนหลายครั้ง

น่าสังเกตว่าจำนวนคนออกมาเคลื่อนไหว มีไม่มากนัก แต่มีผลสะเทือนสูง

อาจเป็นเพราะมีผู้คนที่มีความรู้สึกร่วมจำนวนมากที่ไม่แสดงตัว แต่ติดตามข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย และสื่้ออื่นๆ

ภาพการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ กลายเป็นประเด็นของการใช้อำนาจรัฐ เข้าจัดการกับฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

ข้อสรุปง่ายๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่คุ้มและไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายที่กุมอำนาจอย่างแน่นอน




ประวัติศาสตร์การเมืองชี้ว่า การรัฐประหารที่ผ่านมา หากเข้าเร็วออกเร็ว การลงจากหลังเสือ ปล่อยวางเปิดทางให้ระบบปกติทำงาน จะไม่มีปัญหามากนัก

เพราะรัฐประหารเป็นวิธีการที่ใช้ได้ชั่วคราว ยิ่งยืดเวลานาน จะยิ่งสร้างความเสียหาย

แต่เมื่อสรุปกันว่า รัฐประหาร 2549 เป็นรัฐประหาร "เสียของ" จึงเกิดแนวคิดที่จะไม่ให้เสียของ นำไปสู่ความพยายามยืดอำนาจ ด้วยข้ออ้าง "ปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนเลือกตั้ง"

ความพยายามดังกล่าว เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ยิ่งเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวขอไฟเขียว คสช.เพื่อตั้ง "กาสิโน" ซึ่งจะมีเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีผู้ระบุถึงการตั้งพรรคใหม่ ยิ่งทำให้เกิดคำเล่าลือถึงการสืบทอดอำนาจ

การเคลื่อนไหว 24 มิ.ย. เป็นภาพสะท้อนปฏิกิริยาภายในประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศก็เต็มไปด้วยปฏิกิริยาเช่นกัน

อาทิ คำแถลงของนายเกล็น เดวีส์ ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ต่อกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. บ่งบอกถึงท่าทีของสหรัฐต่อสถานการณ์พิเศษในประเทศไทย อย่างตรงไปตรงมา

โดยย้ำว่าการจำกัดความสัมพันธ์บางด้านกับไทย การระงับความช่วยเหลือบางประการต่อประเทศไทย จะดำเนินต่อไปจนกว่าไทยจะมีการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ในหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ยังไม่ชัดเจนว่าคสช.จะเลือกเกมยาวหรือเกมสั้น

ตัวชี้วัดคือ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสปช.ในเดือนกันยายนนี้



การ
เมืองประเทศไทย จะคาราคาซังในลักษณะนี้อีกพักใหญ่

ตราบเท่าที่คนไทยส่วนหนึ่ง ภาคราชการและองค์กรอิสระ ยังหวาดหวั่นว่า การกลับสู่การเมืองปกติ มีการเลือกตั้ง จะทำให้ "ทักษิณ" หรือเครือข่ายกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่พรรคการเมืองเอง ยังไม่ได้ปฏิรูปตัวเอง ไม่ปรับเปลี่้ยนสร้างความหวัง ให้ความเชื่อมั่นแก่สังคมว่าจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง

พรรคหลักๆ อย่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่แข่งขันกันแบบไม่เผาผี แต่เอาเข้าจริงก็ก้าวไม่พ้นการยึดถือในตัวบุคคล

ใครก็ตามที่เข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาที่มี "องค์ประกอบ" ยุ่งเหยิง หากคลำไม่เจอ"ปม" อันเป็นหัวใจ และเริ่มต้นจากจุดนี้

คงจะต้องเดินวน รอเวลาเสียของอีกครั้ง




ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2558

Wบุญทรง และพวก” ปฏิเสธฮั้วประมูลข้าวจีทูจี - ออกหมายจับ “นพ.วีระ-สุธี” ไม่มาศาล

"บุญทรง” และพวกรวม 21 ราย ให้การปฏิเสธฮั้วประมูลข้าวในโครงการรัฐต่อรัฐ โดยขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อย่างละเอียด 60-120 วัน แต่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดยื่นคำให้การภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และนัดตรวจหลักฐาน 29 ก.ย. 58 โดยศาลให้ประกันตัวชั่วคราวทั้งหมด พร้อมออกหมายจับ “นพ.วีระวุฒิ” อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ และ “สุธี” เห็นว่ามีพฤติกรรมหลบหนี ขณะเดียวกันศาลฎีกาฯ มีคำสั่งยกเลิกนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 21 และ 28 ก.ค. ของ “ยิ่งลักษณ์” คดีทุจริตรับจำนำข้าว เหตุเจ้าตัวขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งเป็นวันที่ 31 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (29 มิ.ย.) ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกและสอบคำให้การ ในคดีหมายเลขดำ อม. 25/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย ในความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือฮั้วประมูล พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 พร้อมทั้งขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นจำนวนเงิน 35,274,611,007 บาท กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

โดยวันนี้ นายบุญทรงและจำเลยส่วนมากพร้อมทีมทนายความทยอยเดินทางมาศาลตั้งแต่ช่วงเช้า ขณะที่จำเลยที่ 3 และ 16 ไม่ได้เดินทางมา ส่วนฝ่ายอัยการโจทก์นำโดยนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานฯ ได้นำทีมคณะทำงานฯ มาร่วมฟังการพิจารณา

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมคณะรวม 9 คนออกนั่งบัลลังก์สอบคำให้การจำเลย โดยศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังสรุปว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2554 ถึงวันที่ 12 ก.พ. 2556 จำเลยที่ 1-6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้เสนอราคาซื้อขายข้าวกับบริษัท กวางตุ้ง และไห่หนาน ของประเทศจีน ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เป็นการเจรจาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐซึ่งไม่เป็นความจริง และมีการนำข้าวไปขายให้แก่ผู้ค้าข้าว โดยมีจำเลยที่ 7 ถึง 21 เป็นผู้รับมอบข้าว จำเลยทั้งหมดที่มาศาลให้การปฏิเสธและขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อย่างละเอียดภายใน 60-120 วัน

ศาลพิเคราะห์แล้วจึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดยื่นคำให้การภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และนัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายในวันที่ 29 ก.ย.นี้. และให้ออกหมายจับ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และนายสุธี เลื่อมไธสง จำเลยที่ 16 เพื่อนำตัวมาฟังการพิจารณาคดี หลังทราบนัดโดยชอบแต่ไม่มาศาล โดยเห็นว่ามีพฤติกรรมหลบหนี พร้อมทั้งให้จำหน่ายคดีเฉพาะของจำเลยที่ 3 และ 16 ชั่วคราว

รวมทั้งมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายนิมนต์ รักดี จำเลยที่ 15 เนื่องจากพิจารณาหลักทรัพย์ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินทางสาธารณะไม่น่าเชื่อถือ จึงสั่งถอนประกัน และให้ออกหมายขังเพื่อส่งตัวควบคุมที่เรือนจำ เว้นแต่จำเลยจะมีหลักทรัพย์ใหม่มายื่น

ส่วนที่จำเลยบางคนขอพิจารณาคดีลับหลังนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยทุกคนมีหน้าที่ต้องมาศาล หากไม่สะดวกให้ยื่นคำร้องขอเลื่อนเป็นครั้งคราวไป จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังสอบคำให้การเสร็จ นายบุญทรงได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับฟ้องไปก่อนหน้านี้ พวกจำเลยได้ทยอยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวแล้ว โดยนายบุญทรง ใช้หลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝาก โดยศาลตีราคาประกัน 20 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ส่วนจำเลยอื่นๆ ศาลพิจารณาตามเหตุและพฤติการณ์แต่ละรายซึ่งศาลให้ประกันทุกราย
ขณะที่ในวันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งยกเลิกนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 21 และ 28 ก.ค. ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฎิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการทุจริตรับจำนำข้าว เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง เป็นวันที่ 31 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.


“นิ้วกลม” ประกาศตัวหนุน “ดาวดิน” ชี้บ้านเมืองต้องมีประชาธิปไตย แพร่แฮชแท็ก #เราคือเพื่อนกัน

ASTVผู้จัดการ - “นิ้วกลม” นักเขียนหนุ่มไอดอลคนรุ่นใหม่ เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เชิดชูนักศึกษากลุ่มดาวดิน ระบุสมควรได้รับการคารวะและนับถือ ลั่นประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญในบ้านเมือง ระบุปิศาจหรืออสูรคือคนที่อยู่ตรงข้ามประชาชนไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือยึดอำนาจเข้ามา พร้อมแพร่แฮชแท็ก #เราคือเพื่อนกัน
       
       วานนี้ (28 มิ.ย.) นายสราวุธ เฮงสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม นักเขียนชื่อดัง ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Roundfinger ที่มีผู้ติดตามอยู่มากกว่า 4.3 แสนคน พร้อมโพสต์ภาพที่มีข้อความพร้อมแฮชแท็กระบุว่า “#เราคือเพื่อนกัน” เป็นตัวหนังสือสีขาวบนพื้นหลังสีเทา
       
       ทั้งนี้ ข้อความของนายสราวุธแบ่งเป็นส่วนย่อย 5 ตอน โดยเนื้อหาสำคัญคือบอกเล่ากิจกรรมของนักศึกษากลุ่มดาวดิน จากคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น พร้อมระบุว่า สำหรับตนแล้ววีรกรรมของนักศึกษากลุ่มดาวดินสมควรได้รับการคารวะ และนับถือ และบอกต่อว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้ทุกคนได้พูด เสียงทุกเสียงได้รับฟัง และมีความสำคัญเท่ากัน
       
       “สำหรับผมแล้ว ดาวดินเป็นตัวอย่างนักศึกษาที่หาได้ยากในสังคมไทย ทั้งความทุ่มเทและความกล้าหาญของพวกเขา ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาที่ควรได้รับการคารวะ ผมนับถือพวกเขาที่มองเห็นชาวบ้านเป็น ‘เพื่อน’ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านก็เห็นพวกเขาเป็น ‘เพื่อน’ เช่นกัน
       
       สำนึกถึง ‘เพื่อน’ ร่วมสังคมเช่นนี้เองเป็นสิ่งวิเศษกับสังคมโดยรวม เพราะมันสร้างบรรยากาศของการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เห็นใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เกิดขึ้นในสังคม
       
       ความเป็น ‘เพื่อน’ ที่ว่านี่เองที่ขาดหายไปจากสังคมไทย เพราะเรามัวแต่คิดถึง ‘ประเด็นส่วนตัว’
       
       หลายคนอาจเบื่อการเมือง เบื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้อง และชอบที่บ้านเมืองสงบ แต่เราคงต้องถามว่า ‘สงบ’ นั้นสงบของใคร และสงบเพื่อใคร ในเมื่อยังมีคนเสียประโยชน์จากความ ‘สงบ’ ที่ว่านี้ และจำเป็นต้องส่งเสียงออกมาให้คนอื่นได้ยิน จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเอง
       
       เพราะเหตุนี้บ้านเมืองที่สงบไร้สุ้มเสียงเรียกร้องหรือโต้แย้งจึงเป็นโลกสมมุติที่ซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม กดทับเสียงร้องไห้ของคนจำนวนมากเอาไว้ไม่ให้คนส่วนใหญ่ได้ยิน
       
       สงบสุขอยู่เหนือความทุกข์ที่มองไม่เห็น
       
       ด้วยเหตุนี้เอง ประชาธิปไตยจึงสำคัญ เพราะมันเปิดโอกาสให้ทุกเสียงได้พูด ได้ส่งเสียง ได้เรียกร้อง ทุกเสียงพูดได้ ดังเท่ากัน และสำคัญเท่ากัน” นักเขียนหนุ่มชื่อดังระบุ
       
       สำหรับ นายสราวุธ เจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม” เป็นนักเขียนหนุ่ม มีผลงานเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารอะเดย์ คอลัมน์หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ มีหนังสือตีพิมพ์รวมเล่ม โดยเฉพาะสารคดีท่องเที่ยวอย่าง โตเกียวไม่มีขา (2547) กัมพูชาพริบตาเดียว (2548) เนปาลประมาณสะดือ (2549) สมองไหวในฮ่องกง (2550) และ นั่งรถไฟไปตู้เย็น (2551) นอกจากนี้ยังเขียนนวนิยายเรื่อง นวนิยายมีมือ (2550) และรวมบทความชื่อ อิฐ (2548) ณ (2550) และ เพลงรักประกอบชีวิต (2551) เขียนเพลงร่วมกับ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ในเพลง “ทฤษฎีสีชมพู” นอกจากนั้นเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ทางช่องไทยพีบีเอส ได้แก่ รายการพื้นที่ชีวิต รายการเป็นอยู่คือ รายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด และรายการ Status Story อีกด้วย
       
       ทั้งนี้ ข้อความทั้งหมดที่นายสราวุธเขียน มีรายละเอียดดังนี้
       
       เราคือเพื่อนกัน
      
       1
       เพื่อนๆ ผู้อ่านครับ
      
       สมมุติว่า อยู่มาวันหนึ่งมีบริษัทแห่งหนึ่งได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองทองคำบริเวณใกล้บ้านของคุณซึ่งตั้งรกรากมาเนิ่นนาน เขาเริ่มผลิตและแต่งแร่ ไม่นานนัก สารเคมีที่ใช้ในการผลิตเริ่มรั่วซึมมาตามลำธารสาธารณะ ส่งผลกระทบมาถึงบ้านของคุณ หมู่บ้านของคุณ เพื่อนบ้านของคุณ พ่อแม่พี่น้องของคุณ ผู้คนพันกว่าครอบครัว เกือบสี่พันคน ต้องเจ็บป่วย และยังต้องกินอาหารปนเปื้อนสารเคมีอยู่ทุกวัน
      
       เพื่อนๆ จะทำอย่างไรครับ
      
       โชคร้ายที่เหตุการณ์สมมุติที่ว่าเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
      
       โชคร้ายที่เสียงของชาวบ้านที่นั่นอาจไม่ดังเท่าเสียงของเพื่อนๆ ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย
      
       ในปี 2556 ชาวบ้านบริเวณนั้นหกหมู่บ้านรวมตัวกันในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทที่ทำเหมืองแร่ดำเนินการตามเงื่อนไขประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ต้องทำเหมืองโดยไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
      
       แต่แล้ว ผลลัพธ์คือการไล่ทุบตี จับชาวบ้านมัดมือไพล่หลัง จนบาดเจ็บสาหัสหลายราย
      
       หลังรัฐประหาร คสช. ได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่เข้ามาดูแลกรณีเหมืองทองคำ มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลย’ 4 ชุด ซึ่งชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่เห็นด้วย และขอให้มีการแก้ปัญหาตามข้อเสนอของประชาชน ด้วยเหตุผลว่าการแก้ปัญหาที่กระทบกับชีวิตของพวกเขานั้นควรให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
      
       แต่แล้ว ผลลัพธ์คือแกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดและนักศึกษาที่ร่วมเรียกร้องถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ
      
       และกลุ่มนักศึกษาที่ว่านี้คือนักศึกษาที่เรารู้จักพวกเขาในนาม ‘ดาวดิน’ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งออกค่ายเรียนรู้สังคม พวกเขาลงพื้นที่กับชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองคำอำเภอวังสะพุงต่อเนื่องหลายปี จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ศึกษาข้อมูลและทำงานร่วมกับชาวบ้านมาโดยตลอด มิใช่แค่ในสมัยของรัฐบาลนี้เท่านั้น
      
       สำหรับชาวบ้านบริเวณนั้น ดาวดินจึงไม่ต่างจากลูกๆ หลานๆ ที่มาช่วยเหลือกัน ดูแลกัน ห่วงใยกัน
      
       หลังรัฐประหาร การเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรื่องเหมืองทองคำถูกจำกัดมากขึ้น และมักถูกโยงกับเรื่องการเมืองเสมอ ทั้งที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านแท้ๆ
      
       จากที่เสียงเบาอยู่แล้ว ก็กลายเป็นแทบจะส่งเสียงไม่ได้ เอาง่ายๆ คนเมืองอย่างเราๆ แทบไม่เคยได้ข่าวคราวของชาวบ้านที่อำเภอวังสะพุงเลยแม้แต่น้อย
      
       ครั้งหนึ่ง ในปี 2556 ขณะที่ตำรวจชุดปราบจราจลจะเข้าสลายชาวบ้านที่มาชุมนุมเพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็น หลังจากฝ่ายรัฐกันไม่ให้คนเห็นแย้งเข้าไปแสดงความคิดเห็น อนุญาตเพียงคนที่เห็นด้วยเข้าไปฝ่ายเดียว เมื่อถึงนาทีเผชิญหน้ากัน นักศึกษาดาวดินตั้งแถวเป็นกำแพงมนุษย์เพื่อปกป้องชาวบ้านจากกำลังของเจ้าหน้าที่
      
       นักศึกษาช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนต่อสู้กับอำนาจรัฐและอำนาจทุน
      
       เพื่อนๆ ครับ ถ้าเราเป็นชาวบ้านที่อำเภอวังสะพุง เราจะรู้สึกกับนักศึกษาเหล่านี้อย่างไร
      
       ...
      
       2
      
       กาลครั้งหนึ่ง สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ผมมีโอกาสได้อ่านนิตยสาร ‘สารคดี’ ฉบับพิเศษ ‘14 ตุลา 2516’ ระหว่างไล่สายตาไปตามเรื่องราวในนั้น ผมเกิดคำถามในใจว่า ทำไมหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้นจึงได้มีเรี่ยวแรงกำลังและความใฝ่ฝันต่างจากหนุ่มสาวในรุ่นเราเหลือเกิน
      
       ความใฝ่ฝันของพวกเขาเป็นเรื่องระดับสังคม ระดับประเทศ มิใช่ความฝันเรื่องความสำเร็จส่วนตัว อยากเข้าทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียง อยากได้เงินเดือนเยอะๆ อยากได้โบนัสปีละหลายเดือน หรืออะไรทำนองนั้น
      
       โจทย์ของพวกเขามุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ชาวนา คนยากคนจน ให้ได้รับความเป็นธรรมในชีวิตมากกว่าที่เคย
      
       แล้วพวกเราทำอะไรกันอยู่?
      
       ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่หลายคนพูดว่า โจทย์ของการศึกษาในยุคหลังกำหนดไว้เพียงเพื่อรับใช้ทุนนิยม หวังผลิตแรงงาน พนักงาน เข้าสู่ระบบ เพื่อทำงานหาเงินตอบโจทย์ของผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย หันไปมองโจทย์ที่อาจารย์หยิบยื่นให้พวกเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ นิสิตอย่างพวกเรานั่งออกแบบเก้าอี้ราคาแพง อินทีเรียโรงแรมหรู สปาห้าดาว กราฟิกดีไซน์เก๋ๆ เท่ๆ แทบไม่มีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาให้คนเล็กคนน้อย หรือเพื่อแก้ปัญหาของคนด้อยโอกาสในสังคม
      
       เหมือนเราอยู่กันคนละโลก
      
       มิใช่ว่านิสิตนักศึกษาไม่อยากใช้วิชาความรู้ช่วยเหลือสังคม แต่เราแทบไม่มีความคิดโหมดนั้น เพราะเราอยู่ในโลกที่ห่างไกลปัญหาของคนเล็กคนน้อยเหล่านั้นเหลือเกิน
      
       แน่นอน โจทย์ที่อาจารย์ให้เราคิดนั้นย่อมเป็นโจทย์ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน เราก็ควรรับรู้ปัญหาและลองใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาขบคิดหาวิธีแก้ให้กับเพื่อนร่วมสังคมบ้างมิใช่หรือ แต่เราไม่เคยถูกสอนให้มองไปทางนั้น ทุกวันนี้อาจเริ่มมีบ้างแล้ว
      
       และนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในมหาวิทยาลัยไทย สายใยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษากับปัญหาสังคม เรื่องราวของสังคม ความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมสังคมนั้นเลือนลางเหลือเกิน
      
       ...
      
       3
      
       หลังจากที่นักศึกษากลุ่มดาวดินออกมาเคลื่อนไหวและถูกจับกุมตัวไปขึ้นศาลทหาร เราได้ยินทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและคอมเมนต์ส่วนหนึ่งในเฟซบุ๊กพูดในทำนองว่า “ชื่นชมนักศึกษาที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศในทางวิทยาศาสตร์ การกีฬา ส่วนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวนี้ขอให้หยุด เพราะทำให้บ้านเมืองไม่สงบ” หรือคำพูดทำนองว่า “เป็นนักศึกษาออกมาโวยวายทำไม หน้าที่ของนักศึกษาคือการเรียน” หรือกระทั่งคำกล่าวที่บอกว่า “หน้าตาพวกนี้ไม่เหมือนนักศึกษา แต่เหมือนอสูรกุ๊ยมากกว่า”
      
       ฟังแล้วก็น่าเศร้าแทนสังคมไทย นักศึกษาที่คิดถึงเพื่อนร่วมสังคม ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม กลับกลายเป็นนักศึกษาที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องการ แล้วเราต้องการนักศึกษาแบบไหนกันหรือ?
      
       บางคนเขียนคอมเมนต์ถามนักศึกษาเหล่านี้ว่า “ตอนรัฐบาลโกงกินทำไมไม่ออกมา ไปหดหัวอยู่ที่ไหน” ซึ่งผมคิดว่านี่คือเรื่องเดียวกัน ไม่ว่ารัฐบาลคอร์รัปชั่นที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่ธรรมที่มาจากการยึดอำนาจก็ควรถูกตรวจสอบทั้งนั้น และกลุ่มดาวดินก็ต่อสู้กับทั้งสองรัฐบาลมาแล้วนี่แหละ
      
       การจับกุมนักศึกษากลุ่มดาวดินจึงมิได้น่าเศร้าเพียงเพราะเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้ชาวบ้านเท่านั้น แต่การจับกุมเช่นนี้ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้กับนักศึกษาและพลเมืองอีกเป็นจำนวนมากที่หวังดีต่อสังคม นับเป็นการตัดตอนความคิด ความฝัน และความหวัง มิใช่เพียงของคนหนุ่มสาว มิใช่เพียงของประชาชน แต่ยังเป็นการตัดตอนความคิด ความฝัน และความหวังของสังคมไทย
      
       เพราะมันบอกกับเราว่าสังคมนี้ไม่ให้คุณค่ากับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับเพื่อนร่วมสังคมแม้แต่น้อย
      
       หากยอมปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เราอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไรหรือ?
      
       ...
      
       4
      
       สังคมที่ผู้คนหัวเราะ เสียดสี ก่นด่า เมื่อนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้านถูกจับนั้นเป็นสังคมประเภทไหนกัน
      
       เราไม่ต้องการพลเมืองที่มีสำนึกเพื่อเพื่อนร่วมสังคมจริงหรือ?
      
       ถ้าครอบครัวของเราต้องดื่มน้ำจากลำธารปนเปื้อนสารเคมี เราไม่ต้องการความเห็นใจจากใครเลยจริงหรือ ถ้าเพื่อนของเราต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี เราจะยักไหล่แล้วบอกว่าจะร้องแรกแหกกระเชอไปทำไม เราจะอยู่กันอย่างนั้นจริงๆ หรือ?
      
       ถ้าน้องๆ ดาวดินต่อสู้เพื่อเรา เพื่อหมู่บ้านของเรา เราจะมองเขาต่างไปจากตอนนี้ไหม
      
       วันหนึ่งนักศึกษาเหล่านี้อาจทวงถามบางสิ่งเพื่อพวกเราก็เป็นได้ หรือต้องรอให้ถึงวันนั้น เราจึงคิดว่าพวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง
      
       สำหรับผมแล้ว ดาวดินเป็นตัวอย่างนักศึกษาที่หาได้ยากในสังคมไทย ทั้งความทุ่มเทและความกล้าหาญของพวกเขา ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาที่ควรได้รับการคารวะ ผมนับถือพวกเขาที่มองเห็นชาวบ้านเป็น ‘เพื่อน’ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านก็เห็นพวกเขาเป็น ‘เพื่อน’ เช่นกัน
      
       สำนึกถึง ‘เพื่อน’ ร่วมสังคมเช่นนี้เองเป็นสิ่งวิเศษกับสังคมโดยรวม เพราะมันสร้างบรรยากาศของการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เห็นใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เกิดขึ้นในสังคม
      
       ความเป็น ‘เพื่อน’ ที่ว่านี่เองที่ขาดหายไปจากสังคมไทย เพราะเรามัวแต่คิดถึง ‘ประเด็นส่วนตัว’
       หลายคนอาจเบื่อการเมือง เบื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้อง และชอบที่บ้านเมืองสงบ แต่เราคงต้องถามว่า ‘สงบ’ นั้นสงบของใคร และสงบเพื่อใคร ในเมื่อยังมีคนเสียประโยชน์จากความ ‘สงบ’ ที่ว่านี้ และจำเป็นต้องส่งเสียงออกมาให้คนอื่นได้ยิน จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเอง
      
       เพราะเหตุนี้บ้านเมืองที่สงบไร้สุ้มเสียงเรียกร้องหรือโต้แย้งจึงเป็นโลกสมมุติที่ซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม กดทับเสียงร้องไห้ของคนจำนวนมากเอาไว้ไม่ให้คนส่วนใหญ่ได้ยิน
      
       สงบสุขอยู่เหนือความทุกข์ที่มองไม่เห็น
      
       ด้วยเหตุนี้เอง ประชาธิปไตยจึงสำคัญ เพราะมันเปิดโอกาสให้ทุกเสียงได้พูด ได้ส่งเสียง ได้เรียกร้อง
      
       ทุกเสียงพูดได้ ดังเท่ากัน และสำคัญเท่ากัน
      
       ...
      
       5
      
       ก่อนถูกจับกุมตัว นักศึกษาเหล่านี้ใส่เสื้อที่มีตัวหนังสือเขียนว่า “เราคือเพื่อนกัน” ผมคิดว่าคำคำนี้มีความหมายอีกแง่มุมหนึ่งซ่อนอยู่ในนั้นด้วย หาก ‘เพื่อน’ คือคนที่มองเห็นความทุกข์ของกันและกัน และไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง นักศึกษาเหล่านี้คือเพื่อนของชาวบ้าน คือเพื่อนของประชาชน
      
       ‘เรา’ คือประชาชนทั้งหมด
      
       ส่วน ‘ปิศาจ’ หรือ ‘อสูร’ ที่แท้จริงนั้นคือคนที่อยู่ตรงข้ามกับประชาชน ไม่ว่าเขาคือใคร ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีไหน เลือกตั้งเข้ามา ยึดอำนาจเข้ามา หากตรงข้ามกับประชาชน ไม่ฟังเสียง ไม่ให้ความสำคัญ ไม่คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง เราควรยืนข้างกันเพื่อส่งเสียงขับไล่ปิศาจร้ายร่วมกัน
      
       ผู้นำเอง ถ้าเห็นว่าเราคือเพื่อนกัน ถ้าอยู่ข้างประชาชนก็ต้องรับฟังกัน เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น นำไปแก้ไข มิใช่จ้องแต่จะจับคนที่ออกมาตักเตือนไปขังหรือปรับทัศนคติ
      
       ‘เรา’ ควรสู้กับคอร์รัปชั่นด้วยกัน และสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมด้วยกัน
      
       การสู้กับความไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบนั้นจำเป็นด้วยกันทั้งนั้น
      
       อาจมีความเห็นต่าง บ้างไม่ชอบคุณทักษิณ ไม่ชอบคุณประยุทธ์ก็ว่ากันไป (ซึ่งไม่แปลกถ้าใครจะไม่ชอบทั้งคู่) แต่ถ้าเห็นต่างว่าไม่ควรต่อสู้เพื่อคนที่ด้อยโอกาส คนเสียงเบา คนจน หรือไม่ควรให้เขาเหล่านี้แสดงความคิด แสดงออก อันนี้คงเป็นเรื่องใหญ่
      
       สังคมสงบสุขที่เราต้องการน่าจะเป็นสังคมที่ผู้คนสนใจปัญหาและความทุกข์ของกันและกัน รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีอารยะ มิใช่สงบเพราะปิดปากคนอื่นหรือหรือละเลยไม่ใส่ใจความทุกข์ที่ห่างไกลตัวเอง
      
       สังคมแบบนั้นอาจดูเหมือนสงบ เพียงเพราะเราไม่ได้ยิน หรือไม่สนใจเสียงร้องไห้ของคนอื่น
      
       ในฐานะคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน #เราคือเพื่อนกัน มิใช่หรือ
      
       ถ้าไม่เป็นเพื่อนกับประชาชน แล้วเราจะเป็นเพื่อนกับใคร?