PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

40 วันอันตราย "วิกฤติน้ำ" ! ฝนไม่ตก น้ำหมดเขื่อน โรงงานผวา-ชาวนาอ่วม

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

มติชนสุดสัปดาห์ 19-25 มิถุนายน 2558



แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยา จะประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมา

แต่สถานการณ์จริงกลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะฝนทิ้งช่วง แถมฝนที่ตกลงมาก็มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ที่ประเมินไว้

โดยปริมาณฝนในภาคเหนือและภาคกลาง "ต่ำกว่า" ค่าปรกติ 98.6 มิลลิเมตร (55%) และ 119.1 มิลลิเมตร (69%) ตามลำดับ ซึ่งจัดเป็นปริมาณฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปรกติในรอบ 30 ปีทีเดียว

ที่สำคัญ ฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปรกติอยู่แล้ว ยังเป็นฝนที่ตกลงมาใต้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ ส่วนพายุที่จะพัดเข้ามาจากทะเลจีนใต้ต้นฤดูนี้มีแนวโน้มจะเข้ามาเพียง 1-2 ลูก ที่จะขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้

ทั้งหมดนี้มีผลทำให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 เขื่อนหลักที่หล่อเลี้ยงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตกอยู่ในสถาวะวิกฤติ



ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้รายงานตัวเลขน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ล่าสุด ปรากฏว่าเขื่อนภูมิพล เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้จริงเพียง 372 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 4% ของความจุน้ำใช้การได้ (9,662 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนสิริกิติ์ 712 ล้าน ลบ.ม. หรือ 11% (6,660 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 91 ล้าน ลบ.ม. หรือ 11% (896 ล้าน ลบ.ม.) และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 82 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9% (957 ล้าน ลบ.ม.) รวม 4 เขื่อนเหลือน้ำใช้การได้จริงอยู่เพียง 1,257 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ ทั้ง 4 เขื่อนหลักแทบจะไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง ส่งผลให้กรมชลประทานตัดสินใจลดการระบายน้ำออกจากอ่าง เหลือเฉพาะกิจกรรมน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค กับการผลักดันน้ำเค็ม โดยเขื่อนภูมิพลระบายน้ำวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 22.09 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 1.73 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 1.77 ล้าน ลบ.ม.

พร้อมกันนั้น นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ออกประกาศขอให้ชาวนาชะลอการปลูกข้าวนาปี 2558/59 ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม หรือ ประมาณ 40 วัน เพื่อรอสถานการณ์ให้ฝนตกหรืออ่างเก็บน้ำหลักๆ ทั้ง 4 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงมากกว่านี้

"ปีนี้ฝนมาล่าช้ากว่าปรกติ ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อต้นฤดูแล้งปี 2557/58 ก็น้อย โดยในช่วงระหว่างวันละ 1 พฤษภาคม - 10 มิถุนายน 2558 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวมกันเพียง 219 ล้าน ลบ.ม. จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าเฉลี่ยน้ำไหลลงอ่างรวมกันประมาณ 904.56 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 76% เราจำเป็นต้องวางแผนการระบายน้ำใหม่จากปริมาณน้ำที่มีอยู่จะจัดสรรให้กับการอุปโภค-บริโภค และผลักดันน้ำเค็ม จากที่ระบายออกมาวันละ 62 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เหลืออยู่ 31 ล้าน ลบ.ม. จึงขอให้ชาวนาที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปีอีกประมาณ 4.67 ล้านไร่ ชะลอการปลูกข้าวออกไปก่อน"

นายเลิศวิโรจน์กล่าว



อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่ระบายน้ำหล่อเลี้ยงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประสบปัญหาเท่านั้น แต่ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่ออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอีสาน ตัวเลขน้ำในอ่างล่าสุดชี้ว่า สถานการณ์ไม่ได้ดีกว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาเลย ยกตัวอย่าง เขื่อนห้วยหลวง เหลือปริมาณน้ำใช้การได้จริงแค่ 21 ล้าน ลบ.ม. หรือ 16%, เขื่อนน้ำพุง 26 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17%, เขื่อนจุฬาภรณ์ 24 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19%, เขื่อนลำตะคอง 60 ล้าน ลบ.ม หรือ 21%, เขื่อนลำพระเพลิง 29 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27% และ เขื่อนสิรินธร 14 ล้าน ลบ.ม. หรือ 1%

จนถึงขณะนี้เขื่อนเหล่านี้แทบจะไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง เพราะ "ฝนไม่ตก" เหมือนกับสถานการณ์เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ หรือไม่เกิน 40 วันถ้าฝนไม่ตกลงมา ปริมาณน้ำใช้การได้จริงก็จะหมดไป หรือ การระบายเป็น 0 จะเหลือเพียงระดับ "น้ำตาย (Dead Storage)" ที่ใช้หล่อเลี้ยงอ่างเป็นพื้นที่รับตะกอนอยู่เท่านั้น

สถานการณ์วิกฤตภัยแล้งดังกล่าว ส่งผลให้ประปาภูมิภาค โดย นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ ออกมาแถลงว่า เริ่มมีสาขาประปาภูมิภาคจำนวน 9 สาขา ได้รับผลกระทบ จนต้องแบ่งการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลาหรือจ่ายน้ำแบบวันเว้นวัน เช่น การประปาสาขาปักธงชัย นครราชสีมา, การประปาสาขาเกาะพงัน สุราษฎร์ธานี, การประปาสาขาแก้งคร้อ ชัยภูมิ ฯลฯ

ส่วนการประปานครหลวงที่ดูแลกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า ปริมาณน้ำดิบหรือน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่เพื่อความไม่ประมาท กปน. สั่งลดการจ่ายน้ำประปาในช่วงหน้าแล้งลงจากวันละ 5.4 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 5.2 ล้าน ลบ.ม. และระหว่างที่รอฝนตก กปน. มีการกระจายความเสี่ยงในเรื่องของแหล่งน้ำดิบจากเดิมที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา (ปากคลองสำแล ปทุมธานี) มาผลิตน้ำประปาที่โรงผลิตบางเขนวันละ 3.9 ล้าน ลบ.ม. ก็ลดลงมาเหลือ 3.6 ล้าน ลบ.ม. และหันไปใช้น้ำดิบจากแม่น้ำแม่กลองที่โรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์มากขึ้น

แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือ ปริมาณน้ำเค็มจะรุกขึ้นมาสูงกว่าท่าน้ำนนทบุรีหรือไม่ เนื่องจากการระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มของกรมชลประทานปัจจุบันใช้น้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เป็นหลัก (ระบายน้ำวันละ 22 ล้าน ลบ.ม.) หากเขื่อนมีน้ำไม่เพียงพอ น้ำเค็มมีสิทธิ์จะทะลุถึงแหล่งน้ำดิบที่ปากคลองสำแล ปทุมธานี ได้



ดูเหมือนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำโดยตรงในขณะนี้ก็คือ "ชาวนา" ในภาคกลาง 22 จังหวัด ที่เกิดปรากฏการณ์แย่งน้ำกันทำนา ท่ามกลางเสียงเรียกร้องขอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชยกรณีที่ต้องหยุดทำนาไร่ละ 3,000 บาทไม่เกิน 30 ไร่

แต่คำขอนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลที่แสดงท่าทีผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ ภายใต้เงื่อนไข ต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติก่อน

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานที่ต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เริ่มเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำในแม่น้ำจะลดต่ำลงแล้ว โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ขอให้นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า-นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน-นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เตรียมแผนสำรองด้วยการทดลองใช้น้ำจากแหล่งเก็บกักและน้ำบาดาล ส่วนนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จะหันไปใช้น้ำประปาและแหล่งน้ำของนิคมที่เก็บกักน้ำสำรองไว้

ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสถานการณ์ที่ยังล่อแหลมและน่าเป็นห่วง ว่าถึงที่สุดแล้ว ฟ้าฝนจะเป็นใจให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตภัยแล้งระลอกนี้ไปได้หรือไม่

โดยเฉพาะในช่วง 40 วันอันตรายนับจากนี้ หากยังไม่มีฝนตกเติมน้ำลงเขื่อนอย่างที่กำลังช่วยกันลุ้นอยู่ในขณะนี้

ไม่มีความคิดเห็น: