PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สุรชาติ บำรุงสุข : เดินทวนสายน้ำเชี่ยว! สงครามใหม่ในโลกเก่าของทหาร

ยุทธบทความ

มติชนสุดสัปดาห์ 19-25 มิถุนายน 2558



"การพัฒนาความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ที่ถูกบ่งชี้จากการสนับสนุนอย่างมั่นคงของกองทัพต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญในเบื้องต้น หากปราศจากสิ่งนี้แล้ว กระบวนการสร้างประชาธิปไตยจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย"

Zoltan Barany

The Soldier and the Changing State (2012)



แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 2532/2533 ซึ่งเป็นดังจุดเริ่มต้นของความเป็น "โลกาภิวัตน์" นั้น การเมืองไทยต้องเผชิญกับการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง ได้แก่ กุมภาพันธ์ 2534 กันยายน 2549 และพฤษภาคม 2557

ปรากฏการณ์เช่นนี้ดูจะขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า โลกาภิวัตน์ที่มี "กระแสประชาธิปไตย" เป็นทิศทางหลักนั้น จะมีส่วนอย่างมากต่อการเป็นอุปสรรคในการยึดอำนาจของทหาร

และขณะเดียวกันก็จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกระแสประชาธิปไตยให้ก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กับในอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นดัง "แรงกระแทก" ที่จะทำให้ประตูของรัฐอำนาจนิยมที่ปิดไว้ จำต้องเปิดออกเพื่อให้กระแสประชาธิปไตยได้พัดผ่านเข้ามา อันนำไปสู่การล้มลงของระบอบอำนาจนิยม และเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศ

แต่สังคมการเมืองไทยดูจะเดินทวนกระแสโลกาภิวัตน์เป็นอย่างยิ่ง

สามรัฐประหารในยุคหลังสงครามเย็นบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าการเมืองไทยยังคงอยู่ในวัฏจักรของการรัฐประหารและการเลือกตั้ง ที่ยังเดินกลับไปมาไม่จบสิ้น

แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญว่า กองทัพไทยยังคงอยู่ในโลกเก่าของทหารกับการเมืองในยุคสงครามเย็นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำทหารปัจจุบันยังคงเชื่ออย่างมั่นใจว่า กองทัพคือผู้ควบคุมการเมืองและการเมืองจะต้องเดินไปในทิศทางที่ผู้นำทหารปรารถนา

และอะไรที่ขัดแย้งกับกองทัพสิ่งนั้นขัดแข้งกับความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้น การต่อสู้ของกองทัพในเวทีการเมืองไทยปัจจุบันจึงเป็นดั่งการ "เดินทวนกระแสน้ำ" ที่แม้จะเดินไปได้ แต่ก็จะทำลายพลังที่กองทัพมีลงไปเรื่อยๆ และหากคิดจะคงอำนาจต่อไปอีก ก็คงต้องตระหนักว่าสายน้ำที่จะเดินทวนไปข้างหน้านั้น ก็จะ "ลึกมากขึ้น" และกระแสน้ำจะยิ่ง "เชี่ยว" มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ฉะนั้น หากจะพิจารณาจากประสบการณ์ของกองทัพแล้ว ก็จะเห็นชุดความคิดเก่า ดังนี้



1)เมื่อยึดอำนาจเสร็จแล้ว คนกลัวทหาร

ใครที่เคยผ่านประสบการณ์การยึดอำนาจในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากปี 2501 แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าคนในสังคมค่อนข้างจะเกรงกลัวต่ออำนาจของทหาร อาจจะเป็นเพราะทุกคนยอมรับว่าด้วยความเป็น "ระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ" ที่อยู่ภายใต้อำนาจของมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 นั้น ผู้นำทหารสามารถใช้อำนาจได้อย่างไม่จำกัด

ดังจะเห็นได้จากสาระสำคัญของ ม.17 ที่กล่าวว่า ให้ถือว่าคำสั่งของการกระทำใดๆ ก็ตามของนายกรัฐมนตรี "เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย"

ด้วยการใช้อำนาจตาม ม.17 เช่นนี้ทำให้จอมพลสฤษดิ์ กลายเป็นผู้นำทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และได้มีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ในหลายๆ กรณี เช่น การยิงเป้าเจ้าของบ้านต้นเพลิง เมื่อเกิดกรณีเพลิงไหม้ เป็นต้น

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเท่าใดนักที่จะพบว่า ผู้คนในยุคนั้นมีความเกรงกลัวต่อรัฐบาลทหารเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำอย่างจอมพลสฤษดิ์สามารถจับกุมหรือประหารชีวิตบุคคลได้โดยไม่ต้องผ่านการตัดสินของกระบวนการยุติธรรม

แต่รัฐประหาร2514 ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเริ่มเห็นภาพที่แตกต่างออกไป ดังจะเห็นได้ว่าอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน คือ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน (อดีต ส.ส.ชลบุรี) คุณอนันต์ ภักดิ์ประไพ (อดีต ส.ส.พิษณุโลก) และ คุณบุญเกิด หิรัญคำ (อดีต ส.ส.ชัยภูมิ) ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะรัฐประหารของจอมพลถนอม

แม้ศาลจะไม่ได้มีโอกาสพิจารณาคดีนี้เพราะรัฐบาลได้ออกคำสั่งให้จับกุมบุคคลทั้งสาม และอาศัยอำนาจของรัฐบาลทหารสั่งจำคุกทั้งหมด

แม้การฟ้องครั้งนี้จะจบลงด้วยการถูกจำคุกแต่ก็เปิดประเด็นให้เห็นว่า คนเริ่มไม่กลัวรัฐประหารเช่นในยุคเก่าอีกต่อไป

และความไม่กลัวเช่นนี้ขยายตัวต่อมาจนนำไปสู่เหตุการณ์14 ตุลาคม 2516

ผลที่เกิดขึ้นก็คือความพ่ายแพ้ของทหารครั้งแรกในการเมืองไทย แต่ในที่สุดแล้วกองทัพก็หวนกลับสู่การเมืองอีกครั้งในปี 2519

ในยุคต่อมา การต่อต้านรัฐประหารก็ปรากฏให้เห็นไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปฏิกิริยาต่อการยึดอำนาจของ "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ที่นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เกิดขึ้นเป็นระลอกคลื่น และยกระดับสู่จุดสูงสุดจนกลายเป็นการประท้วงใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2535 อันทำให้กองทัพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเมืองไทยเป็นครั้งที่สอง และเป็นสัญญาณถึงการถดถอยของอำนาจกองทัพในการเมืองไทยในยุคหลังสงครามเย็นอย่างชัดเจน

หลังจากรัฐประหาร2549 ก็เห็นการกำเนิดของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา

อีกทั้งยังปรากฏรูปแบบใหม่ๆ ของการต่อต้านทหาร เช่น การจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

ตลอดรวมถึงการเปิดแนวรบในสื่อสังคมหรือในพื้นที่ของสื่อใหม่และในยุคหลังจากการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เห็นได้ถึงปรากฏการณ์ใหม่ๆ

แม้รัฐบาลทหารจะใช้วิธีเรียกบุคคลเป้าหมายให้เข้ารายงานตัวแต่ใช่ว่าจะเกิดความกลัว

และในขณะเดียวกันสนามการต่อสู้ในสื่อสังคมดูจะดำเนินไปอย่างเข้มข้น...

รัฐบาลทหารถูกทำให้กลายเป็น"ตัวตลก" ทางการเมือง

ในขณะเดียวกันผู้นำทหารก็ถูกฝ่ายต่อต้านนำมา "ล้อเลียน" ทางการเมืองอย่างขบขัน

จนกลายเป็นภาพสะท้อนที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้คนในปัจจุบันไม่ได้เกรงกลัวรัฐประหารหรือรัฐบาลทหารอย่างที่คิด

ยุคของความกลัวทหารกำลังจะผ่านไป

และขณะเดียวกันอำนาจของผู้นำทหารในทางการเมืองก็มีความจำกัด พวกเขาไม่สามารถใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จได้ แม้จะมี ม.44 รองรับเช่น ม.17 ของยุคจอมพลสฤษดิ์



2)รัฐมหาอำนาจสนับสนุนรัฐประหาร

ผลของการต่อสู้ทางการเมืองและอุดมการณ์ในยุคสงครามเย็นหรือการดำเนินสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำให้รัฐมหาอำนาจใหญ่จำเป็นต้องสนับสนุนรัฐบาลทหารในประเทศโลกที่สามพวกเขามักจะเชื่อว่ารัฐบาลทหารมีความเข้มแข็งในการต่อสู้มากกว่ารัฐบาลพลเรือน

อีกทั้งมองว่าการเลือกตั้งอาจกลายเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้คอมมิวนิสต์แทรกแซงการเมืองได้ง่าย

ด้วยเหตุผลเช่นนี้มหาอำนาจตะวันตกจึงมักจะเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร ด้วยเหตุผลของการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์...

โลกของสงครามเย็นจึงเป็นยุคที่ต้องใช้อำนาจทหารเป็นเครื่องมือค้ำประกันความมั่นคงของรัฐ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกองทัพคือฐานรองรับของแนวคิดเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ" (National Security)

สงครามอุดมการณ์ของยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงกลายเป็น "หน้าต่างแห่งโอกาส" บานสำคัญที่เปิดให้กองทัพเดินเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยการสนับสนุนจากรัฐมหาอำนาจภายนอก

แต่เมื่อมีการปรับทิศทางของนโยบายที่รัฐมหาอำนาจให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าการจัดตั้งรัฐบาลทหาร(ในยุคหลังสงครามเวียดนาม) รัฐบาลทหารก็เริ่มเผชิญกับความท้าทายที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารกลายเป็นปัญหาและรู้จักกันในชื่อของ "สงครามสกปรก" (Dirty War) ในละตินอเมริกา เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ที่ทำให้รัฐบาลทหารตกเป็นเป้าของการวิจารณ์และการต่อต้านอย่างมาก

และความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์"ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย" เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ และขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึงการถดถอยของกองทัพในเวทีโลก

นอกจากนี้ ในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ ที่มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์และการพัดแรงของกระแสประชาธิปไตย ทำให้ระบอบอำนาจนิยมดำรงตนอยู่ในกระแสโลกได้อย่างยากลำบากยิ่ง การล้มลงของระบอบทหาร พร้อมๆ กับการเปลี่ยนผ่านของระบอบสังคมนิยมในหลายประเทศ ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการก้าวสู่ประชาธิปไตย ดังเช่นการสิ้นสุดของระบอบทหารในยุโรปใต้ ละตินอเมริกา และเอเชีย ตลอดรวมถึงการยุติของระบอบพรรคเดียวในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต

ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการขับเคลื่อนของกระแสประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์ที่รัฐมหาอำนาจล้วนแต่ให้ความสนับสนุนต่อการสร้างประชาธิปไตยมากกว่าจะให้ความสำคัญกับรัฐทหารเช่นในยุคสงครามเย็น

จนอาจกล่าวได้ว่าภารกิจทางประวัติศาสตร์ของระบอบทหารในฐานะของการเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการต่อสู้กับการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

และขณะเดียวกัน ระบอบประชาธิปไตยยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของการผลักดันระบอบเศรษฐกิจเสรี ซึ่งจะเอื้อต่อผลประโยชน์มากกว่าการคงอยู่ของรัฐทหาร ระบอบทหารกลายเป็นดัง "สินค้าตกยุค" สำหรับรัฐมหาอำนาจในโลกปัจจุบัน



3)รัฐประหารนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง

ในท่ามกลางการขยายตัวของลัทธิสังคมนิยมและการลุกขึ้นของชนชั้นล่างในโลกที่สาม มักจะนำมาซึ่งปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งมักจะถูกมองว่าอ่อนแอและไม่สามารถรับมือกับความท้าทายเช่นนี้ได้ จนอาจทำให้เกิดข้อสรุปแก่ผู้ที่นิยมระบอบอำนาจนิยมว่า รัฐบาลพลเรือนอ่อนแอเกินกว่าที่จะรับมือกับปัญหาการสร้างเสถียรภาพของประเทศ

ข้อสรุปเช่นนี้นำไปสู่คำตอบที่ชัดเจนของยุคสงครามเย็นว่ารัฐประหารที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหารจะเป็นกลไกสำคัญของการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศและขณะเดียวกันรัฐบาลทหารจะทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันกับเสถียรภาพนั้น ด้วยการใช้ "อำนาจในการควบคุม" การเคลื่อนไหวภายในสังคม ตลอดรวมถึงการปราบปรามที่เกิดขึ้นด้วยการใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือ

ในทางเศรษฐกิจเสถียรภาพเช่นนี้จะนำมาซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศที่มากขึ้น และในทางความมั่นคง เสถียรภาพเช่นนี้จะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสงครามเย็นแล้ว รัฐประหารกลับกลายเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงการไร้ขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมๆ กับเป็นการบ่งบอกถึงแนวโน้มของความไร้เสถียรภาพที่จะเกิดขึ้นในอีกแบบหนึ่ง

เพราะรัฐประหารในยุคปัจจุบันมักจะตามมาพร้อมกับการต่อต้านของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

และขณะเดียวกันการต่อต้านเช่นนี้ก็มีโอกาสขยายตัวไปสู่เวทีระหว่างประเทศได้ง่าย เพราะในด้านหนึ่ง รัฐมหาอำนาจมีท่าทีที่ชัดเจนแล้วว่า พวกเขาไม่สนับสนุนรัฐบาลทหาร

ดังจะเห็นได้จากปัญหาการ "แซงก์ชั่น" ที่รัฐบาลเมียนมาร์ต้องเผชิญมาแล้ว และในอีกด้านหนึ่งอันเป็นผลจากการขยายตัวของกระแสประชาธิปไตยที่ขับเคลื่อนโดยสื่อใหม่ในรูปแบบต่างๆ

รัฐประหารจึงไม่เพียงจะถูกมองว่าเป็น"อนารยะทางการเมือง" เท่านั้น

หากรัฐบาลทหารยังถูกมองด้วยสายตาที่ "เหยียดหยาม" และไม่ได้รับการยอมรับจากเวทีสากลเป็นอย่างยิ่ง

เพราะถ้าโลกยอมรับการรัฐประหารแล้วการแซงก์ชั่นกับรัฐบาลทหารเมียนมาร์จะไม่เกิดขึ้น มิไยจะต้องกล่าวถึงการแสดงอาการ "รังเกียจทางการทูต" ต่อรัฐบาลดังกล่าว...

รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นในปี 2549 หรือในปี 2557 ล้วนแต่โชคดีเท่านั้นเอง เพราะหลายประเทศจำเป็นจะต้องประคับประคองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในโลกของการแข่งขันปัจจุบันและไม่อาจใช้นโยบาย "โดดเดี่ยว" กับรัฐบาลไทยได้

ทุกประเทศจึงได้แต่มีความหวังว่า การเมืองไทยจะกลับสู่ภาวะปกติบนถนนสายประชาธิปไตยโดยเร็ว และที่สำคัญก็คือ ไม่มีใครต้องการเห็นความขัดแย้งในการเมืองไทยเดินไปสู่ความเป็น "วิกฤตใหญ่"

ขณะเดียวกัน เรื่องราวเหล่านี้ก็บ่งบอกว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่ผู้นำทหารไทยคิด และในความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าระบอบทหารที่กรุงเทพฯ ตกเป็น "ฝ่ายรับ" แทบจะในทุกเรื่อง

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว อนาคตของรัฐบาลทหารน่าจะ "เหนื่อย" มากกว่าที่คิดแน่ๆ

และว่าที่จริง อาการเช่นนี้ก็เริ่มเห็นบ้างแล้วในบางกรณี

ดังนั้น การคิดจะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกจึงเป็น "ความสุ่มเสี่ยง" ไม่ต่างกับการเดินทวนกระแสในลำน้ำลึกและเชี่ยวอย่างน่าเป็นห่วง เพราะโลกปัจจุบันไม่ใช่ "โลกเก่า" แบบที่กองทัพคุ้นเคยและควบคุมได้อีกต่อไป!

ไม่มีความคิดเห็น: