PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

"ซีไอเอสงค์"เตือนทูตสหรัฐคนใหม่อย่าจุ้นจ้านภายในไทย




วันนี้( 24 ก.ย.58) น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หน้าที่ของเอกอัครราชทูตทุกคน ไม่ว่าจะเข้าไปประจำประเทศไหน จะต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศของตนเองและประเทศที่ตัวเองไปประจำการ เพราะมีกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม และมารยาททางการทูตอยู่ว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร นักการทูตไม่ว่าระดับไหนก็ตามเขาจะไม่ก้าวล่วงและแทรกแซงกิจการภายในประเทศที่ตัวเองไปประจำการอยู่ แต่หน้าที่สำคัญคือการแสดงความต้องการในเรื่องของการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุน ยิ่งหากเป็นเอกอัครราชทูตจากชาติมหาอำนาจที่ไปประจำการอยู่ในประเทศที่เป็นมิตรประเทศของตัวเองมายาวนานจะต้องระมัดระวังเรื่องการประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ต่อให้การเมืองภายในประเทศนั้นๆ มีจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างไร เอกอัครราชทูตจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศนั้นๆ ไม่ได้เลย ตรงนี้เป็นมารยาททางการทูตที่สำคัญ
น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า สำหรับนายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ มีประสบการณ์เข้าไปอยู่ในประเทศที่มีความขัดแย้งมาแล้ว เคยเป็นนักการทูตสหรัฐฯผู้เชี่ยวชาญนโยบายเกาหลีเหนือ ทว่าความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี เป็นความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งแตกต่างจากความขัดแย้งในประเทศไทย เพราะความขัดแย้งของไทยเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชนบางส่วนภายในประเทศเท่านั้น จึงหวังว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯคนใหม่จะระมัดระวัง
“เอกอัครทูตคนใหม่คงเห็นวิธีการปฏิบัติตัวของทูตคนเก่าที่หมดวาระไป ที่เข้ามายุ่งเหยิงแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา จนสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยบางส่วน ก็หวังว่าจะไม่ปฏิบัติตัวแบบนั้น จะเป็นนักการทูตที่ดี ไม่วุ่นวายเหมือนกับคนเก่า”น.ต.ประสงค์ กล่าว
อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า และต้องเข้าใจบริบทของสังคมไทย ซึ่งจะว่าไปคล้ายกับของสหรัฐฯ แม้สหรัฐฯ จะเป็นระบบประธานาธิบดี ของไทยจะเป็นระบบพระมหากษัตริย์ แต่โดยเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นความขัดแย้งภายใน ต้องรู้ว่าความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็เหมือนกับสหรัฐฯที่มีประชาชนบางส่วนก็ไม่ได้ชอบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปทั้งหมด ต้องรับรู้สถานการณ์ของประเทศไทยในช่วง 1 – 2 ปีนี้ ต้องรู้ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดระเบียบต่างๆ จึงจะต้องระมัดระวัง ไม่มีการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน ส่วนจะไปทำหน้าที่ศึกษาเรื่องราวๆ ต่างๆ ในบทบาทฐานะทูตที่มีกฎเกณฑ์กำหนดอยู่แล้วเหมือนกันทุกประเทศก็ไม่มีใครว่าอะไร สมัยที่ตนเป็นรมว.ต่างประเทศเคยกำชับทูตทุกคนให้ปฏิบัติตามกติกามารยาททางการทูตอย่างเคร่งครัด.

ไม่มีความคิดเห็น: