PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของไทย


ข่าวสารนิเทศ : การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของไทย วาระปี ค.ศ. 2017-2018 (พ.ศ. 2560-2561)
          เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเรื่องการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council : UNSC) ของไทยตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยการสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศตามกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลกในด้านการปกป้อง รักษาและฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง  โดยจะเป็นการสมัครในที่นั่งของกลุ่มเอเชียสำหรับวาระปี ค.ศ. 2017-2018 (1 มกราคม 2560- 31 ธันวาคม 2561) หรืออีก 8 ปีข้างหน้า  ซึ่งมีตำแหน่งว่าง 1 ที่และยังไม่มีประเทศเอเชียอื่นประกาศลงสมัคร  ทั้งนี้ ไทยเคยเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC มาแล้ว 1 สมัย คือ  วาระปี ค.ศ. 1985-1986

          UNSC มีหน้าที่ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศโดยการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รวมทั้งกำหนดภารกิจของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ มีสมาชิก 15 ประเทศ โดยเป็นสมาชิกถาวร 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส และสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ ซึ่งมีวาระ 2 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และแบ่งสัดส่วนตามภูมิภาค คือ เอเชีย 2 ที่นั่ง แอฟริกา 3 ที่นั่ง ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 2 ที่นั่ง ยุโรป-ตะวันตกและอื่นๆ 2 ที่นั่ง และยุโรปตะวันออก 1 ที่นั่ง ประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม  ประเด็นที่ UNSC ให้ความสำคัญในปัจจุบันคือ ปัญหาความขัดแย้งหรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบหรือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง ภูมิภาคแอฟริกา สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ปัญหาการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและอิหร่าน  การก่อการร้าย รวมทั้งประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่มีผลกระทบหรือเชื่อมโยงต่อความมั่นคงและมนุษยธรรม เช่น สิทธิมนุษยชน สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
   
          ผลประโยชน์ที่ไทยคาดหวังว่าจะได้รับหากได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ที่สำคัญคือ การส่งเสริมและยกระดับภาพลักษณ์ไทยด้านการทูตในเวทีพหุภาคี เป็นโอกาสในการผลักดันวาระที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศหรือปกป้องรักษาผลประโชน์ของไทยในขณะนั้น  รวมทั้งชูบทบาทไทยในเรื่องการส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสร้างสันติภาพที่ถาวร หลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในการทำหน้าที่สมาชิก UNSC ไทยอาจมีบทบาทเป็นตัวกลางเชื่อมโยง (bridge builder) ระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว และประสานความร่วมมือที่สร้างสรรค์ในการพิจารณาส่งเสริมและแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความมั่นคงของมนุษย์แบบครอบคลุมทุกด้าน  สนับสนุนการสร้างสันติภาพที่ถาวรโดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาและการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และเน้นความสำคัญของการทูตเชิงป้องกัน และการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อป้องกันความขัดแย้ง รวมทั้งสะท้อนและเชื่อมโยงบทบาทอาเซียนและสหประชาชาติในฐานะที่อาเซียนจะมีสถานภาพเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น: